จับสัญญาณ ‘มูดี้ส์’ หั่นเรทติ้ง 10 แบงก์สหรัฐ ส่อสะเทือนเครดิตประเทศ?
4 กูรูทางการเงิน เสียงแตกกรณี “มูดี้ส์” หั่นเครดิตแบงก์ขนาดกลาง-เล็กสหรัฐจะนำไปสู่การลดอันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่เอสแอนด์พีและฟิตช์ปรับลดหรือไม่ ท่ามกลางภาคการจ้างงานสหรัฐที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
Key Points
- มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือแบงก์สหรัฐ 10 แห่งลง
- การปรับลดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานหลังจากฟิตช์ ปรับลดอันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลงจาก AAA อยู่ที่ AA+
- นายจิติพล มองว่า ปีหน้ามีโอกาส 70-80% ที่มูดี้ส์จะปรับลดอันดับบอนด์สหรัฐลง
- ขณะที่นายรัฐศรัณย์ และ นายกิจพณ มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่มูดี้ส์จะปรับลดเครดิตสหรัฐเพราะเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดีและภาคการจ้างงานแข็งแกร่ง
- ส่วนนายประกิต มองว่า อาจเป็นสัญญาณว่ามูดี้ส์เห็นความผิดปกติในสถาบันการเงินสหรัฐ
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา มูดี้ส์ อินเวสเม้นท์ เซอร์วิส (Moody’s Investment Service) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือสัญชาติอเมริกัน ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดกลาง-เล็ก ของสหรัฐทั้งหมด 10 แห่ง ลง 1 ขั้น เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรลดน้อยลง โดยจากผลประกอบการไตรมาส 2 ของภาคธนาคารพาณิชย์ที่หดตัว
โดยธนาคารที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับลงข้างต้น เช่น เอ็มแอนด์ที แบงก์ (M&T Bank), พินนาเคิล ไฟแนนเชียล พาร์ทเนอร์ (Pinnacle Financial Partners), พรอสเพอริตี แบงก์ (Prosperity Bank) และบีโอเค ไฟแนนเชียล คอร์ป (BOK Financial Corp) เป็นต้น
นอกจากนี้ มูดี้ส์ ยังระบุเพิ่มเติมว่า อยู่ในขั้นตอนพิจารณาลดอันดับเครดิตธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐจำนวนหนึ่ง คือ บีเอ็นวาย เมลลอน (BNY Mellon), ยูเอส แบงคอร์ป (US Bancorp), สเตท สตรีท (State Street) และทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล (Truist Financial)
น่าสนใจว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของมูดี้ส์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ฟิตช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) อีกหนึ่งบริษัทจัดอันดับเครดิตของสหรัฐ ปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงจาก AAA ไปอยู่ที่ AA+ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะการใช้ประเด็นเพดานหนี้สาธารณะมาเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมือง
โดยในปัจจุบัน มีเพียง มูดี้ส์ แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงระดับเครดิตของสหรัฐอยู่ในระดับสูงสุด เพราะฟิตช์ เรทติ้งส์ เพิ่งละปรับลดลงไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค. และ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Ratings) ปรับลดลงไปตั้งแต่ปี 2554 แล้ว
คำถามที่นักลงทุนสนใจต่อไปคือ แล้วมูดี้ส์จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทจัดอันดับเครดิตที่ปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงหรือไม่ และท่าทีการปรับลดอันดับของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง-เล็กของสหรัฐครั้งนี้ถือเป็น “สัญญาณเตือน” ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการดังกล่าวใช่ไหม
โดยนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (CGS-CIMB) กล่าวว่า
มีความเป็นไปได้สูงที่มูดี้ส์อาจร่วมกับอีก 2 บริษัทจัดอันดับเครดิตเพื่อลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลง แต่คงไม่ใช่ปีหน้าเพราะผ่านช่วงเวลารีวิวของทั้ง 3 บริษัทจัดอันดับไปแล้วดังนั้นหากจะปรับลด มูดี้ส์อาจปรับลดในปีหน้า
“จริงๆ อันดับเครดิตเพียงหนึ่งขั้นไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการจ่ายหนี้ของรัฐบาลหรอก แต่เป็นเครื่องมือของบริษัทจัดอันดับในการส่งข้อความถึงรัฐบาล ถ้าพิจารณาดูดีๆ หนี้ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของสหรัฐอยู่ที่ 120% ยังได้อันดับเครดิตถึง AAA
ขณะที่เยอรมนีอยู่ที่เพียง 70% เขาก็ได้เท่ากันที่ AAA ส่วนกรีซอยู่ที่ 80% ยังอยู่ที่ A ดังนั้นบริษัทจัดอันดับก็เพียงอาจต้องการส่งสัญญาณว่า คนมีสิทธิพิเศษอะไรถึงขนาดที่หนี้เยอะขนาดนี้แต่ได้อันดับเท่าประเทศอื่นที่มีหนี้ต่อจีดีพีน้อยกว่า”
นายจิติพล ระบุเพิ่มเติมว่า หากมูดี้ส์จะปรับลดจริงๆ อาจเป็นช่วงเดือน ก.ย. เป็นต้นไปเพราะบริษัทจัดอันดับฯ อาจปรับลดเครดิตลงโดยอ้างเหตุผลที่ว่าเศรษฐกิจอเมริกาเกินดุลการคลังอย่างรุนแรงได้
ขณะที่ นายรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผอ. อาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง กล่าวว่า อาจมองได้ว่าท่าทีการปรับลดอันดับเครดิตธนาคารขนาดกลาง-เล็กของมูดี้ส์ครั้งนี้เป็น “สัญญาณ” ในการปรับลดอันดับเครดิตประเทศลงเหมือนที่เอสแอนด์พีและฟิตช์เพิ่งจะปรับลดไป เหตุผลส่วนใหญ่เป็นเพราะกฎหมายของสหรัฐอนุญาตให้นักการเมืองสามารถขยายเพดานหนี้ขึ้นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดหากสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้เพียงพอ
อย่างไรก็ตามโอกาสในการที่มูดี้ส์จะปรับลดอันดับเครดิตประเทศลงนั้นยังน้อยอยู่เนื่องจากแม้สหรัฐจะสามารถสร้างหนี้ได้จำนวนมาก แต่เศรษฐกิจในประเทศก็ยังเติบโตดีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน การจ้างงาน รวมทั้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็ยังอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลมากนักที่มูดี้ส์จะต้องปรับลดอันดับเครดิตประเทศสหรัฐลง
ทว่า หากในอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย (Recession) ภาคการจ้างงานซบเซาลง เศรษฐกิจเติบโตช้าลง อาจมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่มูดี้ส์จะปรับลดอันดับเครดิตประเทศลงตามเอสแอนด์พีและฟิตช์ แต่ทางบัวหลวงยังประเมินว่าในปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐไม่เข้าสู่สภาวะถดถอยแน่นอน ต้องรอประเมินอีกครั้งในปีหน้า
ด้านนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตธนาคารภูมิภาคของสหรัฐลง ไม่ใช่เหตุผลเดียวกับการที่จะปรับลดอันดับเครดิตของตราสารหนี้รัฐบาลลง และยังมีความเป็นไปได้น้อยที่มูดี้ส์จะปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐลงด้วยเนื่องจากเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง
ที่สำคัญการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐกว่า 70% ของจีดีพีมาจากภาคการบริโภค และขณะนี้ภาคการจ้างงานของสหรัฐก็ยังเติบโตดี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับลดอันดับเครดิต
“การปรับลดอันดับจาก AAA มาอยู่ที่ AA+ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ เป็นเพียงเครื่องมือของบริษัทจัดอันดับที่ต้องการส่งข้อความอะไรบางอย่างให้ทางการเท่านั้น ในกรณีของฟิตช์คือต้องการส่งสัญญาณว่าปริมาณหนี้ต่อจีดีพีของสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ ผมก็ยังมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังเติบโตได้อยู่ ส่วนตัวผมมองว่าโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐน้อยมาก”
ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า การที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารในภูมิภาคของสหรัฐลงไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงการที่มูดี้ส์จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
เพราะเขาให้เหตุผลในการปรับลดว่า อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) รวมทั้งกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในภาคธนาคาร ส่งแรกกดดันให้ธนาคารในสหรัฐ ซึ่งมี 100 กว่าแห่งทำกำไรได้น้อยลงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้เหตุผลของการปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารจะไม่ใช่เหตุผลเดียวกันกับการปรับลดอันดับเครดิตของพันธบัตรรัฐบาล ทว่า นายประกิต ระบุว่า อาจเป็นสัญญาณได้คร่าวๆ ว่า
มูดี้ส์อาจพบ “ความผิดปกติ” ของสถาบันการเงินสหรัฐ เพราะจริงๆ แล้ว ข้อมูลล่าสุดก็บ่งบอกว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคของสหรัฐก็ไม่ดี รวมทั้งภาคแรงงานก็โตแบบแผ่ว