‘ปูเสฉวน’ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง! เปิดเหตุผลทำไม ไม่ควรนำมาเลี้ยงที่บ้าน ?
ในปัจจุบันมีกระแสนำ “ปูเสฉวน” มาเป็นสัตว์เลี้ยง และเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์บ่อยๆ จนกลายเป็นเทรนด์ของกลุ่มชอบเลี้ยงสัตว์แปลก แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะความจริงแล้วปูเสฉวนเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบนิเวศทางทะเล” ที่สำคัญ
Key Points:
- กระแสการเลี้ยง “ปูเสฉวน” กลับมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วพวกมันไม่ใช่สัตว์เลี้ยง
- การนำปูเสฉวนมาเลี้ยงนอกจากส่งผลเสียต่อระบบนิเวศแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงให้พวกมันสูญพันธุ์เร็วขึ้นอีกด้วย
- อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปูเสฉวนถูกจับมาขายได้ง่าย เป็นเพราะไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง
กระแสในโลกออนไลน์ปัจจุบัน เริ่มเห็นการเลี้ยง “ปูเสฉวน” กลับมาเป็นเทรนด์อีกครั้ง หลังจากเมื่อปีก่อนเคยมีดราม่ายูทูบเบอร์จับปูเสฉวน 15 ตัว เพื่อเอามาเป็นสัตว์เลี้ยงส่วนตัว จนเกิดการเรียกร้อง “ทวงคืนชีวิตปูเสฉวน” เนื่องจากเป็นสัตว์ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารหรือระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ
นอกจากนี้การจับปูเสฉวนที่อยู่ตามธรรมชาติมาเป็น “สัตว์เลี้ยง” อาจทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ถูกจับจากถิ่นที่อยู่ได้ง่าย ทั้งยังมีข้อมูลว่าปูชนิดนี้ไม่ได้อยู่ในรายชื่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมถึงไม่อยู่ในบัญชี IUCN Red List อีกด้วย จึงทำให้ผู้จับปูไม่ได้รับโทษทางกฎหมาย
การจับปูเสฉวนมาเป็นสัตว์เลี้ยงไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว โดยมีการจับไปขายในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 80-2,500 บาท ขายอยู่ตามตลาดนัดสัตว์เลี้ยงบางแห่ง รวมถึงเริ่มมีการนำมาขายผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
- ปูเสฉวน สัตว์หน้าหาดที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ
ปูเสฉวนบก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ปูเสฉวน” เป็นสัตว์ที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างปูและกุ้ง เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 5 นิ้ว มีขาทั้งหมด 10 ขา เหมือนกับปูทะเล แต่ส่วนท้ายของลำตัวจะมีลักษณะอ่อนนุ่ม ทำให้พวกมันจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอย เพื่อป้องกันอันตรายและรักษาความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย
นอกจากนี้ปูเสฉวนไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำเป็นเวลานานได้ เพราะกระบวนการหายใจถูกพัฒนาให้รับออกซิเจนบนบกโดยตรง แม้ว่าพวกมันจะใช้ชีวิตอยู่ริมหาด และต้องลงไปกินน้ำทะเลเพื่อให้ร่างกายรับแคลเซียมและเกลือแร่ แต่ถ้าหากลงไปในน้ำนานเกินไปจะทำให้ตายได้ นอกจากนี้พวกมันยังต้องการน้ำจืดเพื่อการอยู่รอดอีกด้วย
สำหรับอาหารหลักของปูเสฉวน คือ ซากพืช ซากสัตว์ และ ซากปะการังบนชายหาด เรียกได้ว่าเป็นผู้ย่อยสลายทั้งแบคทีเรียและเชื้อโรค ทำให้พวกมันเป็นนักทำความสะอาดชายหาดที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ นอกจากนั้นพวกมันยังเพิ่มปุ๋ยให้ชายหาดบริเวณนั้นๆ และเป็นตัวแพร่กระจายเมล็ดพืชให้แก่ชายหาดอีกด้วย
ตามปกติแล้วปูเสฉวนมักจะออกหากินในเวลากลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน เพราะตอนกลางวันพวกมันมักหลบอยู่บริเวณใต้กองใบไม้ที่มีความชุ่มชื้น หากไม่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามต่างๆ ปูเสฉวนจะมีอายุยืนยาวได้นานถึง 60 ปี
- ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติก แต่มนุษย์คือภัยคุกคามใหญ่ของปูเสฉวน
ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรระบุว่า มีปูเสฉวนตายเพราะตกเป็นเหยื่อของขยะพลาสติกในมหาสมุทรอินเดียมากถึงปีละ 508,000 ตัว และในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกประมาณปีละ 61,000 ตัว เนื่องจากบริเวณชายหาดมีขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก ทำให้ปูเสฉวนเข้าไปอยู่อาศัยเพราะพวกมันคิดว่าขยะคือเปลือกหอย
ที่สำคัญจากข้อมูลพบว่า ในทุกตารางเมตรของชายหาดหมู่เกาะเฮนเดอร์สัน มีปูเสฉวนตายอย่างน้อย 1-2 ตัว ต่อวัน เพราะมีเศษขยะพลาสติกบนชายหาดประมาณ 38 ล้านชิ้น ส่วนชายหาดของหมู่เกาะโคโคสมีขยะประมาณ 414 ล้านชิ้น
ไม่ใช่แค่เพียงปัญหา “ขยะพลาสติก” เท่านั้น ที่ทำให้ประชากรปูเสฉวนมีจำนวนลดลง แต่มนุษย์เองก็ถือเป็นหนึ่งในภัยร้ายที่อาจทำให้ปูเสฉวนสูญพันธุ์ได้เช่นกัน เมื่อหลายคนเริ่มหันมาจับปูเสฉวนไปเป็น “สัตว์เลี้ยง” มากขึ้น โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เนื่องจากพวกมันไม่ใช่สัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย (ยกเว้นอยู่ในเขตอุทยาน) แต่รู้หรือไม่? การจับพวกมันมาเป็นสัตว์เลี้ยงยิ่งทำให้พวกมันตายเร็วกว่าเดิม
เนื่องจากตามธรรมชาติของปูเสฉวน พวกมันต้องการน้ำจืดและน้ำทะเลในการดำรงชีวิต หากนำไปเลี้ยงที่บ้านพวกมันก็จะขาดสารอาหารจากน้ำทะเลทำให้ตายได้ ที่สำคัญหากพวกมันอยู่นอกบ้าน(เปลือกหอย) นานเกิน 24 ชั่วโมง ก็ทำให้พวกมันตายได้เช่นกัน อย่างเช่นกรณีมีการ “เลี้ยงปูเสฉวน” โดยการทุบเปลือกของพวกมันให้แตก แล้วนำเปลือกที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติให้พวกมันอยู่แทนนั้น ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพปูเสฉวนและอาจตายเร็วขึ้น
ดังนั้นการนำปูเสฉวนมาเป็นสัตว์เลี้ยงแม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายแต่ก็ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งและท้องทะเลเกิดความเสียหาย และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือทำให้ปูเสฉวนตายเร็วกว่าอายุขัยและเสี่ยงสูญพันธุ์
อย่างที่บอกไปแล้วว่า แม้การจับปูเสฉวนออกไปจากบ้านของพวกมันนั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้น คือ หากจับปูในเขตอุทยานฯ จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 คือ ห้ามเก็บ ห้ามนำออก หรือ ทำอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามข้อกฎหมายดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้ได้กับการจับปูเสฉวนนอกเขตอุทยาน ส่งผลให้มีปูเสฉวนวางขายกันเกลื่อนทั้งตามตลาดและในโลกออนไลน์
โดยสรุปแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถิ่นที่อยู่ อาหารการกิน ไปจนถึงการใช้ชีวิตของ “ปูเสฉวน” นั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกมันไม่เหมาะที่จะนำมาเป็น “สัตว์เลี้ยง” ของมนุษย์โดยประการทั้งปวง ดังนั้นนอกจากการรณรงค์เรื่องการลด “ขยะพลาสติก” แล้ว การแก้ไขกฎหมายให้พวกมันกลายเป็นสัตว์คุ้มครอง จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาวในอนาคต
อ้างอิงข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, Brandthink และ The standard