'เอลนีโญ' และโดมความร้อนถล่มกรุงโตเกียว 'อากาศร้อน' ที่สุดในรอบ 150 ปี

'เอลนีโญ' และโดมความร้อนถล่มกรุงโตเกียว 'อากาศร้อน' ที่สุดในรอบ 150 ปี

"กรุงโตเกียว" กำลังเผชิญ "อากาศร้อนจัด" ทุบสถิติในรอบ 150 ปี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาอุณหภูมิพุ่งแตะ 36.2 - 37.5 °C สูงกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูกาล 7 - 8.9 °C สาเหตุจาก "โดมความร้อนในเมือง" และปรากฏการณ์ "เอลนีโญ"

Key Points: 

  • ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “กรุงโตเกียว” มีอุณหภูมิพุ่งสูงแตะ 36.2 องศาฯ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูกาลถึง 7 องศาฯ ในขณะที่สัปดาห์ก่อนหน้า พบบันทึกอุณหภูมิพุ่งสูงสุดที่ 37.5 องศาฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูกาลถึง 8.9 องศาฯ
  • สาเหตุหลัก ๆ เกิดจาก “โดมความร้อนในเมือง” ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเมืองขนาดใหญ่ที่มีตึกอาคารสูงหนาแน่น รวมถึงเกิดจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ทั้งญี่ปุ่นและทั่วโลกกำลังเผชิญ
  • ชาวญี่ปุ่นเรียกวันที่มีอุณหภูมิ 35 องศาฯ ขึ้นไป ว่า Moushobi (โมโชบิ) แปลว่า “วันที่อากาศร้อนจัดอย่างแท้จริง” โดยพบว่าวัน Moushobi เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วถึงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นออกคำเตือนฉบับล่าสุดให้ประชาชนในกรุงโตเกียวเฝ้าระวังภาวะ “Heat Stroke” หรือ “โรคลมแดด” ระลอกใหม่ เนื่องจากช่วงนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับ “อากาศร้อนจัดพิเศษ” เพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชนป่วยลมแดดได้ง่ายขึ้น 

โดยทางการญี่ปุ่นเน้นย้ำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน และช่วยกันตรวจตราเพื่อนบ้านที่มีความเสี่ยง (กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็ก) ทั้งนี้ “ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก โดยเกือบ 30% ของประชากรมีอายุเกิน 65 ปี

\'เอลนีโญ\' และโดมความร้อนถล่มกรุงโตเกียว \'อากาศร้อน\' ที่สุดในรอบ 150 ปี

 

  • กรุงโตเกียวร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยฤดูกาลถึง 7 องศาฯ

สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น รายงานว่า สภาพอากาศใจกลาง “กรุงโตเกียว” ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 ก.ค.) มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 36.2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูกาลถึง 7 องศาเซลเซียส ในขณะที่หากย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (12 ก.ค.) พบว่าอุณหภูมิยิ่งร้อนแรงกว่า เพราะมีบันทึกอุณหภูมิของกรุงโตเกียวพุ่งสูงสุดที่  37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูกาลถึง 8.9 องศาเซลเซียส

นอกจากกรุงโตเกียวแล้วรายงานยังพบด้วยว่า “เมืองคิริว” ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 2 ชั่วโมง ทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 39.7 องศาเซลเซียสในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงกลายเป็นเมืองที่ร้อนที่สุดของญี่ปุ่นในปีนี้

ทั้งนี้ ในวันที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ชาวญี่ปุ่นเรียกวันเหล่านั้นว่า Moushobi (โมโชบิ) ซึ่งแปลว่า “วันที่อากาศร้อนจัดอย่างแท้จริง” โดยตัวเลขของวัน Moushobi พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

  • เปิด 2 ตัวการที่ทำให้อากาศร้อนจัด ทั้งโดมความร้อนและเอลนีโญ

สำนักสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลโตเกียว เปิดเผยว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้กรุงโตเกียวมีสภาพอากาศร้อนพุ่งทะลุกราฟขนาดนี้ ก็เนื่องมาจากผลกระทบจากปรากฏการณ์ “โดมความร้อนในเมือง” ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเมืองขนาดใหญ่ที่ถูกปกคลุมด้วยตึกอาคารสูงและท้องถนนที่หนาแน่น 

สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้เป็นตัวดักจับความร้อนได้อย่างมหาศาล และแผ่รังสีความร้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ยิ่งเมืองหนาแน่นเท่าไรความร้อนก็ยิ่งระบายออกไม่ได้ ทำให้ความร้อนในเมืองยิ่งสะสมมากขึ้น

\'เอลนีโญ\' และโดมความร้อนถล่มกรุงโตเกียว \'อากาศร้อน\' ที่สุดในรอบ 150 ปี

ในบางกรณี ผลกระทบจาก “โดมความร้อนในเมือง” อาจรุนแรงมากจนอาคารไม่สามารถระบายความร้อนได้ในเวลากลางคืน ซึ่งบังคับให้ผู้คนต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งคืน ส่วนบ้านไหนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ (กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถจ่ายได้) ก็อาจประสบปัญหาการนอนไม่หลับ ซึ่งนำไปสู่ระดับความเครียดที่สูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทำให้ผู้คนเสี่ยงเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนในเมืองที่พุ่งสูง

ในขณะที่สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่หลายคนน่าจะรับรู้กันดีนั่นคือ มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นทุกปี (ภาวะโลกร้อน) ซึ่งทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน อีกทั้งมีรายงานจาก Japantimes ระบุว่า ฤดูร้อนของญี่ปุ่นปีนี้คาดว่าจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะร้อนกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์สภาพอากาศ “เอลนีโญ” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่าเอลนีโญปีนี้อาจจะร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

  • บันทึกประวัติศาสตร์ใหม่ โลกร้อนขึ้นอีก 0.3 องศาเซลเซียส

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่ต้องเผชิญสภาพอากาศร้อนจัด ตามรายงานของ European Space Agency พบว่า พื้นที่เกาะซิซิลีและเมืองซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี ก็กำลังประสบปัญหาอุณหภูมิพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตรวจพบอุณหภูมิสูงกว่า 48 องศาเซลเซียสในช่วงเดือน ก.ค. 2566 

ขณะที่ “องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก” ได้ออกประกาศฉบับใหม่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า โลกเพิ่งประสบกับสัปดาห์ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ รองจากเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยพบอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่บันทึกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมอยู่ที่ 17.24 องศาเซลเซียส สูงกว่าสถิติเดิมของปี 2559 ถึง 0.3 องศาเซลเซียส

\'เอลนีโญ\' และโดมความร้อนถล่มกรุงโตเกียว \'อากาศร้อน\' ที่สุดในรอบ 150 ปี

อีกทั้งยังมีรายงานด้วยว่า สภาพอากาศร้อนจัดในช่วงต้นเดือนนี้ ยังมีผลให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกลดลงเหลือต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ทั้งบนบกและในมหาสมุทร อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งความแปรปรวนของสภาพอากาศเหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์

ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ ฮิววิตต์ ผู้อำนวยการ WMO ฝ่ายบริการภูมิอากาศ กล่าวว่า “ความร้อนที่มากขึ้นเป็นพิเศษในเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ เกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าจะทำให้พื้นผิวโลกทั้งบนบกและในมหาสมุทร มีอุณหภูมิสูงขึ้น และอาจเกิดเป็นคลื่นความร้อนในทะเล

“อุณหภูมิที่สูงขึ้นครั้งนี้พุ่งทะลุกราฟบนแผนที่ไปแล้ว และคาดว่าจะทำสถิติร้อนขึ้นอีกเมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญพัฒนาต่อไป และผลกระทบเหล่านี้จะขยายไปถึงปี 2567” คริสโตเฟอร์ ย้ำให้เห็นภาพว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหารุนแรงไปทั่วโลก

-------------------------------------------

อ้างอิง : WMOBloombergJapantimes