ทำไมทะเลที่ไม่มี ‘ฉลาม’ ถึงอันตรายที่สุด?
คนส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบไปเที่ยวทะเลที่มี “ฉลาม” เพราะกลัวและนึกถึงแต่ความดุร้าย เนื่องจากฉลามเป็นนักล่าแห่งท้องทะเล แต่รู้หรือไม่? ทะเลที่ไม่มีฉลาม เข้าขั้นอันตรายสุดๆ เพราะบ่งชี้ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญปัญหาหนัก
Key Points:
- นอกจากเป็นนักล่าแห่งท้องทะเลแล้ว “ฉลาม” ยังมีหน้าที่รักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย เพราะอยู่ในจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
- หากทะเลไหนไม่มีฉลามหรือมีอยู่ในจำนวนน้อย ก็จะมีความเสี่ยงที่ทะเลจะเสียสมดุล ส่งผลกระทบทั้งสัตว์น้ำและพืชทะเล
- ไม่ใช่แค่ปัญหาฉลามถูกล่าไปทำ “หูฉลาม” เท่านั้นที่ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย แต่ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ เพราะทำให้น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้นจนฉลามอาจอยู่ไม่รอด
“ฉลาม” เป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารของโลกใต้ทะเล เรียกได้ว่าเป็น “นักล่าแห่งท้องทะเล” ทำให้หลายคนมองว่าทะเลที่มีฉลาม เป็นทะเลที่อันตราย แต่รู้หรือไม่ว่าทะเลที่ไม่มีฉลามนั้นอันตรายยิ่งกว่า เพราะฉลามไม่ได้เป็นแค่นักล่าเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้รักษาระบบนิเวศ รวมถึงความสมดุลของทะเลทั่วโลก ดังนั้นหากฉลามหายไปอาจส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างร้ายแรงก็เป็นได้
บทความที่น่าสนใจ :
- ‘Coldplay’ วงดนตรีในตำนาน ที่ชวนแฟนคลับ ‘รักษ์โลก’ ไปด้วยกัน
- ‘ต้นไม้’ จะเป็นสินค้าส่งออกไทย? ซาอุฯ ปลูกต้นไม้ พลิกทะเลทรายเป็นโอเอซิส
- ‘ปูเสฉวน’ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง! เปิดเหตุผลทำไม ไม่ควรนำมาเลี้ยงที่บ้าน ?
ปลาฉลาม หรือ ฉลาม จัดเป็นสัตว์ประเภทปลากระดูกอ่อน มีรูปร่างเพรียว ส่วนมากจะมีซี่กรองเหงือก 5 ซี่ มีครีบที่แหลมคม ส่วนครีบหางเป็นแฉกเว้าลึก จุดเด่นของฉลามนั้นอยู่ที่ส่วนหัวและมีจะงอยปากแหลมยาว ปากมีลักษณะเว้าคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ที่สำคัญมันมีฟันที่แหลมคมมาก ปัจจุบันพบได้ประมาณ 400 ชนิดทั่วโลก และฉลามเกือบทุกสายพันธุ์เป็นสัตว์กินเนื้อ (มีเพียงไม่กี่ชนิดที่กินซากสัตว์หรือแพลงก์ตอน) ทำให้พวกมันถูกมองว่าอันตราย ดุร้าย และ น่ากลัว
- รู้จัก “ฉลาม” นักล่าแห่งท้องทะเล
ก่อนจะไปรู้จักฉลามในบทบาทของ “ผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล” เรามาทำความรู้จักกับประเภทและพฤติกรรมของฉลามกันอีกนิดว่าทำไมมันถึงได้รับฉายา “นักล่า”
ฉลามคือสัตว์น้ำที่สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์มายาวนาน ตั้งแต่ก่อนยุคไดโนเสาร์ หรือ ประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว โดยมีการวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ต่างจากไดโนเสาร์ซึ่งสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้
สำหรับ “ฉลาม” สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. ฉลามผิวน้ำ มีรูปร่างเพรียวทำให้พวกมันปราดเปรียวและชอบว่ายน้ำอยู่ตลอด ทำให้พบเห็นได้ง่ายและอาจทำร้ายมนุษย์หากโดนรบกวน มีฟันแหลมคมเหมือนกับมีดโกนเรียงกันเป็นแถวภายในปาก
2. ฉลามหน้าดิน มีนิสัยชอบกบดานอยู่นิ่งๆ ไม่ชอบเคลื่อนที่หรือขยับตัวไปไหน มีลักษณะฟันเป็นฟันขบ ไม่ดุร้ายมากนักและมีนิสัยขี้เล่น กินซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหาร
แม้ว่าฉลามส่วนใหญ่จะออกลูกเป็นตัว แต่ในบางชนิดก็ออกลูกเป็นไข่ และนอกจากจะพบพวกมันได้ทั้งในทะเลเขตอบอุ่นและเขตขั้วโลกแล้ว ยังสามารถพบฉลามบางชนิดได้บริเวณน้ำจืดและน้ำกร่อยอีกด้วย ดังนั้นการที่อาหารหลักของฉลามคือสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมถึงเหตุการณ์ที่มนุษย์ถูกฉลามทำร้าย (แม้ว่าบางครั้งจะเกิดจากการที่มนุษย์เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้านของฉลามก่อนก็ตาม) ทำให้พวกมันได้รับการขนานนามว่าเป็นนักล่าแห่งท้องทะเล
- ทะเลที่มีฉลาม คือทะเลที่มีความสมบูรณ์
ไม่ใช่แค่เป็นนักล่าเท่านั้น แต่ “ฉลาม” ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันมีหน้าที่รักษาสมดุลของประชากรปลาทะเลเนื่องจากฉลามอยู่ลำดับสูงสุดของ “ห่วงโซ่อาหาร” พวกมันจะกำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือ กำลังจะหมดอายุขัย เพื่อให้ปลาแต่ละสายพันธุ์เหลือแต่ตัวที่แข็งแรง ควบคุมประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สร้างความเสียหายกับถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ไม่ให้พืชน้ำมีจำนวนลดลงมากเกินไป ประชากรปลาไม่หนาแน่นจนเกินไปในแต่ละท้องที่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควบคุมประชากรของปลากินเหยื่อที่มีขนาดรองลงมาให้เหมาะสม เพื่อให้มีการแบ่งสรรปันส่วนการใช้ทรัพยากรทางทะเลของประชากรปลา
ดังนั้นถ้าฉลามหมดไปจากระบบนิเวศทางทะเล ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลเช่นเดียวกัน เพราะถ้าฉลามมีจำนวนน้อยลงก็จะทำให้ผู้ล่าระดับรองลงมา เช่น ปลาหมอทะเล เพิ่มปริมาณประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการล่าปลากินพืชมากเกินไปตามมา และเมื่อปลากินพืชลดลงเป็นจำนวนมาก ปริมาณสาหร่ายก็จะปกคลุมพื้นที่มากขึ้นจนมาแย่งพื้นที่ของปะการัง ทำให้เกิดปัญหาปะการังเสื่อมโทรม และทำให้ระบบนิเวศทางทะเลล่มสลายไปในที่สุด
นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบจากการที่ฉลามหายไปด้วยเช่นกัน เพราะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น หอยเชลล์ และ หอยเป๋าฮื้อ ตามธรรมชาติจะมีจำนวนลดลงตามไปด้วย
- ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่ โลกร้อน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยให้ฉลามลดลง
หากพูดถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรฉลามมีจำนวนลดลงนั้น คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการล่าฉลามเพื่อมาทำเมนูสุดหรูอย่าง “หูฉลาม” ในปัจจุบันมีรายงานว่า ฉลามจากทั่วโลกถูกจับจากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัว หรือ เฉลี่ย 190 ตัวต่อนาที ในจำนวนนี้มากกว่า 70 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 75 ถูกจับเพื่อตัดเอาครีบไปขาย ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์เลิกกินหูฉลามกันมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์ เพราะฉลามเป็นสัตว์ที่โตช้า ตั้งท้องนาน ออกลูกน้อยต่อหนึ่งครั้ง จึงยิ่งเสี่ยงที่พวกมันจะค่อยๆ หายไป
นอกจากฉลามจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือ “ภาวะโลกร้อน” เพราะส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สิ่งที่ชีวิตหลายชนิดต้องย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อไปอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลก็คือการย้ายถิ่นของ “ฉลามขาว” เนื่องจากน้ำทะเลเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2014 ทำให้ฉลามขาววัยรุ่นส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย อพยพไปทางเหนือประมาณ 600 กิโลเมตร เพื่ออยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นกว่า
แน่นอนว่าการย้ายบ้านของบรรดาฉลามและสัตว์น้ำอื่นๆ ย่อมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฉลามเข้าไปรวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากร “นากทะเล” ลดลงถึงร้อยละ 86 เนื่องจากถูกฉลามฆ่า
อีกหนึ่งปัญหาที่สืบเนื่องจากภาวะโลกร้อนก็คือ หลังจากที่ฉลามย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว พวกมันก็ไม่ยอมย้ายกลับมาอยู่ที่เดิม เมื่ออุณหภูมิบ้านเก่าของฉลามกลับมาเป็นปกติ นั่นหมายความว่าระบบนิเวศทางทะเลจะเสียหายทีเดียวถึงสองแห่งด้วยกัน
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นเมนูหูฉลามหรือภาวะโลกร้อน “มนุษย์” ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ฉลามที่เป็นทั้งนักล่าและผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป เหลือไว้เพียงระบบนิเวศที่ผุพัง ดังนั้นหากทุกคนช่วยกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่สนับสนุนสินค้าและอาหารที่มาจากฉลามก็จะสามารถช่วยชีวิตพวกมันไว้ได้ไม่มากก็น้อย
อ้างอิงข้อมูล : wikiwand, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร