’รัฐประหารไนเจอร์' อีกหนึ่งความล้มเหลวเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย 'อันได้มายากยิ่ง'l Leaders' Move
การรัฐประหารไม่ว่าเกิดขึ้นในประเทศใด ไม่เคยได้รับเสียงชื่นชมจากเวทีระหว่างประเทศ ล่าสุดเกิดขึ้นที่ไนเจอร์ ส่งผลสะเทือนกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน นับตั้งแต่ทหารไนเจอร์ทำรัฐประหารเมื่อเย็นวันพุธ (26 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ถึงบ่ายวันพฤหัสบดี (27 ก.ค.) ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้บริหารประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บาซู ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในทำเนียบ เสียงประณามดังทั่วสารทิศ
ฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมและ ECOWAS กลุ่มความร่วมมือประเทศแอฟริกาตะวันตกเรียกร้องให้ปล่อยตัวบาซูมและกลับไปใช้รัฐธรรมนูญทันที เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียก็เรียกร้องให้ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรนูญ
รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสของสหรัฐเตือนว่า ความร่วมมือที่สหรัฐมีให้กับรัฐบาลไนเจอร์ขึ้นอยู่กับ “ความมุ่งมั่นตามมาตรฐานประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง” ของไนเจอร์ ด้านโฆษกสหรัฐประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า สหรัฐสนับสนุนการดำเนินการของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่ให้สถานการณ์บานปลาย
ด้าน มุสซา ฟากี มะหะมัต ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา กล่าวว่าเขาได้คุยกับบาซูมเมื่อวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดี “สบายดี”
ความสำคัญของไนเจอร์
การรัฐประหารไนเจอร์ เป็นครั้งที่ 7 ในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางนับตั้งแต่ปี 2563 และอาจส่งผลร้ายแรงต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยและการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธญิฮัดในภูมิภาคนี้ ที่ไนเจอร์เป็นพันธมิตรสำคัญของชาติตะวันตก
ล่าสุด ยังไม่มีการประกาศว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศคนต่อไป
ใครทำรัฐประหาร
การรัฐประหารเป็นฝีมือของทหารอารักขาประธานาธิบดีที่ถูกดึงมาจากกองทัพ มีหน้าที่ปกป้องประธานาธิบดีและผู้ติดตาม โดยนายพลโอมาร์ ทะเชียนีเป็นผู้บัญชาการ แต่ตอนออกทีวีประกาศปลดซูมา เมื่อดึกวันพุธ (25 ก.ค.) นายพลผู้นี้ไม่ได้ร่วมแถลงด้วย
แอนาลิส เบอร์นาร์ด ผู้อำนวยการกลุ่มที่ปรึกษา Strategic Stabilization Advisors ในสหรัฐกล่าวกับรอยเตอร์ว่า สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ผู้นำฝ่ายการเมืองและความมั่นคงยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
กองทัพหนุนรัฐประหาร
กองทัพประกาศสนับสนุนทันทีที่นายทหารอารักขาออกมายึดอำนาจ ส่วนคนที่สนับสนุนรัฐประหารออกมาปล้นสะดม จุดไฟเผาสำนักงานใหญ่พรรครัฐบาลในกรุงนีอาเม เมื่อวันพฤหัสบดี
เช่นเดียวกับที่หน้ารัฐสภา ฝูงชนไปรวมตัวกัน บ้างโบกธงชาติรัสเซีย ตะโกนข้อความต่อต้านฝรั่งเศส สะท้อนความรู้สึกต่อต้านอดีตเจ้าอาณานิคมที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ไนเจอร์ได้เอกราชจากฝรั่งเศสใน พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960)
ส่วนกองทัพที่สนับสนุนการยึดอำนาจประธานาธิบดีกล่าวว่า ให้ความสำคัญสูงสุดกับการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความวุ่นวายในประเทศ รวมถึงการคุ้มครองประธานาธิบดีและครอบครัว
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้คณะรัฐประหาร
ก่อนหน้านี้เคยเกิดรัฐประหารในประเทศมาลี และเบอร์กินาฟาโซ เพื่อนบ้านของไนเจอร์ ในปี 2563และ 2565ตามลำดับ ซึ่งเมื่อล้มรัฐบาลเดิมไปแล้วผู้นำทหารดำเนินความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น ทั้งยังตัดความเป็นมิตรกับประเทศตะวันตกซึ่งเป็นเเนวร่วมเดิม
สหรัฐกล่าวว่า ไม่เห็นข้อบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ว่า รัสเซียหรือกลุ่มนักรบแวกเนอร์เกี่ยวข้องรัฐประหารไนเจอร์
ความสำคัญของไนเจอร์ต่อชาติตะวันตก
นับตั้งแต่ความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารมาลี และเบอร์กินาฟาโซร้าวฉาน ชาติตะวันตกพากันถอนทหารออกมา ไนเจอร์มีบทบาทสำคัญขึ้นมาแทนที่ในการช่วยต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธซาเฮลปีก่อนฝรั่งเศสถอนทหารจากมาลีมาที่ไนเจอร์
พันเอกอะมาดู อับดรามาเน ผู้ประกาศยึดอำนาจออกโทรทัศน์ กล่าวว่า กองทัพต้องทำเพราะความมั่นคงของประเทศเสื่อมถอย รัฐบาลบริหารประเทศเลวร้าย
‘บาซูม’ ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง
บาซูม ได้รับการเลือกตั้งในปี 2564 แต่เขาต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงมาโดยตลอด เมื่อกลุ่มญิฮัดที่ปักหลักในมาลีได้เมื่อปี 2555 แข็งแกร่งขึ้นในไนเจอร์ สังหารประชาชนหลายพันคน พลัดที่นาคาที่อยู่อีกกว่า 6 ล้านคนทั่วทั้งภูมิภาคซาเฮลที่เป็นเขตรอยต่อกึ่งกลางทะเลทรายสะฮารา
อย่างไรก็ตาม มีคนฝากความหวังไว้กับการรัฐประหาร
“เราหวังว่า การที่กองทัพยึดอำนาจจะช่วยแก้วิกฤติความั่นคงได้ วันนี้การก่อการร้ายทำลายหมู่บ้านจำนวนมาก ลูกเราเป็นแม่ม่าย หลานเรากลายเป็นเด็กกำพร้า”
ฮัดจา เอส หญิงสูงวัยที่มาร่วมชุมนุมนอกรัฐสภากล่าวกับรอยเตอร์
ระงับกิจกรรมพรรคการเมือง
คณะรัฐประหารประกาศให้พรรคการเมืองยุติกิจกรรมทุกอย่างจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม ประธานาธิบดีบาซูม โพสต์โซเชียลมีเดียเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี ให้คำมั่นปกปักรักษาความก้าวหน้าของประชาธิปไตย “อันได้มายากยิ่ง” แล้วไม่ได้โพสต์อะไรอีกหลังจากนั้น ผู้นำโลกหลายคนเผยว่า ได้พูดคุยกับเขา เช่น โจเซป บอร์เรล ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป
สรุป: แพทเทิร์นรัฐประหาร
ไนเจอร์ถือเป็นประเทศล่าสุดที่รัฐประหาร ทหารยึดอำนาจผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรูปแบบก็ไม่แตกต่างกับที่เคยเกิดในประเทศอื่นๆ
1. กระทำโดยทหารใกล้ชิดผู้นำ
2. อ้างรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รัฐบาลเลวร้าย
3. ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม
4. ก่อนรัฐประหารผู้นำจากการเลือกตั้งเผชิญปัญหาความมั่นคง
5. ประชาชนบางส่วนฝากความหวังให้ทหารเข้ามารักษาความสงบ
6. ผู้นำที่เพิ่งพ้นจากอำนาจขอให้ประชาชนต้านการรัฐประหาร
7. นานาชาติประณาม
แต่สุดท้ายแล้วผลของการรัฐประหารจะตกอยู่กับประชาชนทั้งประเทศ ประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่านที่ก้าวหน้ามาเพียงเล็กน้อยกลับต้องถดถอยไปอีกหลายสิบก้าว