‘สี จิ้นผิง’ยืนยันจีนไม่เป็นเจ้าโลก เน้นสร้างการเติบโตร่วมทุกมิติ
‘สี จิ้นผิง’ยืนยันในเวทีประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ จีนไม่เป็นเจ้าโลก เน้นสร้างการเติบโตร่วมทุกมิติ ขณะที่ประชุมสุดยอดครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลปักกิ่งที่มีต่อกลุ่มบริกส์ และมีกว่า 40 ประเทศแสดงความสนใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มนี้
การประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ หรือการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. ที่มีขึ้นในช่วงที่เกิดความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์แทบจะทุกภูมิภาคของโลก ทำให้ชาติตะวันตกจับตาการประชุมของผู้นำกลุ่มบริกส์ว่าจะออกมาในรูปแบบใด
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ เมื่อวันอังคาร(22 ส.ค.)ที่ผ่านมา ว่า “ลัทธิเจ้าโลกหรือการใช้อำนาจครอบงำ ไม่ได้อยู่ในสายเลือดของจีน การก่อตั้งและการประชุมบริกส์ ไม่ใช่การโน้มน้าวให้ประชาคมโลกเลือกข้าง หรือ สร้างกลุ่มเพื่อการเผชิญหน้า แต่เพื่อขยายขอบเขตของสันติภาพและการพัฒนา
ผู้นำจีนยังกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า บริกส์เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเติบโตในทุกมิติ ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับสมาชิก หรือการมุ่งมั่นสร้างความเท่าเทียม
จีน ซึ่งเป็นสมาชิกทรงอิทธิพลของบริกส์ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2552 กับอีก 4 ประเทศในกลุ่ม ประกอบด้วย รัสเซีย อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ พยายามผลักดันให้เกิดการเพิ่มจำนวนสมาชิกมาระยะหนึ่งแล้ว
ถึงแม้จะมีสมาชิกแค่ 5 ประเทศ แต่ประชากรในกลุ่มมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 40% ของประชากรโลก และบริกส์ ยังก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาของตัวเอง เพื่อให้เป็นทางเลือกจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ตะวันตกเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ด้วย
ในส่วนของผู้สังเกตุการณ์ มองว่า การที่ประธานาธิบดีสี เดินทางมาร่วมประชุมที่แอฟริกาใต้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการออกนอกประเทศเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลปักกิ่งในเรื่องนี้ และมีรายงานด้วยว่ามีประเทศต่างๆกว่า 40 ประเทศ แสดงความสนใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์
ด้าน"เจค ซัลลิแวน" ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐไม่ถือว่าบริกส์เป็นคู่แข่งทางภูมิศาสตร์การเมือง แต่รัฐบาลวอชิงตันมุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ รวมทั้งพยายามบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนและต่อต้านการใช้มาตรการทางทหารของรัสเซียในยูเครน
ทั้งนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะผลพวงจากสงครามยูเครน และความเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้นทุกทีระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นตัวเร่งให้ประเทศต่างๆเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มที่ประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา หรือชาติในซีกโลกใต้ขนาดใหญ่เหล่านี้ ซึ่งมีความปั่นป่วนอยู่เป็นระยะๆ จากความแตกแยกภายในประเทศ และการขาดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นตัวเชื่อมเพื่อยึดโยงประเทศเหล่านี้ให้เกาะกลุ่มกันไว้
ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีสีของจีน ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันอังคาร(22ส.ค.)ก่อนที่จะพบปะหารือกับบรรดา่ผู้นำคนอื่นๆ ของกลุ่มในช่วงต่อไปของวันเดียวกัน
ด้านประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย เข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้น3 วันนี้ด้วยตนเองเช่นกัน ต่างจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่เข้าร่วมแบบการประชุมเสมือน โดยส่งเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเป็นตัวแทน
ที่น่าสนใจก็คือ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ตามคำเชิญของประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ในฐานะแขกพิเศษซึ่งการเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนทวีปแอฟริกาครั้งแรกของวิโดโด นับตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนต.ค. ปี 2557 โดยหลังจากเข้าร่วมประชุมกับสมาชิกกลุ่มบริกส์ วิโดโดมีกำหนดการเยือนเคนยา แทนซาเนีย และโมซัมบิก เพื่อยกระดับความร่วมมือทวิภาคีกับแต่ละประเทศ
แทนซาเนียและเคนยาเพิ่งเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงจาการ์ตา เมื่อปีที่แล้ว ส่วนโมซัมบิก เป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกา ที่ลงนามในข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิพิเศษทางการค้า ( พีทีเอ ) กับอินโดนีเซีย
ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีนั้น "อิบราฮิม ปาเทล" รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของแอฟริกาใต้ เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม พร้อมทั้งให้การต้อนรับตัวแทนประมาณ 1,200 คนจาก 5 ชาติสมาชิก รวมทั้งตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายสิบประเทศ โดยคาดว่าในการประชุมตลอด 3 วันนี้จะมีประมุขจากประเทศต่างๆกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม
ประเด็นสำคัญที่อยู่ในวาระการประชุมของชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์คือ การใช้สกุลเงินท้องถิ่นของชาติสมาชิกในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกัน แต่ผู้จัดการประชุมยืนยันว่าจะไม่มีการหารือเรื่องการก่อตั้งสกุลเงินบริกส์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่บราซิลนำเสนอเมื่อต้นปีนี้ เพื่อเป็นตัวเลือกแทนการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมาคือประเด็นร่วมมือกันมากขึ้นด้านการเกษตร เหมืองแร่ พลังงาน การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้า เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีความรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากบรรดาสถาบันระหว่างประเทศที่นำโดยตะวันตกอย่างสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)