‘บริกส์พลัส’ โอกาส ‘ไทย’ เลี่ยงวิกฤติการเงินตะวันตก?
“ไทย” หนึ่งในลิสต์ประเทศสนใจร่วม “บริกส์พลัส” ท่ามกลางการเมืองระหว่างประเทศ แข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ และมองหาสกุลเงินใหม่ ทางเลือกใช้ดอลลาร์ คานอำนาจชาติตะวันตก
จริงหรือไม่ มีพรายกระซิบมาว่า “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนประเทศไทย เดินทางไปร่วมประชุมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือบริกส์ (BRICS) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 24 ส.ค.2566 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ในฐานะประเทศที่สนใจร่วมเข้าเป็นพันธมิตรกลุ่มบริกส์ หรือบริกส์พลัส
จำนวนประเทศที่แสดงความเต็มใจจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรบริกส์ และอาจจะต้องยอมรับสกุลเงินใหม่ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมื่อเดือน เม.ย. ลิสต์ประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรมี 19 ประเทศ แต่ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยมี 8 ประเทศจากภูมิภาคแอฟริกา และเพียงสองเดือนเท่านั้น มีประเทศที่แสดงตัวเข้าร่วม 22 ประเทศ
ขณะนี้มีประเทศที่สนใจเข้าร่วม ก่อนการประชุมสุดยอดบริกส์จะเริ่มในวันนี้ รวม 41 ประเทศ เช่น ไทย อินโดนีเซีย บราซิล อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี ปากีสถาน เป็นต้น
ปัจจุบัน บริกส์มีสมาชิกได้แก่บราซิล จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ อาจจะกลายเป็นบริกส์พลัสในไม่ช้า ซึ่งการตัดสินใจขยายพันธมิตรจะเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดบริกส์ ครั้งที่ 15
พันธมิตรบริกส์เป็นไอเดียบรรเจิดของจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเมื่อเดือน พ.ค. 2565 “หวัง อี้” มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้เสนอโมเดลการเปิดรับบริกส์พลัส มุ่งยกระดับการสื่อสารและประสานงานเชิงกลยุทธ์ระหว่างประเทศสมาชิกบริกส์กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่เน้นการพัฒนา “ระเบียบโลกใหม่” ให้ความยุติธรรมและเท่าเทียมเสมอภาค ตามหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่พูดใช้คำสวยงามและขายฝัน
แล้วการเข้าร่วมบริกส์พลัส ไทยจะได้ประโยชน์ต่อยอดจากการเข้าร่วมกับ “ระบบเศรษฐกิจโลก” มากขึ้น ในแง่ที่ไทยเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งอาเซียนมีความร่วมมือกับคู่เจรจาที่อยู่ในกลุ่มบริกส์ อยู่ 3 ประเทศคือ จีน รัสเซีย และอินเดีย
“วิกฤติการเงินในสหภาพยุโรปในขณะนี้ อาเซียนรวมถึงไทยควรให้ความสำคัญและแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มบริกส์ให้มากขึ้น สิ่งสำคัญเราต้องกำหนดทประเด็นและแนวทางความร่วมมือให้ชัดเจน และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับบริกส์ ตลอดจนให้เกิดประโยชน์สูงสุด” แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศระบุ
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจรายงานถึงแนวโน้มความเป็นไปของสกุลเงินบริกส์ หวังลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ แต่ขณะนี้ บริกส์กำลังประสบปัญหาชำระหนี้ตนเอง
หลายประเทศ โดยเฉพาะในแอฟริกาเฝ้าสังเกตสถานการณ์ร้อนๆ ของกลุ่มบริกส์อย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่ได้แสดงเจตนารมย์ใช้สกุลเงินบริกส์ ที่อาจจะประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ในทางกลับกัน เคนยามีท่าทีเชิงรุกกว่าใคร โดยเรียกร้องให้ประเทศในแอฟริกายุติการใช้เงินดอลลาร์ และสนับสนุนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคแทนดอลลาร์
ปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์เป็นเรื่องร้อนๆ ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งในแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศที่มีค่าเงินตกต่ำ หรือไม่เสถียร
ประเทศเหล่านี้ มักจะใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรอง เพื่อสนับสนุนสกุลเงินตนเอง อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ถ้าเมื่อใด เกิดการขาดแคลนเงินดอลลาร์ ธุรกิจและบุคคลต่างๆ มักต้องเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
การพิจารณาร่วมเป็นพันธมิตรบริกส์ ถือเป็นโจทย์สำคัญของไทย ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มบริกส์ให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยเฉพาะต่อยอดเพื่อแสวงหาตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพให้ภาคธุรกิจและเอกชนไทย แทนประเทศทางตะวันตกที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจและการเงินอยู่ตอนนี้