โลกยินดี! สหรัฐทำลายอาวุธเคมีคลังแสงสุดท้าย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศ สหรัฐทำลายคลังแสงอาวุธเคมีที่สั่งสมมาหลายสิบปีหมดสิ้นแล้ว ถือเป็นหมุดหมายสำคัญว่าได้กำจัดอาวุธเคมีทั่วโลกตามที่สำแดงไว้หมดแล้ว
Key points:
- สหรัฐทำลายอาวุธเคมีคลังแสงสุดท้ายเกือบ 500 ตันเสร็จสิ้นแล้ว
- คลังแสงอาวุธเคมีทั่วโลกตามที่สำแดงไว้ถูกทำลายลงอย่างถาวร
- ไบเดนวอน 4 ชาติปฏิบัติตาม ได้แก่ อียิปต์ อิสราเอล เกาหลีเหนือ และซูดานใต้
- 4 ชาติต้องสงสัยมีคลังแสง ไม่สำแดง ได้แก่ เมียนมา อิหร่าน รัสเซีย และซีเรีย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น
“วันนี้ ผมภาคภูมิใจที่จะประกาศว่า สหรัฐทำลายอาวุธชุดสุดท้ายในคลังแสงได้อย่างปลอดภัย ทำให้เราเข้าใกล้โลกที่ปราศจากความกลัวอาวุธเคมีได้อีกระดับหนึ่ง” ไบเดนกล่าวและว่า นี่เป็นครั้งแรกที่"อาวุธทำลายล้างสูงที่ได้ประกาศไว้" ได้รับการยืนยันว่าถูกทำลายลงทั้งหมด"
สหรัฐเป็นประเทศผู้ลงนามอนุสัญญาอาวุธเคมีรายสุดท้าย ที่เสร็จสิ้นภารกิจทำลายล้างคลังแสง “ตามที่สำแดง” อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้ในปี 1997 แต่คาดว่ามีบางประเทศยังคงเก็บอาวุธเคมีไว้อย่างลับๆ
องค์การห้ามการแพร่ขยายอาวุธเคมี (OPCW) เรียกการกระทำของสหรัฐว่า เป็น “ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์” ของการปลดอาวุธ หลังจากอาวุธเคมีถูกใช้แบบไม่มีการควบคุมมานานกว่าร้อยปี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อาวุธชนิดนี้คร่าชีวิตประชาชนและทำให้ทหารพิกลพิการไปมากมายมหาศาล
OPCW กล่าวว่า คำประกาศของสหรัฐหมายความว่า คลังแสงอาวุธเคมีของโลกเท่าที่สำแดงไว้ “ได้รับการยืนยันว่าถูกทำลายลงอย่างถาวร”
“ผมยินดีกับรัฐภาคีทุกรัฐและสหรัฐอเมริกาในกรณีนี้ สำหรับความสำเร็จใหญ่หลวงของประชาคมโลก” นายเฟอร์นันโด แอเรียส เลขาธิการ OPCW กล่าว
ประวัติการใช้อาวุธเคมี
สหรัฐใช้เวลาสี่ปีทำลายอาวุธเคมีชุดสุดท้ายที่ถือครองอยู่ราว 500 ตัน ณคลังแสงบลูกราสของกองทัพบกในรัฐเคนทักกี หลังจากครอบครองกระสุนปืนใหญ่และจรวดบรรจุก๊าซมัสตาร์ด, วีเอ็กซ์,สารทำลายประสาทซารินและสารเคมีทำให้เกิดแผลพุพองมานานหลายสิบปี
อาวุธแบบนี้เคยถูกนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลน่าสะพึงกลัวจนถูกประณามอย่างกว้างขวาง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีการใช้มากนัก แต่หลายประเทศยังคงมีและพัฒนาต่อมาอีกหลายปี
กรณีที่โดดเด่นที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 คืออิรักใช้ก๊าซทำลายประสาทโจมตีอิหร่านระหว่างทำสงครามกันในทศวรรษ 1980
ที่ใกล้กว่านั้นคือรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ใช้อาวุธเคมีทำลายฝ่ายตรงข้ามในสงครามกลางเมือง
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงมหาอำนาจและประเทศอื่นๆ ร่วมกันเจรจาอนุสัญญาอาวุธเคมีเห็นชอบในปี 1993 มีผลบังคับใช้ปี 1997 ให้เวลาสหรัฐถึงวันที่ 30 ก.ย.ปีนี้ทำลายสารเคมีและอาวุธเคมีให้หมด หลังจากภาคีอื่นๆ กำจัดอาวุธที่ตนถือครองไปหมดแล้ว รวมราว 72,000 ตัน นับตั้งแต่อนุสัญญามีผลบังคับใช้
ข้อมูลจากสมาคมควบคุมอาวุธสหรัฐ ในปี 1990 สหรัฐมีอาวุธเคมีเกือบ 28,600 ตัน มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากรัสเซียซึ่งการกำจัดคลังแสงนั้นอันตรายมากกว่าถึงสองเท่า เพราะหมายถึงต้องลบล้างทั้งฤทธิ์ของสารเคมีและอาวุธที่บรรจุสารเคมีเหล่านั้น กระบวนการจึงช้า
รัสเซียทำลายคลังแสงที่แจ้งไว้หมดในปี 2017สำหรับสหรัฐภายในเดือน เม.ย.2022 มีเหลือให้ทำลายไม่ถึง 600 ตัน
เมื่อสหรัฐทำลายอาวุธเคมีหมดแล้วไบเดนเรียกร้องให้ต้องเฝ้าระวังต่อไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาวุธเคมีทั่วโลกถูกทำลายหมดสิ้น และสี่ประเทศที่ไม่ได้ลงนามหรือให้สัตยาบันอนุสัญญา ได้แก่ อียิปต์ อิสราเอล เกาหลีเหนือ และซูดานใต้ จะทำเช่นเดียวกัน
ส่วนสี่ประเทศที่ลงนามเป็นภาคีแต่ถูกมองว่าไม่ปฏิบัติตามเพราะต้องสงสัยว่ามีคลังแสงโดยไม่ได้สำแดงได้แก่ เมียนมา อิหร่าน รัสเซีย และซีเรีย
“รัสเซียและซีเรียควรกลับมาปฏิบัติตามอนุสัญญาอาวุธเคมี และยอมรับว่ามีโครงการที่ไม่ได้สำแดงใช้ในการโจมตีและทารุณกรรม” ไบเดนกล่าวทิ้งท้าย