ทำไมพบ 'ปลาออร์ฟิช' หรือ 'ปลาพญานาค' บริเวณน้ำตื้น? ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำลึก

ทำไมพบ 'ปลาออร์ฟิช' หรือ 'ปลาพญานาค' บริเวณน้ำตื้น? ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำลึก

รู้หรือไม่? "ปลาออร์ฟิช" หรือ "ปลาพญานาค" บ้างก็เรียก “ปลาริบบิ้น” ซึ่งเป็นปลาทะเลน้ำลึกที่ไม่ได้พบเจอได้ง่ายๆ แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับมีคนพบเห็นพวกมันบริเวณน้ำตื้นมากขึ้น จนเกิดการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นใต้ท้องทะเล

Key Points:

  • Oarfish (ออร์ฟิช) หรือปลาริบบิ้น หรือ ปลาพญานาค เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกประมาณ 1,000 เมตร ทำให้พบเห็นได้ยากบริเวณน้ำตื้น
  • ในแถบเอเชียมีความเชื่อว่าหากพบเห็นปลาพญานาคบริเวณน้ำตื้น อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังจะเกิดภัยพิบัติ แต่ก็ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้
  • เหตุผลสำคัญที่พบเห็นปลาน้ำลึกบริเวณผิวน้ำมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พวกมันกำลังอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ เนื่องจาก “ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงไปด้วย แม้ในทะเลลึกที่แสงแดดส่องไม่ถึง

ได้ชื่อว่าเป็น “ปลาทะเลน้ำลึก” แน่นอนว่าพวกมันต้องมีถิ่นที่อยู่ ใต้ทะเลที่มีความลึกตั้งแต่ประมาณ 600-8,370 เมตร หรือเรียกได้ว่าเป็นส่วนของทะเลที่มีความลึกจนแสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ถึง แม้ว่าปลาน้ำลึกเหล่านี้จะมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่นักสำรวจสามารถศึกษาค้นพบได้ เพียงแค่ 2% เท่านั้น เพราะการลงไปสำรวจใต้น้ำลึกขนาดนั้นเป็นเรื่องยากและมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างมาก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมีรายงานการพบปลาน้ำลึกบริเวณน้ำตื้นมากขึ้น

เนื่องจากน้ำทะเล ณ จุดความลึกระดับนั้นเป็นห้วงน้ำที่ไร้แสง ส่งผลให้น้ำมีอุณหภูมิต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 3 องศาเซลเซียส จนถึงระดับติดลบ 1.8 องศาเซลเซียส รวมถึงมีแรงดันมหาศาลระหว่าง 2-100 เมกะปาสคาล นอกจากนี้ยังมีออกซิเจนต่ำอีกด้วย ส่งผลให้บรรดาปลาน้ำลึกต้องมีวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมแบบสุดขั้ว จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พวกมันมีหน้าตาแปลกประหลาดไม่เหมือนปลาทั่วไป และในบางสายพันธุ์ก็สามารถเรืองแสงได้ด้วย

โดยหนึ่งใน “ปลาน้ำลึก” ที่มีลักษณะโดดเด่นคงหนีไม่พ้น “Oarfish” บางคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่ถ้ากล่าวถึง “ปลาพญานาค” แน่นอนว่าหลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นปลาที่ถูกนำมาผูกโยงเข้ากับความเชื่อและวัฒนธรรมของผู้คนในหลายประเทศ บางประเทศเชื่อว่าพวกมันคือปลาที่คอยแจ้งเตือนว่าจะเกิด "ภัยพิบัติ" ขึ้น หากมีคนพบเห็นมันขึ้นมาว่ายอยู่บริเวณน้ำตื้น และล่าสุดมีรายงานจาก USA today ว่า มีกลุ่มนักดำน้ำบังเอิญเจอปลาพญานาคที่ยังมีชีวิตว่ายอยู่บริเวณน้ำตื้นนอกชายฝั่งไต้หวันเมื่อไม่นานมานี้

ปลา Oarfish บริเวณน้ำตื้นนอกชายฝั่งไต้หวัน จาก Sky News

 

  • ปลาพญานาค และคำทำนายภัยพิบัติ?

เมื่อพูดถึงความเชื่อเกี่ยวกับปลาริบบิ้นหรือปลาพญานาค พบว่าส่วนมากจะได้รับการพูดถึงในแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น ว่ากันว่าถ้าหากใครได้พบเจอกับปลาชนิดนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด เพราะมีความเชื่อว่าปลาน้ำลึกเหล่านี้เมื่อพบเจอกับแรงสั่นสะเทือนหรือรอยแยกใต้ทะเลจะทำให้พวกมันตกใจและหนีขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในประเด็นดังกล่าว

สำหรับเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ปลาพญานาค” นั้น มีความแตกต่างกันออกไปตามประเทศที่พบเจอ เช่น ในญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าพวกมันคือ ผู้ส่งสารจากวังแห่งท้องทะเล โดยมีชื่อเรียกว่า Ryuuguu no Tsukai ซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าพวกมันได้รับคำสั่งให้มาเตือนมนุษย์นั่นเอง และสำหรับชาวจีนเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลามังกร” เนื่องจากมีรูปร่างที่คล้ายกับมังกรตามความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าจีน

สำหรับลักษณะทั่วไปของปลาพญานาค เป็นปลากระดูกแข็ง ลำตัวยาวมากเป็นพิเศษ มีถิ่นที่อยู่อาศัยที่ความลึกประมาณ 1,000 เมตรใต้ท้องทะเล ทำให้พบเห็นได้ยาก (นอกจากพวกมันจะตายแล้วถูกซัดขึ้นมาเกยตื้นตามชายหาด) พวกมันมีความยาวสูงสุดถึง 9 เมตร และมีน้ำหนักมากที่สุดได้ถึง 300 กิโลกรัม เป็นปลาที่มีส่วนหัวขนาดใหญ่ ลำตัวแบนสีเงิน มีจุดสีฟ้าและดำเล็กน้อย มีครีบหลังสีชมพูแดง และมีอวัยวะคล้ายหงอนบนส่วนหัว จึงเป็นที่มาของชื่อไทยๆ ว่า “ปลาพญานาค” ตามความเชื่อของคนไทย

ขณะที่เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่าปลาพญานาคเป็นผู้ทำนายภัยพิบัตินั้น มีหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เช่น จากรายงานของ Reconstruction พบว่า เมื่อปี 2011 เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 คน และก็มีคนเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ที่มีผู้พบเห็นปลาพญานาคขึ้นมาว่ายน้ำอยู่บริเวณชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อช่วงปี 2010

ต่อมาในไต้หวันมีรายงานจาก Taiwan News ว่า ในปี 2020 ชาวประมงจับปลาพญานาคได้ที่นอกชายฝั่งอ่าวตงอ่าว เขตอี๋หลาน ที่อยู่ทางตะวันออกของไต้หวัน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวถึงสองครั้งในบริเวณดังกล่าว

ทำไมพบ \'ปลาออร์ฟิช\' หรือ \'ปลาพญานาค\' บริเวณน้ำตื้น? ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำลึก
ภาพปลา Oarfish ที่ถูกจับได้ที่ไต้หวันเมื่อปี 2020 จาก Taiwan News

แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ หลายคนก็ยังเชื่อว่าการพบเจอปลาพญานาคบริเวณน้ำตื้นนั้น นอกจากจะทำให้เตรียมรับมือกับภัยพิบัติได้ในเบื้องต้นแล้ว บางคนยังมองว่าอาจเป็นเพราะพื้นที่น้ำลึกใต้ทะเลกำลังมีปัญหาจึงทำให้พวกมันไม่สามารถอยู่อาศัยได้ 

 

  • ภาวะโลกร้อนทำให้พบ "ปลาน้ำลึก" บริเวณน้ำตื้นบ่อยขึ้น?

ในอดีตการพบซาก “ปลาน้ำลึก” หายากที่ตายแล้วมาเกยตื้นอยู่บริเวณชายหาดอาจไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้นอกจากจะพบซากปลาน้ำลึกเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังพบปลาน้ำลึกบางชนิดว่ายน้ำอยู่ “บริเวณน้ำตื้น” อีกด้วย

แน่นอนว่าการที่ปลาน้ำลึกขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่บริเวณน้ำตื้นนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ เนื่องจากสภาพร่างกายของพวกมันเหมาะกับกระแสน้ำลึกที่มีแรงดันมากกว่ากระแสน้ำตื้น ดังนั้นหากขึ้นมาอยู่ที่น้ำตื้นพวกมันจึงมักจะตายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอวัยวะภายในเกิดความเสียหาย (คล้ายๆ ตัวของมันระเบิดจากข้างใน) แต่ในปัจจุบันกลับมีการพบเจอปลาน้ำลึกในน้ำตื้นได้บ่อยขึ้น

ทำไมพบ \'ปลาออร์ฟิช\' หรือ \'ปลาพญานาค\' บริเวณน้ำตื้น? ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำลึก
สภาพปลาน้ำลึกที่ทนแรงดันไม่ได้จนตัวระเบิด เมื่อขึ้นมาบริเวณน้ำตื้น จาก biology

ข้อสันนิษฐานจากนักวิจัยนานาประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น จากวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาน้ำลึกเหล่านั้น ซึ่งตอนนี้พวกเขามีข้อมูลจากสัตว์ทะเล 20,000 ชนิด และพบว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกมากกว่า 1,000 เมตร เริ่มรวมตัวกันอพยพมาอยู่ใกล้ผิวน้ำมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น เพราะสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยในความลึกตั้งแต่ 200-1,000 เมตร จะย้ายที่อยู่เยอะกว่าสัตว์น้ำตื้นประมาณ 4-11 เท่า

นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิฐานจากวารสาร Nature Ecology & Evolution อีกว่า จากการศึกษาการอพยพของแบคทีเรีย พืช รา และสัตว์มากกว่า 12,000 ชนิด พบว่าสัตว์ทะเลสามารถย้ายถิ่นฐานไปยังขั้วโลกเหนือได้เร็วกว่าสัตว์บกถึง 6 เท่า โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกมันต้องรีบอพยพนั้นมาจากปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดย Anthony Richardson จาก University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า “การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมีความสำคัญต่อการควบคุมภาวะโลกร้อนอย่างมาก ซึ่งจะช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิไม่ให้แปรปรวน แต่ปัจจุบันมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่อง

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ความร้อนจากบริเวณผิวน้ำจะผสมลงไปในห้วงทะเลน้ำลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ “สัตว์น้ำลึก” เผชิญภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทางออกของเรื่องนี้อาจไม่สามารถแก้ไขได้ทันที แต่สิ่งที่ควรจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือ ลดภัยคุกคามที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ รวมถึงการทำเหมืองใต้ทะเลและการทำประมงน้ำลึก

ทำไมพบ \'ปลาออร์ฟิช\' หรือ \'ปลาพญานาค\' บริเวณน้ำตื้น? ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำลึก ภาพปลา Oarfish จาก USA Today

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่า “ปลาพญานาค” จะเป็นนักพยากรณ์ภัยธรรมชาติจริงหรือไม่นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่า พวกมันและปลาน้ำลึกชนิดอื่นกำลังพบเจอกับปัญหาถิ่นที่อยู่ถูกทำลาย จนต้องพยายามย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่งภัยพิบัติที่ปลาพญานาคกำลังพยายามบอกพวกเราอยู่นั้นอาจหมายถึง “ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ก็เป็นได้

---------------------------------------

อ้างอิง : USA todayReconstructionTaiwan NewsNature Climate ChangeNature Ecology & Evolution, Britannica, Eco Watch และ PPTV