‘โลกร้อน’ ไม่หยุด! ส่งผล ‘กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม’ หายไปใน 3 ปี ?
“ภาวะโลกร้อน”ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ล่าสุด “กัลฟ์สตรีม” หรือ “กระแสน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก” อาจล่มสลายภายในปี 2025 ซึ่งเกิดขึ้นเร็วผิดปกติ นำมาสู่ความหายนะทางสภาพอากาศ
Keypoints:
- หนึ่งในผลกระทบใหญ่ที่เกิดจาก “ภาวะโลกร้อน” คือ กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม กำลังจะล่มสลายภายในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า
- กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม มีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพอากาศโลก เนื่องจากมีหน้าที่ส่งกระแสน้ำอุ่นไปยัง “มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ” เพื่อสร้างสมดุลสภาพอากาศ
- หากกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมถูกทำลายจนล่มสลายไปในที่สุด จะทำให้เกิดหายนะทางสภาพอากาศในทุกพื้นที่ทั่วโลก
ปัญหาจาก “ภาวะโลกร้อน” ยังคงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์อย่างต่อเนื่อง หลังงานวิจัยล่าสุดจากวารสาร Nature ระบุว่า Gulf Stream (กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม) ที่มีชื่อเต็มว่า Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC) หนึ่งในกระแสน้ำหลักของโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก อาจล่มสลายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุดคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นภายในปี 2025 หรือในระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า
สาเหตุหลักที่ทำให้กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมล่มสลาย คือ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมหาศาล ซึ่งสร้างมลภาวะสะสมต่อโลกจนเกิดภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า “AMOC” จะเริ่มถูกทำลายตั้งแต่ปี 2025 และอาจสูญหายไปภายในปี 2050 หรือภายใน 27 ปีหลังจากนี้ ทำให้เกิดหายนะทางสภาพอากาศโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต
- ความสำคัญของ “กระแสน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก”
สิ่งที่ทำให้ “AMOC” เป็นหนึ่งในกระแสน้ำที่มีความสำคัญที่สุดในโลกก็เป็นเพราะว่า มันมีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารและนำพาน้ำอุ่นภายในมหาสมุทรเขตร้อน ส่งขึ้นไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เพื่อถ่ายเทอุณหภูมิความอบอุ่นให้แก่พื้นที่แถบยุโรปตะวันตก ป้องกันไม่ให้เจอกับสภาพอากาศที่หนาวจัดจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
หลังจากนั้นเมื่อกระแสน้ำมีความเย็นตัวลงก็จะจมลงไปใต้ทะเลลึก ขณะเดียวกันมวลน้ำข้างใต้ก็จะไหลขึ้นมาแทนที่ พร้อมกับนำเอาสารอาหารจากใต้ท้องทะเลขึ้นมาด้านบนด้วย จากนั้นกระแสน้ำก็จะเริ่มต้นวงจรการไหลเวียนอีกครั้ง
อีกบทบาทสำคัญของกัลฟ์สตรีมคือ คอยควบคุมรูปแบบของสภาพอากาศทั่วโลก หากกระแสน้ำเหล่านี้หายไปก็จะทำให้ฤดูหนาวมีความรุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้พื้นที่บางส่วนของยุโรปและสหรัฐ ได้รับผลกระทบจากความหนาวเย็นสุดขีด รวมถึงการเคลื่อนตัวของลมมรสุมในเขตร้อนก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย
- เมื่อกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมหายไป โลกจะเข้าสู่หายนะ?
ข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า AMOC ประสบปัญหามากที่สุดในรอบ 1,600 ปี โดยนักวิจัยระบุว่า พบสัญญาณเตือนปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2021 และมีการประเมินว่ากระแสน้ำอาจจะเริ่มล่มสลายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป และอาจหายไปภายในปี 2050
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า การล่มสลายของ “AMOC” จะส่งผลร้ายแรงทั่วโลก เช่น ในแถบยุโรปจะเกิดพายุมากขึ้น แต่มีอุณหภูมิลดลง ฝั่งอเมริกาเหนือจะมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ขณะที่ด้านอินเดีย อเมริกาใต้ และแอฟริกาตะวันตก อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร นอกจากนี้ป่าแอมะซอนและแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกก็อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย
สิ่งที่ทำให้ AMOC อาจล่มสลายในอนาคตอันใกล้นี้เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมาก ด้าน Peter Ditlevsen (ปีเตอร์ ดิตเลฟเซน) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในผู้วิจัยมองว่า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เพราะเมื่อประมาณ 115,000 ปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของสภาพอากาศที่นักวิทยาศาสตร์กังวลอย่างมาก เนื่องจากทุกวันนี้อุณหภูมิโลกยังคงร้อนขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
ด้าน Stefan Rahmstorf (สเตฟาน ราห์มสตอร์ฟ) จากมหาวิทยาลัยพอทสดัม ประเทศเยอรมนีระบุว่า แม้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจุดเปลี่ยนของ AMOC อยู่บริเวณไหน แต่หลักฐานจากการวิจัยชี้ว่า อาจจะอยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
นอกจากนี้ผลของการวิจัยเมื่อปี 2022 พบว่าสภาพอากาศโลกอาจผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 5 ครั้ง โดยเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 1.1 องศาเซลเซียส ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้น้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นจนแผ่นน้ำแข็งบริเวณกรีนแลนด์ทยอยละลายหายไปเรื่อยๆ
จากนั้นน้ำจืดจากน้ำแข็งที่ละลายจะไหลลงสู่มหาสมุทรมากขึ้น และลดความหนาแน่นของน้ำทะเล ทำให้น้ำหมุนเวียนไปด้านล่างได้น้อยลง เมื่อน้ำจืดมีปริมาณมากเกินไป และอุ่นเกินไป ก็จะทำให้กระแสน้ำหยุดทำงานไปในที่สุด
โดยสรุปแล้วทีมวิจัยประเมินภาพรวมจากการสรุปผลวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 1870 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อได้ว่ากระแสน้ำ “กัลฟ์สตรีม” กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมนุษย์จำเป็นต้องหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีในตอนนี้ ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลาม และส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพอากาศทั่วโลก
อ้างอิงข้อมูล : Nature, The Guardian และ CNN