สมการแก้โจทย์ยาก Trilateral Highway ‘อินเดีย - เมียนมา - ไทย’
ตราบใด “รัฐบาลเมียนมา” ไม่คืนความสันติสุข ประชาชนและชนกลุ่มน้อยเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม สถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนปะทุเป็นระลอกๆ ก็ไม่อาจเปิดใช้โครงการถนน 3 ฝ่าย อินเดีย - เมียนมา - ไทย ได้
ประเทศไทยมีบทบาทนำเรื่องการขับเคลื่อนการเชื่อมโยง ซึ่งขณะนี้มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นมานาน แต่ยังร่วมมือไม่สำเร็จนั่นคือ “โครงการทางหลวง 3 ฝ่ายเชื่อม อินเดีย-เมียนมา-ไทย (Trilateral Highway) เหลือเพียงการเชื่อมโยงในจุดพื้นที่รอยต่อ ระยะทาง 66 กิโลเมตร แล้วแนวทางสร้างการเชื่อมต่อโครงการทางหลวง 3 ฝ่ายฯ จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
“ปัญหานี้เป็นผลจากข้อจำกัด ตราบใดที่ไม่อาจจัดหาเงินทุนสนับสนุนให้กับเมียนมาได้ เพราะสืบเนื่องจากสถานการณ์การเมือง จะทำให้ปัญหาคาราคาซังอย่างนี้” แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศเคยกล่าวไว้
เพราะในทางกลับกันเมื่อสถานการณ์ภายในประเทศเกิดสันติสุข ค่อยๆคืนความสงบและสันติภาพให้กับประชาชน จะส่งผลต่อบรรยากาศภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเมียนมากับต่างชาติดีขึ้น
ความคิดนี้สอดคล้องกับคำพูดของ "เชิดชาย ใช้ไววิทย์" อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มองว่า ถ้าพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางที่ดี และแนวโน้มปล่อยตัวนักการเมือง ความพยายามจัดการเลือกตั้งทั่วไป จะสร้างบรรยากาศการคืนสันติสุขให้กับคนเมียนมา
"นี่เป็นสมการความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงจุดไร้รอยต่อของ โครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย เนื่องจากเป็นผลจากความไม่สงบในพื้นที่" อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าว
โครงการทางหลวงไตรภาคีแห่งนี้ มุ่งเชื่อมต่อคมนาคมที่ไร้รอยต่อระหว่างอินเดีย เมียนมาและไทย
โครงการนี้ เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค มุ่งยกระดับและปฏิวัติศักยภาพโลจิสติกส์และการค้า ซึ่งคาดว่า จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับ 3 ประเทศผ่านถนนสายนี้
ทางหลวงไตรภาคีขนาดใหญ่แห่งนี้ เริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร และครอบคลุมเมืองต่างๆ เช่น สุโขทัย แม่สอดของไทย ไปยังมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง กะเลวา และตามูในเมียนมา ข้ามชายแดนไปเชื่อมต่อเมืองต่างๆ ในอินเดีย ผ่านเมืองโคอิมา โมเรห์ ศรีรัมปุระ กูวาฮาติ โกลกาตา และสิลิกูรี ครอบคลุมระยะทางรวมประมาณ 2,800 - 2,820 กิโลเมตร โดยที่ถนนทางหลวงสายนี้ มีระยะทางยาวมากที่สุดในอินเดีย และระยะทางสั้นที่สุดในไทย
แม้ว่าในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา “ตัน ชเว” รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาไม่อาจแสดงความเห็นที่ชัดเจนต่อการจัดการปัญหาและสร้างการเชื่อมต่อจุดพื้นที่รอยต่อในโครงการถนนสามฝ่ายฯ
แต่พัฒนาการล่าสุดที่ทางการเมียนมาได้ประกาศ อภัยโทษ บางข้อหาให้กับ ออง ซาน ซูจี และอดีตประธานาธิบดี อู วิน มยิน ของเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2566 ถือเป็นแนวโน้มทิศทางไปในทางที่ดี ซึ่งสมาชิกกลุ่มความร่วมมือบิมสเทคคงต้องใช้โอกาสนี้พูดคุยแสดงความเห็นอย่างจริงใจ แลกกับผลประโยชน์ที่เมียนมาคิดว่าใช่ เพื่อรักษาภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคไว้ได้