เศรษฐกิจจีนซบเซามาก 'อาจไปไม่ถึงดวงดาว'

เศรษฐกิจจีนซบเซามาก 'อาจไปไม่ถึงดวงดาว'

จีนกำลังเข้าสู่ยุคที่การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงอย่างมาก สร้างแนวโน้มอันน่ากลัวว่า จีนอาจไม่มีวันร่ำรวย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ไม่ว่าจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเติบโตปีละ 3-4% หรือมากกว่านั้น นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า จะเกิด “หลายทศวรรษที่สูญหายจากเศรษฐกิจชะงักงัน” เหมือนที่เคยเกิดกับญี่ปุ่น ซึ่งจะสร้างความผิดหวังให้กับผู้นำจีน คนหนุ่มสาว และส่วนที่เหลือของโลก

ผู้กำหนดนโยบายหวังลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างจีนกับสหรัฐ คนหนุ่มสาวเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อการงานทันสมัย ชาติแอฟริกาและละตินอเมริกาต้องพึ่งพาจีนมาซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ของตน

“ไม่น่าเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐได้ภายในหนึ่งหรือสองทศวรรษข้างหน้า” เดสมอนด์ ลัคแมน นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิสาหกิจอเมริกันให้ความเห็นกับรอยเตอร์ เขาคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวโต 3% ซึ่ง “จะรู้สึกเหมือนเศรษฐกิจถดถอย” เมื่อการว่างงานของคนหนุ่มสาวเกิน 20% ไปเรียบร้อยแล้ว “นี่ไม่ดีกับส่วนที่เหลือของเศรษฐกิจโลก” นักวิชาการรายนี้สำทับ

ตอนที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะชะงักงันในทศวรรษ 1990 จีดีพีเฉลี่ยต่อหัวของญี่ปุ่นเกินความเป็นประเทศรายได้สูงไปแล้วและเกือบเท่ากับสหรัฐ ขณะที่จีนแค่เลยจุดประเทศรายได้ปานกลางมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เศรษฐกิจไตรมาสสองโตต่ำคาด 6.3% ทั้งๆ ที่ฐานปีก่อนต่ำมากเพราะถูกล็อกดาวน์โควิด ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ผู้นำจีนที่คาดว่าจะประชุมกันในเดือนนี้ เพื่อหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและการแก้ปัญหาในระยะยาว ข้อมูลเศรษฐกิจเดือน เม.ย.-มิ.ย. ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีโตตามแผนราว 5% และจะโตต่ำลงหลังจากนั้น แต่อย่าลืมว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนโตเฉลี่ยปีละราว 7% และกว่า 10% ในทศวรรษ 2000

ผลจากการสูญเสียแรงส่งดังกล่าว นักเศรษฐศาสตร์เลิกกล่าวโทษการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอ รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด แต่หันมากล่าวโทษความผิดปกติเชิงโครงสร้างแทน อันประกอบด้วยฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตก คิดเป็นหนึ่งในสี่ของผลผลิต, การลงทุนและการบริโภคไม่สมดุลมากที่สุดครั้งหนึ่ง, หนี้รัฐบาลท้องถิ่นพอกพูนเป็นภูเขา,การควบคุมสังคมและธุรกิจเอกชนอย่างแน่นหนาของพรรคคอมมิวนิสต์, ฐานผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคหดตัว และกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้น

หวัง จุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทหัวไท่แอสเสทแมเนจเมนท์ ระบุ “ปัญหาประชากร, ภาคอสังหาฯ ดิ่งลงแรง, รัฐบาลท้องถิ่นเป็นหนี้หนักมาก, การกดภาคธุรกิจ และความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ ไม่เปิดช่องให้เรามองการเติบโตระยะกลางและระยะยาวในทางดีได้เลย”

รอยเตอร์สอบถามไปยังคณะกรรมาธิการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ (เอ็นดีอาร์ซี) ถึงแนวโน้มการเติบโต, ความอ่อนแอเชิงโครงสร้าง และแผนการปฏิรูป ไม่ได้รับคำตอบ

ทางออกจากเศรษฐกิจซบเซา

เจิ้ง ฉานจี้ ผอ.เอ็นดีอาร์ซี เขียนบทความลงนิตยสาร“Qiushi” ของทางการ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. อ้างถึงกับดักรายได้ปานกลางที่ไม่ค่อยมีการอ้างถึงกันนัก บอกว่า จีนจำเป็นต้อง “เร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมทันสมัย” เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักดังกล่าว

เจิ้งอ้างถึง การดิ้นรนพัฒนาชาติจีนเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระดับรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง

นักเศรษฐศาสตร์บางคนอ้างว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นหลักฐานของความก้าวหน้า แต่หลายส่วนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้พัฒนาเร็วเหมือนเดิม ยอดขายรถยนต์ในต่างประเทศคิดเป็นเพียง 1.7% ของการส่งออกเท่านั้น

“นักสังเกตการณ์หลายคนดูบริษัทไม่กี่แห่ง แล้วบอกว่า ว้าว!จีนผลิตสินค้าน่าอัศจรรย์พวกนี้ เพราะฉะนั้นอนาคตต้องสดใส คำถามของผมคือ เรามีบริษัทแบบนั้นมากพอหรือยัง” ริชาร์ด คู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนมูระตั้งคำถาม

ส่วนผู้กำหนดนโยบายที่กล่าวว่า อยากให้การบริโภคภาคครัวเรือนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ไม่ได้บอกให้ทราบถึงขั้นตอนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ฮวน ออร์ตส นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากบริษัทฟาธอม คอนซัลติง มองว่า การสนับสนุนความต้องการของผู้บริโภคอาจดึงทรัพยากรออกจากการสนับสนุนผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม นี่คือเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมจีนถึงลังเลกับการปฏิรูป

“เราไม่คิดว่าทางการจะมุ่งมั่นกับเส้นทางนี้” ออร์ตสให้ความเห็น โดยเรียกว่านี่คือ “ทางออก” ของภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่จีนกลับเดินสู่เส้นทางอื่น

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เลือกแนวทาง“ความมั่งคั่งร่วมกัน”ใช้ต่อสู้ความเหลื่อมล้ำ เรียกร้องให้ภาคการเงินและอื่นๆ ลดเงินเดือนลงแต่งบประมาณของเมืองที่ลดน้อยถอยลงกระตุ้นให้ต้องลดเงินเดือนข้าราชการ ยิ่งส่งเสริมวงจรเงินฝืด

จ้าว ผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง รู้สึกว่าเธอจะไม่มีวันรวย แม้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาหลายครั้งเงินเดือนของเธอยังเท่าเดิม แต่งานกลับหนักขึ้น เธอวางแผนเกษียณในวัย 40 แล้วย้ายไปอยู่ในเมืองเล็กค่าครองชีพต่ำ

“ฉันคิดถึงยุคทองของภาคธนาคาร” จ้าวรำพึง

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเรียกร้องให้มีระบบสาธารณสุขดีขึ้น, เพิ่มเงินบำนาญและประโยชน์ทดแทนการว่างงาน, สร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีเงินออมน้อยมั่นใจได้มากขึ้น

ไช่ ฟาง ที่ปรึกษาธนาคารประชาชนจีนเรียกร้องในเดือนนี้ให้กระตุ้นการบริโภค รวมถึงเปลี่ยนแปลงการอนุญาตพำนัก (หูโข่ว) ซึ่งไม่อนุญาตให้แรงงานต่างถิ่นหลายล้านคนใช้บริการสาธารณะในเมืองที่ทำงานได้

จู หนิง รองคณบดีสถาบันการเงินก้าวหน้าเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า การปรับปรุงสวัสดิการสังคมอาจช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต 3-4% แบบยั่งยืนกว่าเดิม

คูจากโนมูระกล่าวเสริมว่า ปัญหาของจีนท้าทายมากกว่าญี่ปุ่นเมื่อรุ่นก่อน

ตามการประเมินของเขา จีนเกิดภาวะ “งบดุลถดถอย” ผู้บริโภคและภาคธุรกิจต้องเอาเงินไปใช้หนี้แทนการกู้ยืมและลงทุน ด้วยเหตุนี้ความหดหู่จึงเริ่มต้น หนทางเยียวยาเดียวคือมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่ “รวดเร็วมากพอ และยั่งยืน” ซึ่งเขายังมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ เพราะจีนกังวลเรื่องหนี้

นอกจากนั้นการกระตุ้นต้องมีประสิทธิผล มีการเปลี่ยนแปลงอื่นมาช่วยหนุนเสริม เช่น เปิดให้ภาคเอกชนออกจากเงาของรัฐ, ปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศต้นตอการลงทุนจากต่างชาติ

แต่จีนจำเป็นต้องย้อนศร การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาสร้างหนี้มากกว่าการเติบโต

ขณะที่เขตเศรษฐกิจใหญ่พยายามลดการพึ่งพาจีน รัฐบาลปักกิ่งยังคงติดอยู่กับการตอบโต้ทางการค้า ล่าสุดคือควบคุมส่งออกโลหะที่ใช้ในเซมิคอนดักเตอร์

“ทุกครั้งที่สหรัฐประกาศนโยบายต้านจีนบางอย่างออกมา รัฐบาลจีนก็ตอบโต้แบบเดียวกัน แต่ชาวอเมริกันไม่ได้ติดกับดักรายได้ปานกลางเหมือนจีน ถ้าชาวจีนไม่บรรลุความฝัน บางทีคุณอาจะมีประชากร 1.4 พันล้านคนที่ไม่มีความสุข ซึ่งอาจบั่นทอนเสถียรภาพ” คูสรุป