เทียบอำนาจ สว. ไทย อังกฤษ สหรัฐ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคก้าวไกลพลาดโอกาสนำในการจัดตั้งรัฐบาล
พรรคการเมืองที่ได้รับฉันทามติสูงสุดจากประชาชนอันดับที่ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย จึงกลับมีบทบาทที่เด่นชัดยิ่งขึ้น แต่บทบาทที่เด่นชัดที่สุดคือ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เสียงส่วนใหญ่ของ สว. นั้นสะท้อนในทางตรงกันข้ามกับผลการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มจะลามให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นได้
การอธิบายประชาธิปไตยแบบไทยให้กับนานาอารยประเทศให้เข้าใจจึงเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่ยากตรงการอธิบายถึงเทคนิคที่พิลึกพิลั่นหรือความพิสดารของรัฐธรรมนูญของไทย แต่ยากตรงที่จะอธิบายว่าแล้วเพราะเหตุใด คนไทยเราถึงสมยอมให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่เสียงของคนไทยผู้รักประชาธิปไตยที่ออกมาเรียกร้องสิทธิกลับไม่ดังเพียงพอ
มันเป็นการยากมากที่จะอธิบายว่า เพราะเหตุใดพรรคการเมืองอันดับ 1 และ 2 ที่จับมือกันและครองเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร จึงยังมีความลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล กระบวนการทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้จึงเป็นหลักฐานชิ้นสุดท้ายสู่ข้อสรุปที่สามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า ประเทศไทยของเรานั้นเป็นประชาธิปไตยเทียม ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบแบบในประเทศเจริญแล้ว
ประชาธิปไตยของไทยมีความคล้ายคลึงกับประเทศอังกฤษมากที่สุด เพราะเป็นประเทศแม่แบบในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข สิ่งที่เราควรจะมองด้วยข้อสงสัยในใจคือ แล้ว อำนาจของ สว. อังกฤษนั้น มีอย่างล้นฟ้าล้นแผ่นดินเช่นดัง สว. ของไทย หรือไม่ ซึ่งก็คงต้องตอบว่า ถึงแม้ สว. ของอังกฤษนั้นจะมาจากการแต่งตั้ง มาจากระบบศักดินาที่สะท้อนถึงความไม่เท่ากันของมนุษย์แต่อดีต แต่ สว. ของอังกฤษก็ไม่ได้มีอำนาจมากเช่น สว. ของไทย
สว. ของอังกฤษเป็นผู้รากมากดี สืบเชื้อตระกูลขุนนางหรือพระที่มีฐานันดรศักดิ์ อดีตนักการเมือง หรือข้าราชการ ซึ่งล้วนมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้นแต่อำนาจของ สว. อังกฤษนั้นมีมากที่สุดคือการชะลอยับยั้งกฎหมายใด ๆ ที่ออกโดยสภาผู้แทนฯ สภาขุนนางของอังกฤษนั้นไม่มีอำนาจแม้แต่การคว่ำกฎหมายของเสนอโดยสภาล่าง หากสภาล่างยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่ต้องผู้ถึงการมีอำนาจการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ สว. อังกฤษ ทำได้มากที่สุดก็คือการถ่วงเวลา ในเชิงเทคนิคก็คือการตีตกกฎหมายที่เสนอมา เพื่อให้เป็นที่จับตาของสังคมเพื่อกดดันสภาผู้แทนฯ ก่อนที่กฎหมายใดใดจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เช่น กรณี Brexit เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่และอำนาจของประชาชนในการกดดัน สส. ในท้องที่ของตนและสะท้อนถึงความเห็นที่ต่างเพื่อกันยับยั้งกฎหมายนั้นๆ ถึงแม้ว่า สว. อังกฤษจะเป็นผู้รากมากดี มีตระกูลและความรู้ที่สูงส่ง แต่ก็ไม่อาจหาญกล้าที่คิดและตัดสินใจแทนประชาชนได้ เพราะ สว. ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน
ต่างจาก สว. สหรัฐ ที่มีที่มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจสูงมาก เพราะถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนที่มาจากประชาชนโดยตรง การตีตกกฎหมาย การรับรองบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งราชการที่สำคัญ อาทิ ผู้พิพากษา ทูต ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงล้วนอยู่ในอำนาจของ สว. ที่พึงกระทำได้ เพราะระบอบการเมืองของสหรัฐนั้น ออกแบบมาให้ไม่เพียงแต่ฝ่านค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้นต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจที่มากล้นของฝ่ายบริหาร แต่ยังออกแบบให้ สว. เป็นหนึ่งในกลไกการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจด้วย
อำนาจที่มากล้นที่สุดที่ สว. สหรัฐมีคือการลงมติไล่ประธานาธิบดี หรือ Impeachment แต่ไม่สามารถคัดเลือกผู้นำประเทศได้ เพราะประชาชนเลือกตั้งโดยตรง และไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์สหรัฐที่ประธานาธิบดีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน