กูรูชี้จีนคุมส่งออกโลหะผลิตชิปเป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกพึ่งประเทศอื่น
สจ๊วต แรนดัลล์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Intralink เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะกัลเลียม (Gallium) และเจอร์มาเนียม (Germanium) อาจจะกระตุ้นให้หลายประเทศตัดสินใจกระจายความเสี่ยงด้วยการหันไปพึ่งพาโลหะดังกล่าวจากประเทศอื่น ๆ
สจ๊วต แรนดัลล์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Intralink ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในจีนเปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า การที่รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะกัลเลียม (Gallium) และเจอร์มาเนียม (Germanium) อาจจะกระตุ้นให้หลายประเทศตัดสินใจกระจายความเสี่ยงด้วยการหันไปพึ่งพาโลหะดังกล่าวจากประเทศอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากจีน โดยกัลเลียมและเจอร์มาเนียมเป็นโลหะที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, สื่อสารโทรคมนาคม และรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศมาตรการที่จะควบคุมการส่งออกโลหะกัลเลียมและเจอร์มาเนียม รวมทั้งสารประกอบทางเคมีของโลหะทั้ง 2 ชนิดตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ พร้อมระบุว่า ผู้ส่งออกโลหะทั้ง 2 ชนิดจะต้องยื่นขอใบอนุญาตจากทางกระทรวงพาณิชย์ หากต้องการที่จะเริ่มส่งออกหรือส่งออกอย่างต่อเนื่องไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกโลหะทั้ง 2 ชนิดจะต้องยื่นรายงานเพื่อเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ซื้อในต่างประเทศและการยื่นขอใบอนุญาตส่งออก
แรนดัลล์กล่าวว่า "มาตรการดังกล่าวจะเป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้หลายประเทศค่อย ๆ หันไปสร้างฐานการผลิตในประเทศอื่น ๆ แต่หากจีนไม่เคลื่อนไหวใด ๆ ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกก็จะยังคงพึ่งพาจีนต่อไป"
ข้อมูลจาก Critical Raw Materials Alliance ระบุว่า จีนผลิตโลหะเจอร์มาเนียมในอัตราส่วน 60% ของการผลิตทั่วโลก และผลิตโลหะกัลเลียมในอัตราส่วน 80% ของการผลิตทั่วโลก
ทั้งนี้ การที่จีนประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะกัลเลียมและเจอร์มาเนียมได้สร้างความกังวลให้กับทั้งยุโรปและสหรัฐ โดยสหรัฐประกาศว่าจะออกมาตรการควบคุมไม่ให้บริษัทของจีนสามารถเข้าถึงบริการคลาวด์คอมพิวติง (cloud-computing) ของสหรัฐ เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการดังกล่าวของจีน
ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้จีนผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว และให้ดำเนินการสอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)