'500 วัน'สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความสูญเสียที่หาทางจบไม่ได้
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปี2565 และนับจนถึงวันเสาร์ (8 ก.ค.) การสู้รบดำเนินมาครบ 500 วันแล้ว ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สงครามนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ แถมยังไม่มีสัญญาณว่าจะจบลงเมื่อใดและจบลงอย่างไร
Key Point
- กระทรวงกลาโหมยูเครนประมาณการณ์ว่า ฝ่ายรัสเซียสูญเสียกำลังพลในสงครามครั้งนี้ไปแล้ว 231,700 นาย
- กระทรวงกลาโหมสหรัฐประเมินว่า กองทัพยูเครนสูญเสียทหารไปราว 17,500 นาย และมีทหารได้รับบาดเจ็บ 113,500 นาย
- OHCHR ระบุว่า มีพลเรือนในยูเครนเสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ 9,083 คน และบาดเจ็บ 15,779 คน แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก
- UNHCR ระบุว่า มีประชาชนราว 6.3 ล้านคน ถูกบีบให้หนีออกจากยูเครนนับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียเริ่มขึ้นเมื่อเดือนก.พ.ปี 2565
- ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวยูเครนอพยพลี้ภัยสงครามไปมากที่สุด คือรัสเซีย , เยอรมนี,โปแลนด์ ,สาธารณรัฐเช็ก และสหราชอาณาจักร
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ยกย่องชาวยูเครน ในวาระครบรอบ 500 วัน ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย พร้อมทั้งเผยแพร่วิดีโอบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพที่เขาเดินทางไปเยือนเกาะงู ในทะเลดำ สัญลักษณ์การต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคลิปดังกล่าวบันทึกไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่
รัสเซีย อ้างเหตุผลในการรุกราน ยูเครน ซึ่งรัสเซียเลี่ยงไปใช้คำว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในการนำกองทัพรุกเข้าสู่ดินแดนยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนก.พ.ปี 2565 ว่าเพื่อปกป้องรัสเซียจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เนื่องจากยูเครนประกาศชัดเจนว่าต้องการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต ซึ่งขยายใกล้พรมแดนรัสเซียเข้ามาเรื่อยๆ และรัสเซียมองว่าเป็นการข่มขู่คุกคามโดยตรง
นอกจากนี้ ยังอ้างว่าต้องการขจัดลัทธินาซีในยูเครน และปลดปล่อยบางภูมิภาคของยูเครนให้เป็นอิสระโดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีประชาชนเชื้อสายรัสเซียจำนวนมาก
กองกำลังสองฝ่ายสูญเสียและล้มตายจำนวนมาก
ความสูญเสียของกองกำลังและจำนวนทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ซึ่งดำเนินมา 500 วันแล้ว เป็นการประเมินจากหลายแหล่งด้วยกัน และยากที่จะพิสูจน์ว่าตัวเลขที่เปิดเผยจากทางการของทั้งสองฝ่ายจะเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะทั้งรัสเซียและยูเครน ต่างมีแนวโน้มที่จะไม่เปิดเผยความสูญเสียที่แท้จริงเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การรบ
แต่ข้อมูลที่อ้างอิงจากกระทรวงกลาโหมยูเครน เมื่อวันที่ 5 ก.ค. มีตัวเลขประมาณการณ์ว่า ฝ่ายรัสเซียได้สูญเสียกำลังพลในสงครามครั้งนี้ไปแล้ว 231,700 นาย
ขณะที่ตัวเลขของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ประเมินว่า ในปีแรกของสงคราม ฝ่ายกองทัพรัสเซียและกองกำลังอิสระในสังกัด เช่น กองกำลังนักรบรับจ้างแวกเนอร์ มีผู้เสียชีวิตมากถึง 200,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการณ์ของกลาโหมยูเครน
อย่างไรก็ตาม การประเมินโดยสำนักงานข่าวกรองกลาโหมสหรัฐเมื่อเร็วๆนี้ ที่มีการเปิดเผยออกมาอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนเม.ย.บ่งชี้ว่า มีทหารรัสเซียเสียชีวิตไปราว ๆ 35,500-43,000 นาย ส่วนจำนวนที่บาดเจ็บมีราว ๆ 154,000-180,000 นาย นอกจากนี้ ยังประมาณการณ์ว่า ฝ่ายทหารยูเครนเสียชีวิตราว 17,500 นาย และได้รับบาดเจ็บ 113,500 นาย
ทั้งนี้ ตัวเลขจากหน่วยงานภายนอกส่วนใหญ่จะสูงกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่เผยแพร่โดยทางการยูเครนและรัสเซีย ทำให้ไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดว่า ความสูญเสียทางทหารของทั้งสองฝ่ายในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมากน้อยเพียงใด
ความสูญเสียฝ่ายพลเรือนมหาศาลไม่แพ้กัน
สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ระบุว่า มีพลเรือนในยูเครนที่เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ 9,083 คน และบาดเจ็บ 15,779 คน แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก
OHCHR ระบุว่า ตัวเลขความสูญเสียในพื้นที่ที่ควบคุมโดยรัฐบาลยูเครนที่สามารถบันทึกไว้ได้ คือมีพลเรือนที่เสียชีวิต 7,072 ราย และบาดเจ็บ 13,001 ราย ส่วนในดินแดนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย OHCHR ได้บันทึกตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้อย่างน้อย 2,011 ราย และบาดเจ็บ 2,778 ราย
นอกจากนี้ สงครามทำให้คนไร้บ้าน ชาวยูเครนนับล้านกลายเป็นผู้อพยพ โดยสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่า สงครามครั้งนี้นำไปสู่ “วิกฤตผู้ลี้ภัย” ที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
รายงานของ UNHCR ระบุว่า มีประชาชนราว 6.3 ล้านคน ถูกบีบให้หนีออกจากยูเครนนับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนก.พ.2565 โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ หรือราว ๆ 5,967,100 คนได้อพยพไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ขณะที่ประมาณ 6 ล้านคนกลายเป็น “ผู้พลัดถิ่น” อยู่ในยูเครนเอง
ทั้งนี้ ผู้อพยพลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากผู้ชายชาวยูเครนอายุระหว่าง 18-60 ปีได้รับคำสั่งให้อยู่ภายในประเทศและเป็นกำลังสำรองเพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย
ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวยูเครนอพยพลี้ภัยสงครามไปมากที่สุด ได้แก่ รัสเซีย มีผู้อพยพชาวยูเครนราว 1,275,315 คน, เยอรมนี 1,076,680 คน,โปแลนด์ 999,690 คน, สาธารณรัฐเช็ก 350,455 คน,และสหราชอาณาจักร 206,700 คน
เม็ดเงินที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูประเทศ
คาดว่า ในการฟื้นฟูยูเครน ต้องใช้เงินมากกว่า 4.11 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากตลอด 500 วันภายใต้ไฟสงคราม หลายเมือง หลายหมู่บ้าน ถูกระดมโจมตีอย่างต่อเนื่องทั้งจากอาวุธปืน รถถัง ระเบิด และขีปนาวุธ ทำให้ทั่วทั้งยูเครนขณะนี้เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่ถล่มทลาย เสียหาย และมีแต่ร่องรอยความสูญเสียเหมือนแผลเป็นทั่วไปหมด
ขีปนาวุธและการทิ้งระเบิดโดยฝ่ายรัสเซียทำลายอาคารบ้านเรือนและสถาปัตยกรรมของยูเครนหลายแสนหลัง ตั้งแต่บ้าน โรงพยาบาล ไปจนถึงโรงไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ
คาดว่าความเสียหายในภาคธุรกิจต่าง ๆ ของยูเครน จะอยู่ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย หรือประมาณ 3.97 แสนล้านบาท
ข้อมูลของเคียฟ สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ในกรุงเคียฟ ประเมินว่า เฉพาะค่าใช้จ่ายในการซ่อมหรือสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย เชื่อว่าจะสูงถึง 1.43 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5 ล้านล้านบาท
รายงานของธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อเดือนมี.ค. ระบุว่า ยูเครนจะต้องใช้เงินรวม 4.11 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 14.4 ล้านล้านบาทภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์สร้างเมืองขึ้นใหม่ คิดเป็น 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงก่อนสงคราม
ส่วนความเสียหายในภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของยูเครน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 8,700 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3 แสนล้านบาท ขณะที่ความเสียหายในภาคธุรกิจต่าง ๆ ของยูเครน ประเมินว่า อยู่ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นอย่างน้อย หรือกว่า 3.97 แสนล้านบาท ซึ่งหากสงครามยืดเยื้อออกไปอีก ตัวเลขดังกล่าวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ