เกาหลีใต้ไฟเขียวจ้างพี่เลี้ยงเด็กชาวต่างชาติ บรรเทาปัญหาการเกิดต่ำ

เกาหลีใต้ไฟเขียวจ้างพี่เลี้ยงเด็กชาวต่างชาติ บรรเทาปัญหาการเกิดต่ำ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เกาหลีใต้จะอนุญาตให้มีการว่าจ้างผู้ช่วยทำงานบ้านที่เป็นชาวต่างชาติได้ ซึ่งเป็นความพยายามล่าสุดเพื่อรับมือกับปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก

กระทรวงการจ้างงานและแรงงานเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (1 ก.ย.) ว่า จะเริ่มโครงการนำร่องที่อนุญาตให้แรงงานชาวต่างชาติจำนวน 100 คนเข้ามาทำงานดูแลเด็กและดูแลบ้านได้เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ทั้งแบบเต็มเวลาหรือไม่เต็มเวลา โดยโครงการนำร่องจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนธ.ค.ในพื้นที่กรุงโซล

โครงการนี้ ถือเป็นการดำเนินการล่าสุดของทางการเกาหลีใต้เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานและภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มักถูกใช้อ้างว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก

อัตราเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของสตรีในช่วงวัยเจริญพันธุ์นั้น ลดลงสู่ระดับ 0.7 คนในไตรมาสที่ 2 จากระดับ 0.78 คนในปี 2565 และ 0.81 คนในปี 2564 โดยอัตราเจริญพันธุ์เฉลี่ยของประเทศในกลุ่มองค์กรความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) อยู่ที่ระดับ 1.58 คน
 

อัตราการเกิดนี้ถือว่าต่ำที่สุดในบรรดา 180 ประเทศที่เป็นสมาชิกของธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) และต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยที่ 1.73 ของสหรัฐและ 1.42 ของญี่ปุ่น

ปัจจุบัน เกาหลีใต้ มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุด ในบรรดา 36 ประเทศสมาชิกของโออีซีดี และกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลโซลแก้ไม่ตกแม้จะใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เพื่อช่วยให้ครอบครัวที่มีบุตรยากมีบุตรเกิดใหม่ในหลากหลายรูปแบบ

ขณะที่แรงงานต่างชาติในโครงการนำร่องนี้ จะได้รับค่าจ้างอย่างน้อยตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ที่ประมาณเดือนละ 2 ล้านวอน (1,513 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว 53,076.04 บาท หากทำงานเต็มเวลา

ขณะที่การจ้างแม่บ้านชาวเกาหลีใต้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันภายในบ้านนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 3.5-4.5 ล้านวอน (2,648-3,405 ดอลลาร์สหรัฐ)

กระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ ระบุว่า การจ้างแม่บ้านชาวต่างชาตินั้นจะจัดหาให้กับคู่สามีภรรยาวัยทำงานช่วงอายุ 20 – 40 ปี, พ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวที่มีบุตรหลายคน

ปัจจุบัน งานพี่เลี้ยงเด็กในเกาหลีใต้จะอนุญาตให้ทำได้เฉพาะชาวเกาหลีใต้ หรือชาวจีนเชื้อสายเกาหลีใต้บางส่วนเท่านั้น