นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ หั่นเครดิต ไม่สะเทือนสหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ หั่นเครดิต ไม่สะเทือนสหรัฐ

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” ลดเครดิตสหรัฐ เหลือ AA “ซีไอเอ็มบีไทย” มองดอลลาร์แกร่ง เหตุคาดเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หนุนดอลลาร์พุ่ง “ทีทีบี” ยัน ดอลลาร์ - สินทรัพย์สหรัฐยังมีเสถียรภาพ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เชื่อดอลลาร์ยังเป็นสกุลหลัก - สินทรัพย์หลักของโลก

      ล่าสุด ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ได้ออกมาหั่นเครดิตเรตติ้งของสหรัฐลง จากระดับ AAA มาอยู่ที่ระดับ AA+ สะท้อนภาวะถดถอยทางการคลังที่คาดจะเกิดขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า รวมถึงปัญหาของหนี้ภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น 
      ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การปรับเรตติ้งสหรัฐ ถือไม่ใช่ครั้งแรก แต่ที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับอย่าง Moody's และ S&P  สถาบันจัดอันดับเครดิตโลก ได้ออกมาปรับเครดิตสหรัฐไปก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

      สะท้อนปัญหาการจัดการหนี้ของสหรัฐที่ถดถอยลง และการขยับเพดานหนี้ของสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการตอกย้ำความไม่แน่นอนในตลาดโลกที่ยังมีอยู่

        ดังนั้นมองว่า เหล่านี้อาจมีผลกระทบระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากคนอาจมองไปถึงระยะข้างหน้า ว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนถัดไปได้ เนื่องจากดอกเบี้ยยังไม่จบรอบขึ้นดอกเบี้ย จาก commodity ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง 
และภายใต้สถานการณ์ผันผวนของโลก และสถานการณ์ที่นักลงทุนยังคงกังวล จะหนุนให้คนกลับไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยคือ ดอลลาร์เพิ่มขึ้น 
        “วันนี้บอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปี อยู่ที่กว่า 4% สะท้อนว่าตลาดกังวลความไม่แน่นอนในตลาดโลกที่ยังมีอยู่สูง คนอาจขายสินทรัพย์เสี่ยง และกลับไปถือดอลลาร์ได้ ดังนั้นการหั่นเครดิตครั้งนี้ไม่ได้มีผลทำให้คนถือดอลลาร์น้อยลง ดอลลาร์ก็ยังมีทิศทางแข็งค่า ขณะที่เงินบาทก็ไม่ได้มีการอ่อนแรง หรือแข็งค่าขึ้น และส่วนใหญ่ยังคงมูฟไปทิศทางเดียวกันภูมิภาค” 

หั่นเรตติ้งไม่กระทบสินทรัพย์-ดอลลาร์
        นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า เชื่อว่าการหั่นเครดิตเรตติ้งครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องช็อก ต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานะเครดิตของสหรัฐ ที่ลดลง

       สะท้อนการขาดดุลของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ภาระหนี้อยู่ระดับ แม้จะมองว่า ภาพระยะยาว เสถียรภาพสหรัฐ และเงินดอลลาร์จะลดลงบ้าง บวกกับปัจจุบันเริ่มเห็นการค้าผ่านสกุลเงินอื่นๆ มากขึ้น ทำให้เงินทุนสำรอง ที่เป็นดอลลาร์ถูกบั่นทอนลง  แต่ผลกระทบจะยังคงเป็นภาพระยะยาวมากๆ ไม่ใช่ในทศวรรษนี้ 
    ทั้งนี้ยังมองว่า ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยหนุน จากทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่ยังคงมีอยู่ หากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีตามคาด มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ดังนั้นดอลลาร์ยังคงมีทิศทางแข็งค่าต่อได้ 

ดอลลาร์ยังเป็นสกุลหลักของโลก 
     นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการหั่นเรตติ้งสหรัฐ เชื่อว่าไม่มีผลกระทบมากนัก แม้ตลาดอาจตกใจในระยะสั้นๆ แต่ระยะยาวไม่กระทบ เพราะการหั่นเครดิตเรตติ้งถือไม่ใช่ครั้งแรก ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐ 

       ดังนั้นมองว่า สินทรัพย์ และเงินดอลลาร์ สหรัฐยังมีเสถียรภาพ เนื่องจากหากดูสินทรัพย์การลงทุน วันนี้ตลาดสหรัฐยังเป็นตลาดที่ใหญ่ ที่ไม่สามารถมีใครทดแทนได้

     โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐ ที่มีขนาดใหญ่ และมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการดีฟอลต์ต่ำ ดังนั้นเชื่อว่าการหั่นเครดิตครั้งนี้ ไม่มีผลต่อเงินดอลลาร์ให้มีค่าน้อยลง หรือเกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ออก 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์