พบ ‘ภูเขาไฟโบราณ’ ปะทุใต้ทะเล มีไข่ยักษ์เกาะปกคลุมนับล้านฟอง

พบ ‘ภูเขาไฟโบราณ’ ปะทุใต้ทะเล มีไข่ยักษ์เกาะปกคลุมนับล้านฟอง

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ “ภูเขาไฟใต้น้ำ” สูงกว่า 1.5 กิโลเมตร จากพื้นดินใต้ท้องทะเล บริเวณนอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของแคนาดา กำลังพ่นน้ำอุ่นๆ กระจายไปทั่ว ท่ามกลางไข่ปลากระเบนยักษ์ปกคลุมหนาครึ่งเมตร

เว็บไซต์ livescience รายงานว่า นักวิจัยได้สำรวจพบภูเขาไฟโบราณใต้ท้องทะเล นอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของแคนาดา ซึ่งยังคงปะทุอยู่ และปกคลุมไปด้วยไข่ปลาขนาดยักษ์นับล้านฟองด้วย 

ก่อนทีมสำรวจจะออกเดินทาง นักวิจัยคิดว่าภูเขาไฟลูกนี้จะคงดับไปแล้ว และอุณหภูมิใต้น้ำบริเวณรอบๆ มันจะเย็นลง แต่เมื่อเดินทางไปถึง พวกเขากลับได้พบภูเขาไฟใต้น้ำสูงกว่า 1.5 กิโลเมตร จากพื้นดินใต้ท้องทะเลกำลังพ่นน้ำอุ่นๆ ท่ามกลางปะการังใต้ทะเลอยู่รายรอบ

รายงานระบุว่า ภูเขาไฟลูกนี้ยังพ่นลาวาร้อนๆ ออกมาตามร่องหินบางจุดที่อาจเกิดขึ้นในช่วงบางเวลา มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นดินบริเวณรอบๆ นี้อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ทำให้สัตว์ทะเลบางชนิดมาอาศัยพักพิง จนจัดได้ว่ามีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเล

นักวิจัยประหลาดใจมากขึ้น เมื่อพบปลากระเบนพันธุ์ Bathyraja spinosissima ที่มักหายากได้กำลังวางไข่จำนวนมาก เมื่อมองไปทางไหน จะเห็นไข่ปลากระเบนนับล้านฟองปกคลุมไปทั่วภูเขาไฟลูกดังกล่าว

พบ ‘ภูเขาไฟโบราณ’ ปะทุใต้ทะเล มีไข่ยักษ์เกาะปกคลุมนับล้านฟอง

“ทู พรีซ” นักวิทยาศาสตร์หนึ่งในทีม ศึกษาดังกล่าวบอกว่า บริเวณพื้นที่ภูเขาไฟโบราณลูกนี้กลายเป็นสถานอนุบาลลูกปลากระเบน หากให้ประมาณด้วยสายตาน่าจะมีไข่ยักษ์ขนาดใหญ่ราวแสนฟอง หรือไม่ก็ล้านฟองปกคลุมทั่วพื้นผิวใต้ท้องทะเลมีความหนาครึ่งฟุต

รายงานของ IUCN Red List ระบุว่า ปลากระเบน Bathyraja spinosissima เป็นสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลที่ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไป ซึ่งสายพันธุ์นี้จะอาศัยในทะเลน้ำลึกระหว่าง 800 - 2,900 เมตร นอกชายฝั่งทางตะวันตกของอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบการวางไข่ปลากระเบนคล้ายๆ ที่เจอนี้ที่ร่องหินที่พ่นน้ำอุ่นๆ ออกมาบริเวณใต้ท้องทะเลใกล้กับหมู่เกาะกาลาปาโกส ซึ่งบ่งชี้ว่า ปลากระเบนตัวเมียชอบสภาพแวดล้อมลักษณะนี้ที่จะช่วยฟักไข่ที่เป็นลูกๆ ของมัน และยืนยันระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลที่สมบูรณ์

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์