สื่อนอกเผย ‘ฉลามติดโคเคน’ เพราะมนุษย์ทิ้ง ‘ยาเสพติด’ ลงทะเล ?!
“ยาเสพติด” ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น เพราะจากงานวิจัยล่าสุดพบว่า “ฉลาม” ก็ได้รับผลกระทบจนเกิดภาวะ “ติดยา” ไปด้วย หลังตรวจพบการทิ้งยาเสพติดลงในทะเล
Key Points:
- “โคเคน” เป็นสารเสพติดอันตราย ที่พบการแพร่ระบาดมายาวนาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก แม้จะออกฤทธิ์สั้นแต่หากเสพในปริมาณมาก หรือเสพอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เสียชีวิตได้
- ทำลายชีวิตตัวเองไม่พอ มนุษย์ยังปล่อยให้สารเสพติดเหล่านั้นลงสู่ท้องทะเลจนเป็นอันตรายกับสัตว์ทะเลอีกด้วย ล่าสุดมีรายงานว่า พบการทิ้ง “โคเคน” ลงสู่ทะเลแถบฟลอริดา ในสหรัฐอเมริกา
- “ฉลาม” ที่บังเอิญโชคร้ายได้รับโคเคนเข้าสู่ร่างกาย นักวิจัยพบว่าพวกมันมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ท่าทางการว่ายน้ำที่แปลกประหลาด และพุ่งเข้าหามนุษย์บ่อยขึ้น
ขึ้นชื่อว่าเป็น “ยาเสพติด” แน่นอนว่าต้องส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้เสพ แต่ปัจจุบันนอกจากมนุษย์จะได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติดแล้ว “ฉลาม” บริเวณชายฝั่งรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย หลังพวกมันกินสารเสพติดจำพวก “โคเคน” เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็เหมือนสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ พวกมันไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคืออาหารที่กินได้ อะไรคือสารอันตราย (เรามักเห็นรายงานข่าวเกี่ยวกับสัตว์ทะเลตายจากการกินขยะพลาสติกอยู่บ่อยๆ)
เมื่อฉลามกินโคเคนเข้าไปทำให้พวกมันมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ท่าทางการว่ายน้ำที่แปลกประหลาด และฉลามบางสายพันธุ์จากเดิมที่พวกมันจะไม่สุงสิงกับมนุษย์ แต่กลับว่ายน้ำเข้าหามนุษย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยฉลามเหล่านี้ถูกเรียกว่า “Cocaine Sharks” นี่เป็นคำอธิบายจากนักวิจัยจากงาน Shark Week ของช่อง Discovery
สำหรับปัญหาที่ทำให้มีการลักลอบทิ้ง “ยาเสพติด” ลงทะเลบริเวณอ่าวฟลอริดาเป็นจำนวนมาก ก็เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นหนึ่งในเส้นทางลำเลียงยาเสพติดจากอเมริกาใต้เข้ามายังสหรัฐ โดยทางการตรวจสอบพบว่าผู้กระทำความผิดมักโยนห่อ “โคเคน” ลงทะเลแถบนี้บ่อยๆ เพื่ออำพรางความผิด
- “โคเคน” ปัญหายาเสพติดระดับโลกที่ไม่เคยหายไป
หากพูดถึงหนึ่งในสารเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับสังคมโลกมาเป็นเวลานาน ชื่อของ “โคเคน” น่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ เนื่องจากมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก
โคเคน (Cocaine) คือ สารสกัดที่ได้มาจากใบของต้นโคคา เป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ชาวพื้นเมืองในประเทศเปรูก็มีวัฒนธรรมเคี้ยวใบโคคามานานกว่า 1,000 ปี ก่อนที่ใบโคคาจะเริ่มเข้าสู่ยุโรปและอเมริกาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยมีจุดประสงค์เริ่มแรกเพื่อการรักษาโรคทางจิตเวชและภาวะติดยาเสพติดอื่นๆ
หลังจากนั้นโคเคนเริ่มถูกนำมาใช้เป็นสารเสพติดชนิดกระตุ้นประสาทในช่วงปี 1920 และเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 1970 เพราะมีราคาถูก ใช้ง่าย ออกฤทธิ์เร็ว มีลักษณะเป็นผงหรือเกล็ดสีขาว เมื่อเสพเข้าไปจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม อารมณ์ดี ลดอาการประหม่า และกระตุ้นความต้องการทางเพศได้มากกว่าปกติ
ผลร้ายที่ตามมาของการเสพโคเคนก็คือ เห็นภาพหลอน อาเจียน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ ไปจนถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบประสาท แม้ว่าจะเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์สั้น แต่หากใช้เป็นประจำก็อาจอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการบำบัดรักษา
ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสารเสพติดอย่าง “โคเคน” แต่เมื่อสารเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็ส่งผลเสียต่อสัตว์น้ำเช่นกัน โดยเฉพาะ “ฉลาม” นักล่าแห่งท้องทะเลก็ตกเป็นเหยื่อจากยาเสพติดที่เกิดจากความมักง่ายของมนุษย์
- เมื่อฉลามประสบปัญหาติดยาเสพติด?
ข้อมูลจาก The Guardian เมื่อเดือน มิ.ย. 2023 ที่ผ่านมา ระบุว่า หน่วยยามฝั่งสหรัฐตรวจยึดสารเสพติดผิดกฎหมายล็อตใหญ่ได้จากน่านน้ำในทะเลแคริบเบียนและทางตอนใต้ของฟลอริดา โดยมีมูลค่ามากกว่า 186 ล้านดอลลาร์ และมีบางส่วนถูกทิ้งลงทะเลไปแล้วด้วย
เมื่อโคเคน สารเสพติด และสารเคมีต่างๆ ถูกทิ้งลงสู่ทะเล สารเหล่านั้นจะละลายไปกับน้ำและแพร่กระจายออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด “เทรซี ฟานารา” วิศวกรสิ่งแวดล้อม ผู้เป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่ศึกษาเรื่อง Cocaine Sharks ระบุว่า เมื่อโคเคนละลายจะทำให้เกิดมลพิษตกค้างในแหล่งน้ำ แม้ว่าสัตว์น้ำจะไม่ได้กินเข้าไปโดยตรง ก็ต้องสัมผัสโดนสารอันตรายเหล่านั้นอยู่ดี
หนึ่งในบริเวณที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ทางตอนใต้อย่าง Florida Keys (ฟลอริดาคีย์) เป็นสถานที่ที่สามารถพบเห็นฉลามได้ง่าย เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ แต่ในช่วงหลังมานี้เริ่มมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฉลามมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
ทอม เฮิร์ด นักชีววิทยาทางทะเลชาวอังกฤษระบุว่า จากการสังเกตการณ์พฤติกรรมของฉลามพบว่า “ฉลามหัวค้อน” ที่ปกติจะไม่ค่อยเข้าใกล้มนุษย์และว่ายน้ำหนีมนุษย์บ่อยครั้ง แต่ในระยะหลังกลับพบว่าพวกมันพุ่งตรงเข้ามาหานักดำน้ำด้วยการเคลื่อนไหวที่แปลกประหลาด ต่างไปจากฉลามหัวค้อนทั่วไปที่เคยพบเห็น เพราะลำตัวของมันเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้มันต้องว่ายน้ำแบบโคลงเคลงไปมา นอกจากนี้ยังพบ “ฉลามสันทราย” ว่ายวนเป็นวงกลม และจ้องมองไปยังบริเวณที่ว่างเปล่าคล้ายกับว่าพวกมันมองเห็นภาพหลอน
- ผลวิจัยยืนยัน “สารเสพติด” ส่งผลต่อพฤติกรรมของสัตว์น้ำได้จริง!
หลังจากสังเกตเห็นพฤติกรรมแปลกประหลาดของฉลาม ทีมวิจัยจึงได้ทำการทดลองโดยการหย่อนเหยื่อที่ทำจากผงชนิดหนึ่งที่สามารถกระตุ้นระบบสมองของฉลามได้ และผลที่ได้ก็คือฉลามที่เข้าใกล้เหยื่อมีพฤติกรรมว่ายน้ำแปลกๆ ทำให้เชื่อได้ว่าลักษณะของฉลามที่แปลกไปนั้น คล้ายการถูกกระตุ้นด้วยการใช้โคเคน หลังจากนั้นทีมวิจัยได้ทดลองนำเหยื่อลงน้ำอีกครั้ง แต่ใช้วิธีโยนลงมาแทนเพื่อจำลองสถานการณ์การทิ้งยาของขบวนการค้ายาเสพติด พบว่าฉลามหลายตัวว่ายน้ำเข้ามารุมเหยื่อทันที คล้ายกับเป็นพฤติกรรมที่พวกมันทำเป็นประจำ
นอกจากการกินโคเคนแล้ว ข้อมูลจาก Scientific American อธิบายว่า ยังมีความเป็นไปได้ว่าฉลามอาจว่ายน้ำชนห่อสารเสพติดต่างๆ เพราะคิดว่าเป็นเพียงเศษไม้ธรรมดา พวกมันจึงไม่ได้ว่ายหลบหนีสารเหล่านั้น เพราะคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตราย
ปัญหาสำคัญก็คือ ไม่ว่า “โคเคน” จะส่งผลต่อฉลามด้วยวิธีใดก็ตาม แต่งานวิจัยก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสัตว์น้ำต้องอยู่ภายใต้ผลกระทบของยาเสพติด นอกจากนี้เมื่อปี 2021 เคยมีการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับผลกระทบจากยาบ้า (Metamphetamine) ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ และผลการวิจัยพบว่าแม้จะมีสารดังกล่าวผสมอยู่ในน้ำเพียงเล็กน้อย แต่ปลาที่อยู่ระหว่างทดลองก็มีการว่ายน้ำที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
ท้ายที่สุดแล้วอาจสรุปได้ว่า “ฉลาม” ผู้โชคร้ายเหล่านั้น ต้องตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดทั้งที่พวกมันไม่ได้ตัดสินใจเสพเองด้วยซ้ำ และนี่เป็นเพียงแค่งานวิจัยที่ศึกษาเฉพาะผลกระทบจาก “โคเคน” เพียงอย่างเดียว ในบริเวณที่จำกัดเท่านั้น แต่เมื่อมองในภาพใหญ่ขึ้น มนุษย์เราไม่มีทางรู้เลยว่า จะมีสัตว์น้ำที่ไหนได้รับผลเสียจากยาเสพติดที่มาจากฝีมือมนุษย์ในลักษณะนี้อีกหรือไม่
อ้างอิงข้อมูล : The Guardian, Scientific American, ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และ กองควบคุมวัตถุเสพติด