ชาวเน็ตจีนแบนเครื่องสำอางญี่ปุ่น โทษน้ำเสียฟุกุชิมะปนเปื้อนสินค้า

ชาวเน็ตจีนแบนเครื่องสำอางญี่ปุ่น โทษน้ำเสียฟุกุชิมะปนเปื้อนสินค้า

ชาวเน็ตจีนแห่แบนเครื่องสำอางพรีเมียมของญี่ปุ่น อ้างการปล่อยน้ำเสียของโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ อาจปนเปื้อนสินค้า จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน (23 มิ.ย. ) ว่า โซเชียลมีเดียจีน เกิดกระแสรณรงค์แบนเครื่องสำอางญี่ปุ่น จากการกล่าวหาที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง อ้างว่า การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จากนั้นชาวเน็ตจีนเริ่มรวบรวมรายชื่อแบรนด์ญี่ปุ่น และตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของลูกค้า ซึ่งแฮชแท็กประเด็นดังกล่าวในแพลตฟอร์มเว่ยป๋อของจีน ที่เหมือนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ มียอดเข้าชมราว 300 ล้านวิว

หุ้นแบรนด์เครื่องสำอางรายใหญ่อย่างชิเซโด้ ร่วง 6.8% ในรอบ 10 เดือน ส่วนหุ้นแบรนด์อื่น ๆ ทั้งโพลา ออร์บิส โฮลดิงส์ อิงก์ และโคเซ่ คอร์ป ดิ่ง 3%

"วากาโกะ ซาโต" นักวิเคราะห์จาก Mitsubishi UFJ Morgan Stanley Securities Co. เผยว่า การคว่ำบาตรแบรนด์เครื่องสำอางญี่ปุ่น อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกค้าจีนลาขาดจากเครื่องสำอางญี่ปุ่นระดับพรีเมียม

ชาวเน็ตจีนบางคนยังผลักดันให้มีการแบนสินค้าอื่น ๆ ของญี่ปุ่นด้วย โดยล่าสุดเพิ่มรายชื่อผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและแบรนด์อาหารต่าง ๆ รวมไปถึงแบรนด์จีนที่ใช้ส่วนผสมสินค้าจากญี่ปุ่น

น้ำเสียฟุกุชิมะ ต้นเหตุความกังวล

การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานฟุกุชิมะ ที่พังทลายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 มักสร้างความกังวลให้กับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีน ออกมาประณามแผนการปล่อยน้ำเสียหลายครั้ง แม้น้ำเสียผ่านการบำบัดแล้ว

ขณะที่ญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเพลิงและเศษซากต่าง ๆ จากภัยพิบัติมีความปลอดภัย เนื่องจากผ่านการบำบัดน้ำเสีย เพื่อขจัดกัมมันตภาพรังสีให้เจือจางก่อนปล่อยลงสู่ทะเล

บริษัทชิเซโด้และพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ เอสเคทู (SK-II) รีบออกมารายงานในจีนอย่างรวดเร็ว เพื่อรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

ตัวแทนบริษัทพีแอนด์จี ตอบกลับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ไม่พบความเสี่ยงดังกล่าวในโรงงานผลิตเอสเคทู และเอ่ยถึงความกังวลในโลกออนไล์ว่า เป็นข้อมูลที่ผิด

ทั้งนี้ เอสเคทู เสียลำดับแบรนด์ท็อป 5 ให้กับแบรนด์ท้องถิ่นในช่วงงานเซลล์ครั้งใหญที่จัดในจีนทุกปี

ชาวเน็ตจีนแบนเครื่องสำอางญี่ปุ่น โทษน้ำเสียฟุกุชิมะปนเปื้อนสินค้า โรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

แบรนด์ญี่ปุ่นยังแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อมั่นว่าเดี๋ยวเทรนด์นี้ก็ผ่านไป

“มิตสุโกะ มิยาซาโกะ” นักวิเคราะห์จากเจฟเฟอรีส์ แสดงความเห็นเมื่อวันศุกร์ (23 มิ.ย.) ว่า เทรนด์แบนเครื่องสำอางญี่ปุ่นมีผลกระทบต่อธุรกิจเพียงเล็กน้อย

“จีนนี เฉิน” นักวิเคราะห์หุ้นระดับอาวุโส จากมอร์นิงสตาร์ รีเสิร์ช อิงก์ บอกว่า เธอไม่คิดว่าเทรนด์การแบนสินค้าจะกระทบต่อแบรนด์ญี่ปุ่นมากนัก

บางคนที่ต่อต้านญี่ปุ่นอาจแค่พยายามใช้โอกาสนี้ โน้มน้าวคนอื่นให้ร่วมคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น แต่ฉันคิดว่าลูกค้าจีนมีวิจารณญาณกันมากขึ้น” เฉิน กล่าว