จับตาวิกฤตอาหารโลก ‘นิว นอร์มอล’ศตวรรษที่21
จับตาวิกฤตอาหารโลก ‘นิว นอร์มอล’ศตวรรษที่21 โดยผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ายังพอมีทางออกคือสนับสนุนให้มีการค้าเสรี และใช้พืชเกษตรที่มีความหลากหลายและสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดีกว่าเดิมเพื่อช่วยไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคต
ตั้งแต่ประเด็นข้าวในอินเดียจนถึงข้าวสาลีของออสเตรเลีย ที่เจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ผลผลิตลดลง ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนอาหารและดันให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นอีกจากเดิมที่ราคาอาหารอยู่ในช่วงขาขึ้นอยู่แล้วเพราะสงครามในยูเครน แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่าปัญหานี้มีทางออก
เว็บไซต์อัลจาซีราห์ นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า เมื่ออินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติช่วงปลายเดือนก.ค.เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากและเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีข้าวเพียงพอบริโภคภายในประเทศ คำสั่งห้ามของรัฐบาลอินเดีย ที่ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก สร้างความตื่นตระหนกแก่ตลาดข้าวทั่วโลก เนื่องจากหลายสิบประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและซับสะฮาราในแอฟริกาล้วนพึ่งพาข้าวจากอินเดีย
แต่อินเดียก็บอกว่า การตัดสินใจห้ามส่งออกข้าวครั้งนี้เป็นเรื่องจำเป็นเพราะข้าวในตลาดโลกมีราคาสูงสืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์,ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอล นิโญ และสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วในประเทศต่างๆที่ปลูกข้าว ซึ่งการห้ามส่งออกข้าวครั้งนี้ส่งผลต่อการส่งออกข้าวของประเทศในสัดส่วนราวหนึ่งในสี่
สถานการณ์ข้าวในอินเดีย เกิดขึ้นหลังจากรัสเซียประกาศยุติการมีส่วนร่วมในข้อตกลงส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำ ขณะที่การทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินอยู่ ยิ่งทำให้วิกฤติอาหารโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น การห้ามส่งออกข้าวของอินเดียยังก่อให้เกิดคำถามที่ยากจะตอบได้ว่า รูปแบบสภาพอากาศที่ไม่ปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และผลผลิตข้าวที่ตกต่ำลงเพราะตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กำลังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันในลักษณะที่บ่อยครั้งมากขึ้น และจะทำให้ราคาข้าวพุ่งขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่และทำให้ผู้คนทั่วโลกอดอยากมากขึ้น
คลื่นความร้อนปี 2565 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตข้าวสาลีของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลนิวเดลีตัดสินใจห้ามส่งออกข้าวสาลีเป็นปีที่สองแล้ว โดยอินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองของโลก
อาร์เจนตินา ผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่สุดของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวโพดชั้นนำ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 60ปี ส่งผลให้ผลผลิตของพืชเกษตรทั้งสองประเภทลดลงอย่างมาก
อินโดนีเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก ประกาศห้ามส่งออกในช่วงเวลาสั้นๆเมื่อปีที่แล้วท่ามกลางปัญหาราคาปาล์มสูง ส่งผลให้ทั่วโลกพากันกักตุนน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร รวมถึงการจัดหาน้ำมันดอกทานตะวันในยูเครนที่พลอยปั่นป่วนไปด้วยเพราะสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อและยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลง
บราซิล ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองรายใหญ่ ก็ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้เช่นกัน ส่วนในปี 2564 แคนาดาประสบปัญหาผลผลิตน้ำมันคาโนลาตกต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี
ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาอาจบอกเราว่า วิกฤตอาหารกำลังเป็นวิถีชีวิตใหม่ของเราอย่างนั้นหรือเปล่า และรัฐบาลทั่วโลกพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ในมุมมองของบรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ายังพอมีทางออก นั่นคือ สนับสนุนให้มีการค้าเสรี และใช้พืชเกษตรที่มีความหลากหลายและสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดีกว่าเดิมเพื่อช่วยไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคต
ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรโลกในสัดส่วนกว่า 50% และในแต่ละปีประชากรโลกบริโภคข้าวในปริมาณมากกว่า 500 ล้านตัน อินเดียส่งออกข้าวในสัดส่วน 40% ของปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมทั่วโลก ส่วนประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญๆรายอื่นๆก็มีไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐ
ออสการ์ จาครา นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทโรโบแบงก์ ให้ความเห็นกับซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า ราคาข้าวยังมีแนวโน้มพุ่งขึ้น โดยคาดว่าดัชนีราคาข้าวโลกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ)ในเดือนส.ค.ปีนี้ จะพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับของเดือนก.ค.
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า การที่อินเดียระงับส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาตินั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สต็อกข้าวของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
สอดคล้องกับ ซามาเรนดู โมฮานตี ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของอินเตอร์เนชั่นแนล โพเทโพ เซนเตอร์ ที่คาดการณ์ว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก หากประเทศผู้นำเข้าพยายามที่จะสต็อกข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศของตนเอง และหลายประเทศที่ส่งออกข้าวตัดสินใจใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าวเหมือนอินเดีย
แต่ถึงแม้ว่าจะมีคาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2566-2567 แต่รายงานสถานการณ์และแนวโน้มข้าวโล ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ประเมินว่า ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 อยู่ที่ 520.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.38% แต่การส่งออกปี 2566/67 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 55.80 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.54%
ส่วนสต็อกข้าวโลกปี 2566/67 อยู่ที่ 166.68 ล้านตัน ลดลง 8.56% แสดงให้เห็นว่าประเทศผู้ปลูกข้าวเก็บข้าวไว้มากขึ้น และล่าสุด อินเดียห้ามส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีข้าวเพียงพอในการบริโภคก็ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น