เปิดมาตรการนานาชาติ รับมือ ‘อาหารทะเลญี่ปุ่น’ ปมน้ำเสีย ‘โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ’

เปิดมาตรการนานาชาติ รับมือ ‘อาหารทะเลญี่ปุ่น’ ปมน้ำเสีย ‘โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ’

“จีน” เป็นชาติแรกๆ ที่แบน “อาหารทะเลญี่ปุ่น” จากปัญหาน้ำเสียบำบัดแล้วของ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ล่าสุด มีหลายชาติเข้าร่วมเพิ่ม ขณะที่อีกหลายประเทศมีมาตรการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าอย่างเข้มงวด รวมถึง “ไทย”

Key Points:

  • หลังญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ลงสู่มหาสมุทร ทำให้หลายประเทศกังวลเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีนที่ประกาศแบนอาหารทะเลญี่ปุ่นเป็นชาติแรก
  • หลัง “จีน” ประกาศได้ไม่นาน ฮ่องกง และมาเก๊าก็ออกคำสั่งงดนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเช่นกัน ตามมาด้วยประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนบางประเทศแม้ไม่ได้งดการนำเข้า แต่ก็มีมาตรการทดสอบสารปนเปื้อนอย่างเข้มงวด
  • จีน และฮ่องกงถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมอาหารทะเลญี่ปุ่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ญี่ปุ่นจึงสูญเสียรายได้มหาศาลจากการส่งออก รวมถึงอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

ความกังวลต่อการนำเข้า “อาหารทะเลญี่ปุ่น” ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วออกจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศประกาศยกเลิกการนำเข้าสินค้าดังกล่าว แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยืนยันว่าการปล่อยน้ำเสียครั้งนี้จะผ่านการดำเนินการที่รัดกุม และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สำหรับชาติที่ประกาศงดนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเป็นที่แรกคือมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่าง “จีน” โดยรายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ซุน เหว่ยตง (Sun Weidong) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า “การกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดความเสี่ยงของมลพิษทางนิวเคลียร์อย่างโจ่งแจ้ง ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนและประชาคมระหว่างประเทศ”

  • พี่ใหญ่เอเชีย “จีน” นำทีมแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

หลังจากนั้นทางการจีนได้ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด ทางสำนักงานศุลกากรของจีนประกาศว่าจะขยายเวลาการห้ามนำเข้าสินค้าบางส่วนจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น เพื่อให้ครอบคลุมทั้งญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน เพราะมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ที่อาจอยู่ในอาหารทะเล และผลผลิตอื่นๆ ของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Reuters ระบุว่า ทางการจีนห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ขาดหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นอีกด้วย แม้ว่า ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะออกมายืนยันหลายครั้งแล้วว่า การปล่อยน้ำเสียออกจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ได้ผ่านกระบวนการบำบัดตามหลักวิทยาศาสตร์

  • ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน งดนำเข้าอาหารทะเลจากแถบ “ฟุกุชิมะ”

หลังจากจีนแผ่นดินใหญ่ประกาศแบน “อาหารทะเลจากญี่ปุ่น” ต่อมาเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมาเก๊าของจีน ก็สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

โดยรัฐบาลฮ่องกงไม่เพียงแค่หยุดนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังตั้งทีมงานพิเศษเพื่อติดตามและกำกับดูแลสินค้าดังกล่าวอีกด้วย ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารแห้ง รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆ พร้อมทั้งมีการรายงานผลการสุ่มตรวจอาหารทะเลจากญี่ปุ่นให้ประชาชนสามารถติดตามได้ทุกวัน ส่วนอาหารทะเลญี่ปุ่นจากภูมิภาคอื่นๆ ยังสามารถนำเข้าได้แต่ต้องผ่านการตรวจสอบก่อน

ด้านไต้หวันก็ได้เข้าร่วมรายชื่อประเทศที่ประกาศงดนำเข้าอาหารญี่ปุ่นในบางจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ก่อนหน้านี้ไต้หวันเคยตรวจพบกัมมันตรังสีระดับเล็กน้อยในถั่วปากอ้าจากญี่ปุ่น และต่อมาได้ตัดสินใจงดนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น หลังตรวจพบกัมมันตรังสีอีกครั้งในหอยลายญี่ปุ่น

แม้แต่มาเลเซียเองทางรัฐบาลก็มีคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่มาจากญี่ปุ่น เพราะมีความกังวลว่าประชาชนจะได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน โดยกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ระบุว่า จะมีการเก็บตัวอย่างอาหารไปตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัยตามกฎระเบียบด้านอาหารที่บังคับใช้ในประเทศ

  • หลายประเทศตรวจสารกัมมันตรังสีอาหารทะเลญี่ปุ่นเข้มงวด

แม้ว่าอีกหลายประเทศจะยังไม่ระงับการนำเข้าอาหารทะเลและสินค้าอื่นๆ จากญี่ปุ่น แต่ก็เพิ่มมาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารที่มาจากญี่ปุ่นอย่างรัดกุมมากขึ้น

โดยเกาหลีใต้มีการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าอย่างเข้มงวดเป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยตรวจสอบไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค. และมิ.ย. ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการรวบรวมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยในการตรวจสอบ รวมถึงเพิ่มการลงตรวจตามร้านค้าและศูนย์กระจายสินค้าในประเทศประมาณ 20,000 แห่ง

ด้าน พัค ซองฮุน (Park Sung-hoon) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาสมุทร ระบุว่า “การตรวจสอบในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งจะเน้นไปที่ ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าปลีก โดยให้ทำเครื่องหมายแสดงที่มาของสินค้าอย่างชัดเจน การตรวจสอบใช้เวลาประมาณ 100 วัน เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย”

นอกจากนี้ยังขยายการตรวจสอบให้ครอบคลุมอาหารแห้งและอาหารแปรรูปที่นำเข้าจากญี่ปุ่นด้วย

ในสิงคโปร์มีรายงานจากสำนักงานเกษตรอาหารและสัตวแพทย์ว่า พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสินค้าอย่างน้อย 4 ชนิด ทำให้ต้องมีการตรวจสอบโดยละเอียดมากขึ้นเพื่อไม่ให้สุขภาพของประชาชนอยู่ในอันตราย

ด้านนิวซีแลนด์กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารบางรายการที่นำเข้าจากญี่ปุ่น โดยกระทรวงป่าไม้และการเกษตร มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนี้

ในส่วนของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย อยู่ระหว่างออกข้อกำหนดในการนำเข้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่มาจากญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทยก็ได้ยกระดับการสุ่มตรวจและทดสอบหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นเช่นกัน รวมถึงขอความร่วมมือให้ผู้ค้าหลีกเลี่ยงการนำเข้าผักและผลไม้จากเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น

  • ความเสียหายอุตสาหกรรมอาหารทะเล ราคาที่ญี่ปุ่นต้องจ่าย

แน่นอนว่าการที่หลายประเทศออกมาตอบโต้การปล่อยน้ำเสีย (แม้จะผ่านการบำบัดแล้ว) ออกจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ด้วยการประกาศงดนำเข้า หรือจำกัดการนำเข้า “อาหารทะเลญี่ปุ่น” ย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของญี่ปุ่นได้รับความเสียหายตามมา โดยความเสียหายที่ใหญ่ที่สุดคือ การถูกแบนจาก “จีน” นั่นเอง

อุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นนั้น ส่วนมากจะถูกส่งออกไปยังจีนเป็นหลัก โดยในปี 2022 ญี่ปุ่นส่งออกผลผลิตไปที่จีนประมาณ 600,000 ตัน มีมูลค่ารวมประมาณ 278 พันล้านเยน ทำให้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนี้ ตามมาด้วย “ฮ่องกง” ที่มีการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมูลค่ารวมประมาณ 2.09 แสนล้านเยน โดยรวมแล้วยอดขายขายที่ญี่ปุ่นส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงคิดเป็นร้อยละ 42 ของการส่งออกทั้งหมด

เปิดมาตรการนานาชาติ รับมือ ‘อาหารทะเลญี่ปุ่น’ ปมน้ำเสีย ‘โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ’ สัดส่วนการส่งออกอาหารทะเลจากญี่ปุ่น (Bloomberg)

นอกจากนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 “เกาหลีใต้” มีการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด 10,710 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2 ของการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดของประเทศ

ทั้งนี้บริษัทส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ในญี่ปุ่น Maruha Nichiro Corp. ที่มีรายได้ประมาณร้อยละ 5 มาจากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย และบริษัท Nishimoto Co. ที่มียอดขายในอเมริกาเหนือและยุโรปประมาณร้อยละ 8 มียอดขายตกต่ำลง 0.09% ในวันพุธที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำออกจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” เพียงวันเดียว

นอกจากนี้ทางการญี่ปุ่นอ้างว่า สถานที่ราชการของญี่ปุ่นในจีนถูกขว้างปาสิ่งของใส่ แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ส่วนหน่วยงานราชการในเมืองฟุกุชิมะเองก็มีโทรศัพท์เข้ามาโจมตีหลายร้อยสายด้วยภาษาจีน ทำให้กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นต้องเร่งประสานงานกับเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงโตเกียว เพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการกระทำเหล่านั้น มาจากคนกลุ่มใด

ท้ายที่สุดแล้วญี่ปุ่นก็ต้องพบเจอกับผลพวงที่ตามมาจากการปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนในประเทศ และหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียรายได้มหาศาล รวมถึงปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คาดว่าจะแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากหลายประเทศเคยขอให้ญี่ปุ่นทบทวนการปล่อยน้ำเสียดังกล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ทางการญี่ปุ่นกลับเดินหน้าต่อ จนนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการค้าและทางการทูตในที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูล : NewsReutersBloomberg, The Epoch Times, Korea Times, China Daily, voi, WSJ (1) และ WSJ (2)

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์