เปิดปมตึงเครียดเศรษฐกิจ ‘สหรัฐ-จีน’ รับเยลเลน เหยียบปักกิ่ง
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐเดินทางถึงจีนแล้วในวันนี้ เพื่อกระชับสัมพันธ์สองเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก คาดว่าระหว่างการเยือนถึง วันที่ 9 ก.ค.เธอจะได้พบ รมว.คลังจีนและตัวแทนบริษัทสหรัฐ
สหรัฐและจีนมีความขัดแย้งกันหลายเรื่องในระยะหลัง การเยือนของเยลเลนเป็นหนึ่งสัญญาณความพยายามติดต่อสื่อสารกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศตึงเครียด
ตัดขาดและลดความเสี่ยง
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งขัดใจกันในประเด็นร้อนทางภูมิรัฐศาสตร์หลายเรื่อง โหมกระพือความเชื่อของผู้กำหนดนโยบายจำนวนหนึ่งว่า สหรัฐควรตัดขาดทางเศรษฐกิจกับจีน
เจ้าหน้าที่หลายคนในรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ย้ำคำว่า “ลดความเสี่ยง” ซึ่งเบากว่า หรือการปกป้องบางภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ
รัฐบาลไบเดนกำลังพิจารณาโครงการเพื่อจำกัดการลงทุนบางอย่างของสหรัฐในต่างแดน เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอ่อนไหวสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งประเด็นนี้สร้างความเดือดดาลให้ทางการจีน
“ความพยายามต้อนจีนให้จนมุม เพื่อหยุดยั้งไม่ให้จีนผงาดขึ้นของสหรัฐได้รับการตอบรับอย่างมาก การลดความเสี่ยงแท้จริงแล้วก็คือการตัดขาด” ลินด์เซย์ กอร์แมน นักวิจัยอาวุโสกองทุนเจอร์แมน มาร์แชล กล่าวกับเอเอฟพี
ชิป
เซมิคอนดักเตอร์เป็นแนวรบสำคัญ เมื่อจีนพยายามปกป้องอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในประเทศ จากการที่สหรัฐออกข้อจำกัดมากมายควบคุมการส่งออก
ในเดือน มี.ค. ปักกิ่งเปิดสอบ “ไมครอน” บริษัทผลิตชิปสหรัฐ ห้าเดือนหลังจากวอชิงตันออกมาตรการควบคุมแบบเหวี่ยงแห หวังตัดกำลังไม่ให้จีนเข้าถึงชิปไฮเอนด์, อุปกรณ์ผลิตชิป และซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์
วอชิงตันขึ้นบัญชีดำบริษัทจีนหลายแห่งเพื่อกีดกันไม่ให้เข้าถึงชิปก้าวหน้าส่วนใหญ่ พร้อมๆ กับผลักดันพันธมิตรให้ทำแบบเดียวกัน เมื่อวันจันทร์ (3 ก.ค.) ว่าจะควบคุมการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมนียม โลหะหายากสองชนิดที่จำเป็นในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยอ้างว่ากังวลเรื่องความมั่นคง
หนี้
หนี้เป็นอีกหนึ่งวาระของเยลเลน ทั้งหนี้สหรัฐสูงลิ่วที่มีกับจีนและการที่จีนปล่อยกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนาจนต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้หนี้
แบรด เซตเซอร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า คำถามสำคัญคือจีนใกล้บรรลุข้อตกลงเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้อย่างเป็นทางการกับศรีลังกาหรือกานาหรือยัง
การเยือนของเยลเลนเปิดโอกาสให้วอชิงตันประสานความพยายามกับปักกิ่ง เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาหนี้ท่วมไม่ต้องเกิดวิกฤติการเงิน
ยักษ์เทคโนโลยี
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนกำลังเผชิญการตรวจสอบจากโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลายประเทศห่วงภัยคุกคามด้านความมั่นคงแห่งชาติเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน
สหรัฐเคยเตือนว่า การใช้อุปกรณ์ผลิตโดยหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของจีนอาจทำให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจารกรรมของรัฐ ข้อกล่าวหาที่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธมาโดยตลอด
ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่โด่งดังมากๆ อย่าง “ติ๊กต็อก” ของไบต์แดนซ์ที่มีฐานปฏิบัติการในกรุงปักกิ่ง ก็ทำให้วอชิงตันไม่ไว้ใจเช่นกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐห่วงเรื่องความมั่นคงของข้อมูลผู้ใช้ และแอพพลิเคชันนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
การค้า
คาดว่าจะมีการหารือเรื่องภาษีที่เก็บระหว่างสงครามการค้าโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ด้วย
กอร์แมนกล่าวกับเอเอฟพี เธอไม่คิดว่าสหรัฐจะอยากยกเลิกภาษี “และแน่นอนว่าไม่ใช่เพียงฝ่ายเดียว”
“ฉันไม่คิดว่าเราจะได้ยินแถลงการณ์ที่บ่งบอกว่าเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ”
บรรยากาศธุรกิจ
บรรยากาศการทำธุรกิจสำหรับบริษัทสหรัฐในจีนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทายมากขึ้นทุกวัน จากการที่จีนบุกและสอบสวนบริษัทต่างชาติหลายครั้ง กฎหมายต่อต้านการจารกรรมฉบับแก้ไขล่าสุดของจีน นิยามคำว่าการสอดแนมไว้กว้างมาก พร้อมๆ กับห้ามถ่ายโอนข้อมูลเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ สิ่งเหล่านี้ “สร้างความกังวลให้กับบริษัทต่างชาติอย่างมาก” เอ็ดเวิร์ด อัลเดน นักวิจัยอาวุโสจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุ
“ถ้ากลับมาคุยกัน นักลงทุนต่างชาติก็แค่มั่นใจขึ้นมาอีกนิดว่าการลงทุนในจีนเป็นข้อเสนอระยะยาว” แต่ในทางกลับกันถ้าทุกสัญญาณบ่งชี้ว่า การตัดขาดระยะแรกเกิดขึ้นแล้ว “สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติควรทำก็คือมองหาทางออกและวิธีที่จะออกไปให้ได้”