S&P หั่นเครดิตแบงก์สหรัฐหลายแห่ง เตือนผลกระทบดอกเบี้ยสูง

S&P หั่นเครดิตแบงก์สหรัฐหลายแห่ง เตือนผลกระทบดอกเบี้ยสูง

เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของแบงก์สหรัฐหลายแห่ง ซึ่งห่างกันเพียง 2 สัปดาห์หลังจากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคาร 10 แห่งในสหรัฐ

ทั้งนี้ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารคีย์คอร์ป, โคเมริกา อิงค์, วัลเลย์ เนชันแนล แบงคอร์ป, ยูเอ็มบี ไฟแนนเชียล คอร์ป และแอสโซซิเอทเต็ด แบงก์-คอร์ป ลง 1 ขั้นในวันจันทร์ (21 ส.ค.) โดยระบุถึงผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และการโยกย้ายเงินฝากที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภาคธนาคาร

นอกจากนี้ S&P ยังได้ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของธนาคารริเวอร์ ซิตี้ แบงก์ และเอสแอนด์ที แบงก์ ลงสู่ "เชิงลบ" และยังคงให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของธนาคารไซออนส์ แบงคอร์ป เป็น "เชิงลบ"

S&P ระบุในแถลงการณ์ว่า "ผู้ฝากเงินจำนวนมากได้โยกย้ายเงินฝากของตนไปยังบัญชีธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ซึ่งทำให้ธนาคารหลายแห่งมีต้นทุนการระดมเงินที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การลดลงของเงินฝากยังส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารหลายแห่ง ในขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ของธนาคารเหล่านั้น ก็ปรับตัวลงด้วย"

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา มูดี้ส์ได้ปรับลดอันดับความเชื่อถือของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐจำนวน 10 แห่งลง 1 ขั้น และประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดใหญ่ โดยจำนวน 6 แห่งมีแนวโน้มถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตท สตรีท และทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล

ทั้งนี้ มูดี้ส์เตือนว่า ภาคธนาคารของสหรัฐเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น การลดลงของเงินฝาก และอัตราการทำกำไรที่อ่อนแอลง หลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB)