'ฟิทช์' แจงเหตุหั่นเครดิตสหรัฐ แนะแก้ปัญหาธรรมาภิบาลให้ดีขึ้น
หลังจากที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ถูกทำเนียบขาววิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการตัดสินใจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ นายริชาร์ด ฟรานซิส หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐของฟิทช์ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลโดยละเอียดเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว
ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐ ลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA ในวันอังคาร (1 ส.ค.) โดยระบุถึงสถานะการคลังของสหรัฐที่มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า และภาระหนี้สินที่สูงขึ้น ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลง และสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ นายฟรานซิสได้ชี้แจงในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ "Squawk on the Street" ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ว่า "สิ่งสำคัญที่เราเห็นในสหรัฐมาเป็นเวลานานหลายปีก็คือ สถานะการคลังที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 หนี้สินโดยรวมของรัฐบาลอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60% แต่ขณะนี้อยู่ในระดับสูงถึง 113% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐถดถอยลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เราคาดการณ์ว่ายอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐจะพุ่งขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าภาระหนี้สินของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้าเช่นกัน"
"ไม่ใช่การขยายตัวของตลาดแรงงาน ไม่ใช่ความแข็งแกร่งของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้สหรัฐสามารถกลับมาได้อันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จากฟิทช์อีกครั้ง แต่เป็นการใช้มาตรการที่จริงจังในการกำกับดูแลระบบธรรมาภิบาล" นายฟรานซิสกล่าว
นายฟรานซิสยังกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาของสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 นั้น บ่งชี้ถึงความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฟิทช์นำมาประกอบการพิจารณา เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของระบบธรรมาภิบาล
"สหรัฐมีทั้งปัญหาเพดานหนี้ มีทั้งเหตุการณ์อื้อฉาวเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์เหล่านี้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองพรรคการเมือง เดโมแครตจะเดินไปทางซ้ายอย่างเดียว และรีพับลิกันก็ดึงดันที่จะเดินไปทางขวาอย่างเดียว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่การแตกแยกจนยากที่จะประสานกันได้ โดยประเด็นสถานะการคลังนั้น เราไม่ได้เจาะจงว่าเป็นความผิดพลาดของพรรคใดพรรคหนึ่ง" นายฟรานซิสกล่าว
ส่วนการที่สหรัฐจะกลับมาได้อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ AAA ได้นั้น นายฟรานซิสกล่าวว่า ฟิทช์จะจับตาดูแนวทางการแก้ปัญหาด้านการคลังหลังจากที่รัฐบาลได้นำเสนอโครงการต่าง ๆ รวมทั้งจับตารายได้ และรายจ่ายของรัฐบาลในโครงการเหล่านั้นด้วย
นอกจากนี้ ฟิทช์จะจับตาการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ และวิธีการที่รัฐบาลใช้เพื่อรับมือกับปัญหาเพดานหนี้ไม่ว่าจะด้วยการระงับเพดานหนี้ชั่วคราวหรือระงับเป็นการถาวรก็ตาม
ทั้งนี้ หลังจากที่ฟิทช์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐได้ไม่นาน บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและไม่ยอมรับการตัดสินใจของฟิทช์ โดยอ้างว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
โดยประเด็นนี้นายฟรานซิสชี้แจงว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญมากและอาจจะมีผลต่อภาพรวมด้านการคลังของสหรัฐ แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สหรัฐสามารถแก้ไขปัญหาด้านระบบธรรมาภิบาลได้