เปิดปมปลด ‘ฉิน กัง’ นักรบหมาป่า คนสนิท‘สี จิ้นผิง’
ชัดเจนในความไม่ชัดเจน รัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแต่งตั้งหวัง อี้ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนฉิน กัง ในวันที่ 25 ก.ค. ครบรอบหนึ่งเดือนที่ฉินหายหน้าไป โดยทางการไม่อธิบายเหตุผลในการปลดครั้งนี้
‘ฉิน กัง’ วัย 57 ปี ออกงานครั้งสุดท้ายในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศหลายคนทั้งจากเวียดนาม ศรีลังกา และพบกับแอนเดรย์ รูเดนโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย แต่ไม่ได้ไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่อินโดนีเซียในสองสัปดาห์ต่อมา จุดชนวนความสงสัยครั้งแรก กระทรวงการต่างประเทศจีน ตอบเพียงว่า ฉินมีปัญหาด้านสุขภาพ
จะว่าไปแล้วฉินก้าวหน้าเร็วมากในสายงานการทูต เคยเป็นทูตจีนประจำสหรัฐสองปีก่อนได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจีนเมื่อเดือน ธ.ค.2565 รวมเวลาทำหน้าที่นี้เจ็ดเดือน แต่มีการจับตากันมากว่า ฉินจะอยู่ในตำแหน่งได้นานแค่ไหน หลังจากเขางดออกงานมากมาย
ใครคือฉินกัง
ฉิน ถูกมองว่าเป็นคนสนิทของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเดือน ธ.ค.2565 ในอดีตเขาเคยเป็นทูตประจำลอนดอนหลายปี พูดภาษาอังกฤษคล่องมาก
ฉินโด่งดังในฐานะ “นักรบหมาป่า” ฉายาของนักการทูตจีนรุ่นใหม่ผู้ใช้วาทกรรมห้าวหาญต้านเสียงวิจารณ์ปักกิ่งของชาติตะวันตก
เจ้าตัวเคยกล่าวในปี 2563 ว่าภาพลักษณ์ของจีนในสายตาตะวันตกเสื่อมถอยลงเพราะชาวยุโรปและอเมริกันโดยเฉพาะสื่อ ไม่เคยยอมรับระบบการเมืองจีนหรือความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจจีน
ตอนเป็นทูตจีนประจำสหรัฐ ฉินออกสื่อและออกงานมากขึ้นเพื่ออธิบายจุดยืนของจีน ครั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตารางงานยิ่งแน่น ต้องไปเยือนแอฟริกา ยุโรป เอเชียกลาง รวมทั้งต้อนรับทูตต่างประเทศในกรุงปักกิ่ง
เมื่อฉินหายหน้าไปนานนับเดือนอาจทำให้ความพยามฟื้นฟูการติดต่อระดับสูงกับจีน และความพยายามของจีนที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจจีนยุ่งยากขึ้น เหล่านักการทูต นักวิเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ต่างพยายามหาเหตุผล
“การที่เขาหายไปอาจไม่สำคัญกับประเทศอื่น ในความเป็นจริงการหายตัวไปของเขาเป็นอุปสรรคทางการทูตที่มีกับจีน ฉินกังหายหน้าไปจากสังคมนานขนาดนี้ถือว่าแปลกมาก” นีล โทมัส นักวิจัยการเมืองจีนจากสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในสหรัฐให้ความเห็น
การหายตัวไปของฉินเกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีสีกำลังเตรียมการอาจพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) เดือน พ.ย.
เดือนก่อนตอนที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมาเยือนจีน ฉินใช้เวลาคุยกับเขานานห้าชั่วโมงครึ่ง
บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากกองทุนมาร์แชลเยอรมนี กล่าวว่า การหายตัวไปของฉินจะไม่กระทบความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนในระยะยาว เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นคนนำนโยบายไปปฏิบัติไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย
ตอนเป็นทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันระหว่างปี 2564-2565 ช่วงที่สัมพันธ์สองประเทศตึงเครียดหนัก ฉินต้องเผชิญกับช่วงเวลายากลำบาก รัฐบาลไบเดนทำตัวเหินห่างด้วยมองว่าฉินไม่สนใจปรับความสัมพันธ์
แม้เขาได้พบกับเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศอยู่บ้าง แต่แทบจะไม่เคยข้องเกี่ยวกับรัฐมนตรีเลย และพยายามหาทางติดต่อกับสภาคองเกรส
นักการทูตรายหนึ่งผู้คุ้นเคยกับเรื่องนี้กล่าวว่า ฉินถูก “กีดกัน” ในวอชิงตัน ส่วนหนึ่งเพื่อตอบโต้สิ่งที่จีนทำกับนิก เบิร์นส ทูตสหรัฐประจำปักกิ่ง นอกจากนี้บางคนยังมองว่าฉินเป็น “นักรบหมาป่า” ของสี หมายถึง นักการทูตหนุ่มผู้ใช้วาจาห้าวหาญกับนักการทูตคนอื่น
ปากคำจากกลุ่มคนที่เคยติดต่อกับฉินในวอชิงตัน ระบุ ทูตฉินเน้นกลุ่มธุรกิจพยายามปรับปรุงผลกำไรในจีน และไปเยือนรัฐอย่างไอโอวา ที่ประชาชนมีความรู้สึกต่อจีนไม่รุนแรง
ตอนฉินเป็นทูตวอชิงตัน เจ้าหน้าที่สหรัฐมักติดต่อโดยตรงกับสี เฟิ่ง อดีตหัวหน้าฝ่ายกิจการอเมริกันของจีน ซึ่งสีขึ้นเป็นทูตจีนประจำวอชิงตันแทนฉินในปีนี้ แหล่งข่าวบอกว่า ฉินและสี เฟิ่งไม่ถูกกัน แม้ฉินใกล้ชิดกับสี จิ้นผิง แต่บ่อยครั้งที่เขาถูกผู้บังคับบัญชาในปักกิ่งปาดหน้าเมื่อต้องติดต่อกับสหรัฐ
แต่แม้มีปัญหาในวอชิงตัน ฉินยังได้รับการส่งเสริมให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นักวิเคราะห์สังเกตว่า ฉินอยู่ในฐานะที่ปรึกษาที่สี จิ้นผิงไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่งเรื่องการต่างประเทศ
มีรายงานว่าเขาเตะตาประธานาธิบดีสมัยเป็นอธิบดีกรมพิธีการทูตระหว่าง พ.ศ.2557-2560
“ไม่มีใครเหมาะสมมากกว่าฉิน กังอีกแล้ว” โทมัสจากเอเชียโซไซตี้กล่าวชี้ให้เห็นว่าฉินก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
เจ้าหน้าที่จีนและนักการทูตต่างประเทศหลายคนเผยว่าฉินจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรุงปักกิ่ง สถาบันฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ข่าวกรองและนักการทูต สังกัดกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ หน่วยข่าวกรองทรงอิทธิพลของจีน
ก่อนไปดำรงตำแหน่งในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการเป็นทูตในลอนดอนราวสิบปี ฉินทำงานเป็นผู้ช่วยนักข่าวที่สำนักข่าวยูไนเต็ดเพรสอินเตอร์เนชันแนลของสหรัฐ
นักข่าวที่รู้จักฉินเล่าว่า เขาก็เหมือนกับผู้ช่วยนักข่าวส่วนใหญ่ในเวลานั้น ได้รับมอบหมายจากสำนักบริการภายในซึ่งรับคำสั่งจากกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐจีน ฉินร่วมประชุมประจำสัปดาห์กับผู้ช่วยนักข่าวคนอื่นๆ แบ่งปันข่าวกรองเกี่ยวกับสื่อนายจ้าง และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างอิทธิพลต่องานของพวกเขา
ข่าวลือสัมพันธ์รักผู้ประกาศข่าว
ถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครได้เห็นหน้าฉิน ท่ามกลางข่าวลือสัมพันธ์รักกับผู้ประกาศข่าวทีวีชื่อดัง “ฟู่ เสี่ยวเตี้ยน” วัย 40 ปี เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า ฟู่เองก็หายหน้าไประยะหนึ่งแล้วหลังบทสัมภาษณ์หวานของคนทั้งคู่ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนโลกออนไลน์
ฟู่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เธอได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนบ่อยครั้ง และเคยสัมภาษณ์ฉินที่วอชิงตันดีซีในเดือน มี.ค.2565 คลิปนี้กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตหลายคนสังเกตเห็นท่าที “หยอกเอินกัน” ของคนทั้งคู่ เป็นเหตุให้ข่าวลือแพร่สะพัดโดยเฉพาะในสื่อไต้หวันและฮ่องกงที่ว่า ฉินกับฟู่อาจมีความสัมพันธ์กัน
หลิน เจิ้งเหลียง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวจีน สังเกตว่า ฉินเป็นทูตจีนประจำสหรัฐในปี 2564 ส่วนบทสัมภาษณ์ “จี๋จ๋า” เกิดขึ้นในเดือน มี.ค.2565
ฟู่คลอดลูกชายในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน ไม่มีใครเห็นลูกอีกเลยนับตั้งแต่แม่หายหน้าไป โซเชียลมีเดียสุดท้ายฟู่แชร์รูปเครื่องบิน ภาพหน้าจอการสัมภาษณ์ฉิน และภาพเธอกับลูกชาย
เดอะการ์เดี้ยนระบุว่า การมีสัมพันธ์นอกสมรสไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน แต่เรื่องนี้สามารถถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างกับคนที่ทำผิดต่อผู้นำ ซึ่งวิธีการใช้เรื่องส่วนตัวปลดเจ้าหน้าที่แล้วไม่อธิบายเหตุผลก็เป็นแนวทางมาตรฐานของพรรคคอมมิวนิสต์ในระบบการเมืองคลุมเครือ สื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกควบคุมเข้มงวด
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสังเกตคือการปลดฉินเกิดขึ้นในช่วงที่นโยบายต่างประเทศก้าวร้าวของจีนถูกตอบโต้ ซึ่งฉินเป็นผู้สนับสนุนหลักของนโยบายนี้