ญี่ปุ่นเจอวิกฤติแต่งงานตกต่ำ พ่อแม่อาสาหาคู่แท้ให้ลูก

ญี่ปุ่นเจอวิกฤติแต่งงานตกต่ำ พ่อแม่อาสาหาคู่แท้ให้ลูก

ญี่ปุ่นเกิดวิกฤติแต่งงานตกต่ำ โอซากาจัดงานหาคู่ แต่งานนี้ไม่ใช่งานหาคู่ธรรมดา เพราะรุ่นพ่อรุ่นแม่อาสาหาคู่แท้ให้ลูกด้วยตนเอง

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน (2 ก.ย.) ว่า ในเมืองโอซากามีการจัดงานโอมิไอ หรือการนัดพบเพื่อหารักแท้ ซึ่งงานนี้มีชายหญิงเข้าร่วมประมาณ 60 คน แต่นี่ไม่ใช่งานหาคู่เดทแบบทั่วไป เพราะมีผู้เข้าร่วมเพียงน้อยนิดเท่านั้น ที่พูดคุยเกี่ยวกับงานอดิเรก ภาพยนตร์ ร้านอาหารที่พวกเขาชื่นชอบ หรือพูดถึงเรื่องตัวเองเพียงไม่กี่คน เพราะส่วนใหญ่พวกเขามักพูดถึงลูกของตนที่ยังโสดอยู่ ซึ่งพวกเขาอยากให้ลูกมีคู่และแต่งงานเสียที

พ่อแม่แต่ละคนต้องจ่ายเงิน 14,000 เยน หรือราว 3,350 บาท เพื่อเข้าร่วมงานนี้ ซึ่งจัดโดย Association of Parents of Marriage Proposal Information ซึ่งเป็นองค์กรจัดหาคู่แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

“โนริโกะ มิยาโกชิ” ผู้อำนวยการองค์กรจัดหาคู่ดังกล่าว ที่จัดงานหาคู่มานานเกือบ 20 ปี กล่าวว่า ไอเดียของการจัดงานสำหรับพ่อแม่ที่อยากช่วยให้ลูกได้แต่งงาน กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น

“ในอดีตผู้คนอาจมองเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องเข้าร่วมงานนี้ แต่เวลาเปลี่ยนไปแล้ว” มิยาโกชิ กล่าว

  • บรรยากาศในงาน

ซีเอ็นเอ็นเผยว่า พ่อแม่บางคนเข้าร่วมงานนี้มาสองสามครั้งแล้ว บางคนมาครั้งแรก โดยแต่ละคนจะมาพร้อมแบบสอบถามเกี่ยวกับลูกหลานของตน เช่น คุณพร้อมย้ายที่อยู่หรือไม่หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี

พ่อแม่บางคนพกรูปลูก ๆ ติดมาด้วย หลายรูปถ่ายอย่างมืออาชีพ บางรูปเป็นลูกผู้หญิงใส่ชุดกิโมโนเพื่อสร้างความประทับใจ และรูปภาพส่วนใหญ่เป็นรูปหญิงโสดและชายโสดที่ยังไม่เคยแต่งงานในวัย 30 และวัย 40 ปี คนโสดอายุน้อยสุดอยู่ที่ 28 ปี และอายุมากสุดอยู่ที่ 51 ปี มีหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่แพทย์และพยาบาล ไปจนถึงข้าราชการและเลขานุการ

ญี่ปุ่นเจอวิกฤติแต่งงานตกต่ำ พ่อแม่อาสาหาคู่แท้ให้ลูก รูปภาพจาก CNN

  • ความเห็นจากพ่อแม่

คู่รักวัย 80 ปี เล่าว่า ลูกชายวัย 49 ทำงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาใส่ใจใช้ชีวิตแบบมีคนรัก พวกเขาอยากมีหลานจึงตัดสินใจเข้าร่วมงานนี้

คู่รักวัย 70 บอกว่า ลูกสาววัย 42 ไม่เคยมีแฟนเลย เพราะเธออยากมีอิสระ ได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อนสมัยมหาลัยเมื่อใดก็ตามที่ต้องการ พวกเขาจึงอยากหาคนที่ดูแลลูกสาวได้ และลูกสาวก็ยินดีที่พ่อแม่เข้าร่วมงานนี้

ผู้เข้าร่วมงานวัย 60 ปีคนหนึ่ง เผยว่า ลูกสาววัย 37 ขอให้มาร่วมงานนี้เอง เพราะเธอกังวลเวลาเห็นเพื่อนวัยเดียวกันแต่งงานและมีลูก ผู้เข้าร่วมรายนี้จึงรู้สึกเสียใจที่ไม่ช่วยผลักดันให้ลูกหาคู่ตอนที่ลูกอายุยังน้อย

ทั้งนี้ องค์กรที่จัดงานดังกล่าว คาดว่า หนุ่มสาวที่ได้รับจับคู่ 10% มีโอกาสได้แต่งงาน หรืออาจมากกว่านั้น เพราะพ่อแม่ไม่ได้บอกองค์กรว่าความสัมพันธ์ของลูก ๆ คืบหน้ามากเพียงใด

แม่คนหนึ่งในงานนี้ เล่าว่า ลูกสาวเข้าคิวเพื่อเข้าพบกับพ่อแม่ของชายหาคู่รายหนึ่งที่มีคนชอบมากมาย และต้องเซอร์ไพรส์เมื่อลูกสาวได้รับการเชิญชวนไปพบกับฝ่ายชาย เมื่อแรกพบ ลูกสาวเอาแต่จ้องมองฝ่ายชาย เธอรู้เลยว่าลูกสาวพบคนที่ใช่ และตอนนี้ทั้งคู่ก็แต่งงานกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม การหาคู่ให้ลูก ๆ มีอุปสรรคจากตัวพ่อแม่เองด้วย อาทิ พ่อแม่ชายวัย 40 มักเลือกคู่ให้ลูกเป็นหญิงวัย 20 และวัย 30 หากเจอผู้หญิงเรียนจบสูงกว่าลูกชายตนเองก็จะปฏิเสธ แถมพ่อแม่บางคนยังปฏิเสธผู้สมัครหาคู่ที่ไม่มีพี่น้องผู้ชาย เพราะมองว่าสะใภ้กลุ่มนี้อาจเป็นภาระให้พวกเขาต้องเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า

อย่างไรก็ดี มิยาโกชิ เตือนเสมอว่า ไม่ว่าพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกลูก ๆ ต้องมาก่อน ไม่ว่าพ่อแม่จะอยากมีหลานมากเพียงใด ลูก ๆ ของพวกเขาต้องเต็มใจที่จะมีลูกด้วย

  • ยุควิกฤติการแต่งงานของญี่ปุ่น

ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงเดือน ม.ค. 2566 จำนวนประชากรญี่ปุ่นลดลงเป็นประวัติการณ์ 800,523 คน สู่ระดับประชากรที่ 125.4 ล้านคน ซึ่งเบื้องหลังที่จำนวนประชากรลดลง มาจากจำนวนคนแต่งงานและอัตราการเกิดน้อยลง

ในปี 2565 คู่รักที่จดทะเบียนสมรสลดลงสู่ระดับ 501,116 คู่ ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ส่งครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 และลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของการจดทะเบียนสมรสในทศวรรษ 1970

ทั้งนี้ คู่รักที่แต่งงานกันมักอยู่ในช่วงปลายวัยเจริญพันธุ์ ทำให้เหลือเวลามีลูกน้อยลง โดยในปี 2565 อายุเฉลี่ยผู้ชายที่จดทะเบียนสมรสอยู่ที่ 34 ปี เพิ่มขึ้นจากอายุเฉลี่ยที่ 29 ปีเมื่อปี 2533 และอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่จดทะเบียนสมรสอยู่ที่ 31 ปี เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 27 ปี ในปี 2533 เช่นกัน

นอกจากการแต่งงานที่ลดลงแล้ว อัตราเจริญพันธุ์ของผู้หญิงญี่ปุ่นก็ลดลงด้วย ซึ่งปีก่อนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.3 ต่ำกว่าระดับ 2.1 ที่เป็นระดับรักษาความมั่นคงทางประชากร

  • อุปสรรคการแต่งงานของญี่ปุ่น

“ชิเกกิ มัตสึดะ” นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยชูเคียว จ.ไอจิ บอกว่า ผลสำรวจจากสถาบันความมั่นคงทางประชากรและสังคม เผยว่า คู่รักประมาณ 80% ยังคงอยากแต่งงาน แต่พวกเขาเชื่อว่ายังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ขัดขวางอยู่ ดังนี้

เงินเดือน

คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นเผชิญกับโอกาสจ้างงานที่ตกต่ำลง และค่าจ้างคงที่มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ขณะที่ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า เงินเดือนเฉลี่ยต่อปีในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพียง 5% จากปี 2534-2565 น้อยกว่าเขตเศรษฐกิจกลุ่ม G7 เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่เงินเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 34% ในช่วงเวลาเดียวกัน

“ปัจจัยนี้ ทำให้ความสามารถทางเศรษฐกิจของคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นเพื่อเริ่มต้นแต่งงานลดลง” มัตสึดะ กล่าว

ค่าครองชีพและชั่วโมงทำงาน

“เจมส์ เรย์โม” ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มีมุมมองที่คล้ายกันว่า ค่าครองชีพที่สูงทำให้หลายอย่างแย่ลง และชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ผู้คนไม่มีเวลาหาคู่ครอง

ปิตาธิปไตย

มิยาโกชิ ผู้อำนวยการองค์กรจัดหาคู่บอกว่า สังคมญี่ปุ่นยังเป็นสังคมปิตาธิปไตยสูง ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักถูกคาดหวังให้มีบทบาทเป็นแม่บ้านแม่เรือน และสังคมยังมีความเชื่อฝังลึกว่า ผู้หญิงต้องมีลูกและดูแลลูก ขณะที่ผู้ชายต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

ที่มา: CNN