ตรวจพบ ‘สารกัมมันตรังสี’ ในปลาทะเลแถบ ‘ฟุกุชิมะ’ เกินกฎหมายกำหนดถึง 180 เท่า
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในปลาและแหล่งน้ำในฟุกุชิมะ แต่ล่าสุดพบว่ามีปลาปนเปื้อน “สารกัมมันตรังสี” เกินกฎหมายกำหนด 180 เท่า ในแหล่งน้ำใกล้ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์”
Key points:
- ปัญหาสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในแหล่งน้ำใกล้ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากการตรวจสอบพบว่า ปลาทะเลแถบนี้มี “สารกัมมันตรังสี” เกินกฎหมายกำหนด ถึง 180 เท่า
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมีแผนเตรียมปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารอันตรายลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก หลังเกิดปัญหาระบบหล่อเย็นในโรงงานล้มเหลวจากเหตุการณ์สึนามิปี 2011
- แม้การปล่อยน้ำเสียครั้งนี้จะได้รับการยืนยันจากผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะว่า เป็นน้ำที่ผ่านขั้นตอนการบำบัดอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้
ประเด็นสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำใกล้ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ส่งผลกระทบตั้งแต่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ไปจนถึงสิ่งที่ชีวิตที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ” จังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออกของญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 จนเกิดปัญหาระบบหล่อเย็นในโรงงานล้มเหลว ทำให้เครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่อง จากทั้งหมด 6 เครื่อง มีการรั่วไหลต่อเนื่อง
จากความเสียหายดังกล่าวทำให้ในปี 2021 มีน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่กักเก็บไว้บริเวณโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์และแหล่งหล่อเย็นขยะเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นประมาณ 140 ตันต่อวัน และในปี 2022 มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากถึงประมาณ 1.285 ล้านตัน ถูกกักเก็บอยู่ในแท็งก์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ดังนั้นเมื่อมีน้ำเสียในโรงงานถูกกักเก็บอยู่เป็นจำนวนมากจนใกล้จะเต็มอัตราความจุ ทำให้ Tokyo Electric Power Company (TEPCO) หรือ บริษัท โตเกียวอิเล็กทริกเพาเวอร์ ผู้ดำเนินการ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” เตรียมจะปล่อยน้ำเสียดังกล่าวลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
ข้อมูลจาก Channel News Asia ระบุว่า ญี่ปุ่นประกาศว่าจะปล่อยน้ำเสียดังกล่าวตั้งแต่ในปี 2021 เพราะคาดว่า แท็งก์บรรจุน้ำเสียในโรงไฟฟ้าจำนวน 1,000 แท็งก์ ใกล้ เต็มความจุที่ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในต้นปี 2024 แม้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ แต่ที่ผ่านมาก็มีรายงานด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง ล่าสุดมีข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบ “สารกัมมันตรังสี” ในปลาทะเลที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าดังกล่าว สูงกว่ากฎหมายกำหนดถึง 180 เท่า โดยเฉพาะสาร “ซีเซียม-137”
- “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” และปัญหาน้ำเสียในมหาสมุทร
แม้ว่าการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ TEPCO คาดการณ์ไว้ว่าจะดำเนินการในปี 2024 จะเป็นน้ำที่ผ่านขั้นตอนการบำบัดแล้ว และยืนยันว่ามีกัมมันตรังสีปนเปื้อนน้อยกว่าแหล่งน้ำในธรรมชาติ แต่การปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดดังกล่าวก็ยังสร้างความกังวลให้กับชาวญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติแล้วก็ตาม
โดยในจีนเริ่มมีการทดสอบสารกัมมันตภาพรังสีจากอาหารทะเลที่นำเข้าจากญี่ปุ่น และมีผู้ค้าส่งบางรายได้ยุติการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากญี่ปุ่นแล้ว ด้านฮ่องกงระบุว่าห้ามนำเข้าอาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ส่วนเกาหลีใต้และประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิกบางแห่ง ก็แสดงความวิตกกังวลในเรื่องน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเป็นอย่างมาก เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยรวม แต่รัฐบาลญี่ปุ่นและ TEPCO ยืนยันว่า การระบายน้ำเสียออกจากโรงงานนั้นเป็นเรื่องจำเป็น
สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการหลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียของ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” อาจยังมีแร่ทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี หลงเหลืออยู่ แม้น้ำจะผ่านการบำบัดแล้วก็ตาม แต่หากตกค้างสะสมอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมากในระยะเวลายาวนาน ก็จะส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อาหารของพืชและสัตว์ทะเลได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแร่ทริเทียมจะซึมเข้าผิวหนังของมนุษย์ได้ยาก แต่หากบริโภคน้ำที่มีการปนเปื้อนสารนี้เข้าไปเป็นประจำก็จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง แต่ทาง “TEPCO” ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและมีการตรวจสอบเป็นประจำ
โดยระดับปนเปื้อนของทริเทียมที่จะมีการปล่อยลงสู่ทะเลในแต่ละปีจะมีระดับต่ำกว่า 22 ล้านล้านเบคเคอเรล (หน่วยวัดปริมาณสารปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่ม) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่มีการกำหนดไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดผลกระทบจากเหตุการณ์ “สึนามิ”
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ แต่ก็ยังมีการตรวจพบ “สารกัมมันตรังสี” จากแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้เคียง ซึ่งในที่สุดส่งผลกระทบถึงสัตว์น้ำแล้ว
- เมื่อปลาในฟุกุชิมะ มีสารกัมมันตรังสีสูงเกินมาตรฐาน
หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากปัญหาน้ำปนเปื้อนใกล้ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ก็คือ ปลาที่ฟุกุชิมะได้รับการปนเปื้อนจาก “สารกัมมันตรังสี” เกิดกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยจากการตรวจสอบของทาง TEPCO ซึ่งมีการตรวจสอบตั้งแต่ พ.ค. 2022 พบว่ามีปลาทั้งหมด 44 ตัว มีค่า “ซีเซียม-137” สูงถึง 18,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2022 ที่ผ่านมา ตรวจพบปลาไหลที่มีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนสูงถึง 1,700 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม และเมื่อเดือน เม.ย. 2023 ก็พบปลาเทราต์ที่มีซีเซียม-137 ปนเปื้อนสูงถึง 1,200 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม รวมทั้งยังมีปลาอีกหลายชนิดที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ
สำหรับอันตรายของซีเซียม-137 ในเบื้องต้นหากสัมผัสสารกัมมันตรังสีโดยตรง อาจจะมีอาการดังนี้ มีไข้, คลื่นไส้, อาเจียน, เบื่ออาหาร, ถ่ายเหลว, ผิวหนังเกิดแผลไหม้พุพอง และหากสัมผัสในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อระบบเลือด ไขกระดูก ระบบประสาท มีอาการชักเกร็ง ไปจนถึงเสียชีวิต ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสีที่ได้รับ และแม้ว่าไม่ได้สัมผัสโดยตรงแต่หากได้รับสารดังกล่าวสะสมในร่างกายเป็นเวลานานก็อันตรายไม่แพ้กัน
แม้ว่าการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” จะได้รับการยืนยันจาก “TEPCO” ว่า ผ่านขั้นตอนที่ทำให้เกิดสารปนเปื้อนน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในอนาคตต่อไปหากโรงงานปล่อยน้ำ (บำบัดแล้ว) ดังกล่าวลงสู่มหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าปลาทะเลจากฟุกุชิมะจะปลอดสารกัมมันตรังสี และมนุษย์ก็อาจขาดแคลนอาหารเพราะปลาเหล่านั้นมีสารอันตรายเกินกว่าจะกินได้แน่นอน!
อ้างอิงข้อมูล : Channel News Asia, The Guardian, Greenpeace, The Standard และ กรมประชาสัมพันธ์