นโยบายสาธารณะสำหรับรัฐบาลใหม่ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

นโยบายสาธารณะสำหรับรัฐบาลใหม่ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในที่สุดประเทศไทยก็ได้รัฐบาลใหม่แล้ว แม้จะดูกลางเก่ากลางใหม่ แต่ก็จะได้เริ่มต้นกันเสียที วันนี้จึงขอนำเอาตัวอย่างนโยบายสาธารณะของประเทศสิงคโปร์มานำเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการที่ประเทศสิงคโปร์ การประชุมครั้งนี้มี ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (คนละหน่วยงานกับของผู้เขียนนะคะ) เป็นผู้ประสานงาน

ตลอดระยะเวลาการเดินทางนี้ ดร.อรอร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของสิงคโปร์ นับตั้งแต่ออกจากสนามบิน 

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชาชนมีวินัยและเชื่อฟังรัฐบาลเอามากๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกคนเข้าใจดีว่า ประเทศตนเองไม่มีทรัพยากรอื่นใดนอกจากคน การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

สิงคโปร์มีการวางแผนกำลังแรงงานอย่างเอาจริงเอาจัง แม้ว่ามหาวิทยาลัยของสิงคโปร์จะมีจำนวนที่นั่งสำหรับนักศึกษาพอที่จะรับนักศึกษาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ได้จำกัดไว้ให้เพียงพอสำหรับความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น

ส่วนจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยที่เหลือก็นำไปสร้างรายได้โดยรับนักศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ทางรัฐบาลสิงคโปร์มีหลักคิดว่าการศึกษาเป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับการสร้างทุนมนุษย์ เพราะว่าสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดเลยนอกจากมนุษย์

การศึกษาจึงเป็นสินค้าสาธารณะที่จำเป็นสำหรับคนสิงคโปร์ หมายความว่าคนสิงคโปร์ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุดตามศักยภาพของตนเอง

แต่การศึกษาในสิงคโปร์ถือว่าการศึกษาเป็นอุตสาหกรรมพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้จากชาวต่างประเทศ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมโปรโมทด้านการศึกษาด้วย

รัฐบาลได้ปรับระบบการศึกษาให้คนสิงคโปร์สามารถเข้าออกในระบบการศึกษาประเภทอาชีวะและมหาวิทยาลัยได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คนสิงคโปร์สามารถเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อไหร่ก็ได้ และอาจจะเรียนอาชีวะก่อนแล้วไปทำงาน แล้วกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยจนได้ปริญญาเอกก็ได้

นโยบายสาธารณะสำหรับรัฐบาลใหม่ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่แจกเงินให้ประชาชนฟรี ๆ แต่จะจ่ายเงินให้ประชาชนไปเพิ่มความสามารถในการปรับทักษะให้ทันโลก

รัฐบาลมีเงินอุดหนุนให้ประชาชนไปเรียนเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยโดยสนับสนุนงบประมาณคนละประมาณ 15,000 บาท สำหรับผู้มีอายุ 25 ปีขึ้นไปทุกคน และคนที่เกษียณแล้วก็มีสิทธิได้เงินพัฒนาทักษะเช่นกัน

สำหรับกลุ่มคนที่มีอายุ 40 – 60 ปี จะมีโอกาสได้เงินอุดหนุนอีก โดยทั่วไปคนสิงคโปร์จะเกษียณอายุที่ 63 ปี แต่เงินออมเพื่อเกษียณจะสามารถเบิกใช้ได้ต่อเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ยกเว้นอาชีพทหารซึ่งจะต้องเกษียณเมื่ออายุ 50 ปี

เมื่อตอนโควิด 19 ระบาดรุนแรง ประชาชนจำนวนมากตกงาน รัฐบาลก็ไม่เยียวยาฟรี ๆ แต่ใช้วิธีหางานมาให้ประชาชนทำซึ่งเป็นงานที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การไปตรวจเช็คร้านค้าว่ามีระบบสุขอนามัยตามข้อกำหนดของรัฐหรือไม่ ไปคอยยืนในห้างสรรพสินค้าเพื่อรักษาระยะห่าง

กล่าวโดยสรุปก็คือรัฐบาลสิงคโปร์จะไม่มีนโยบายแจกปลา แต่แจกเบ็ดตกปลาให้ประชาชน     

เรื่องหนึ่งที่อาจารย์อรอรได้พูดถึงก็คือ สิงคโปร์ได้สมญานามว่าเป็น A City in a Garden ประเทศนี้มีกระทรวงสำหรับต้นไม้โดยเฉพาะ กระทรวงมีอำนาจเหนือหน่วยราชการอื่นในการที่จะสั่งให้ตัดหรือปลูกต้นไม้อะไรก็ได้ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

เช่น กิ่งไม้ตกลงมาขวางถนนก็จะมีเจ้าหน้าที่มาดูและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีกในที่เดียวกัน หรือแม้แต่ในที่อื่น ๆ ดังนั้น สิงคโปร์จึงมาเป็นเมืองที่มีความร่มรื่น เขียวขจีไปทั้งเมือง

นโยบายสาธารณะสำหรับรัฐบาลใหม่ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในขณะที่นานาประเทศมีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ที่ประเทศสิงคโปร์รัฐบาลสามารถควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสำหรับคนสิงคโปร์ได้โดยที่รัฐบาลมีเป้าหมายว่า ทำให้คนสิงคโปร์ทุกคนสามารถที่จะมีบ้านได้ (keep houses affordable) ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำในสังคม

เนื่องจากที่ดินในสิงคโปร์เป็นของรัฐทั้งสิ้น รัฐจึงสามารถ ควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ได้โดยเฉพาะที่อยู่ของประชาชน กล่าวคือรัฐเป็นผู้สร้าง แต่ภาคเอกชนก็สามารถลงทุนในที่ของรัฐเพื่อสร้างคอนโดมิเนียมและขายได้ แต่เมื่อคอนโดมิเนียมเหล่านี้แพงเกินไปให้รัฐบาลก็จะเริ่ม สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนทั่วไปเพื่อดึงราคาให้ต่ำลง

แต่ในเขตเศรษฐกิจในเมืองรัฐบาลก็ยอมให้ภาคเอกชนมาใช้ที่ดินของรัฐเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์และอาคารสำหรับธุรกิจและปล่อยให้ราคาเป็นไปตามหลักกลไกตลาด

ในด้านการกำกับจราจร รัฐบาลก็พยายามให้ประชาชนใช้รถสาธารณะและให้นำรถเข้ามาใช้ในเมืองน้อยที่สุด เริ่มตั้งแต่การซื้อรถ หากใครที่อยากมีรถใหม่จะต้องไปขอใบอนุญาตให้มีรถ (Certificate of Entitlement: CoE) โดยราคา CoE ของรถยนต์ต่อคันประมาณ 120,000 เหรียญสิงคโปร์ หากตีเป็นเงินไทยตกประมาณคันละ 3 ล้านบาท  ถือเป็นการควบคุมความต้องการมีรถของประชาชนได้ทางหนึ่ง

นอกจากนั้น ผู้ที่นำรถเข้าตัวเมืองชั้นในต้องขึ้นทางด่วนจะต้องผ่านระบบที่เรียกว่า ราคาอิเล็กทรอนิกส์ของถนน (Electronic Road Pricing : ERP) ซึ่งราคานี้จะขึ้นลงตามสภาวะจราจรของเมือง

ถ้าในเมืองมีรถติดมากราคานี้ก็จะแพงขึ้น หากการจราจรลื่นไหล ราคานี้ก็จะลดลง ส่งสัญญาณให้ผู้มีรถรู้ว่าไม่ควรที่จะใช้รถในยามที่จราจรคับคั่งเป็นการลดภาระด้านจราจรไปโดยปริยาย

สิงคโปร์ลงทุนมหาศาลในการทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลเพื่อกักเก็บน้ำจืดและเพื่อป้องกันระดับทะเลขึ้นสูง  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เรื่องนี้ก็มีการพูดถึงในประเทศไทยเหมือนกันว่าจะทำที่อ่าว ก. ไก่ ของเรา แต่ขณะนี้ก็ยังคงเป็นแผนที่เขียนบนหาดทรายอยู่

ที่น่าสนใจก็คือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มีส่วนราชการที่เรียกว่า Futures Office ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อมองหาทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับอนาคต โดยจะมองหาจุดอ่อน ข้อบกพร่องที่มีอยู่รวมทั้งสัญญาณอ่อน ๆ ที่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นโยบายสาธารณะสำหรับรัฐบาลใหม่ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

หรือพูดอีกในหนึ่งได้ว่าเป็นการสร้างฝ่ายค้านภายในองค์กรของตัวเอง เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถมองเห็นปัญหาล่วงหน้าและทำการบรรเทาหรือแก้ไขปัญหานั้นได้ 

แม้ว่าเราซึ่งเป็นอาคันตุกะผู้ไปเยือนสิงคโปร์จะมีความชื่นชมในรัฐบาลสิงคโปร์มากเท่าใดก็ตาม แต่หัวหน้า Futures Office ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ดร.กัว ก็ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางภายใต้ความเข้มแข็งของรัฐที่รวมศูนย์ ในระบบที่ราชการเก่งทุกอย่างบริการประชาชนในทุกเรื่อง

ทำให้ประชาชนไม่มีความสามารถที่จะช่วยตัวเองและอาจจะมีปัญหาในอนาคตเมื่อเกิดวิกฤติหรือภัยธรรมชาติขนาดใหญ่พร้อม ๆ กันที่เกินกว่าความสามารถของรัฐบาลแม้จะเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดที่จะลงไปช่วยได้

ดร.กัวยกตัวอย่างว่า เมื่อเกิดพายุฝนขึ้นมีกิ่งไม้เล็ก ๆ ตกมาคนสิงคโปร์ก็จะพยายามที่จะถ่ายรูปแล้วส่งไปให้รัฐบาลส่งคนมาแก้ไขทั้ง ๆ ที่กิ่งไม้นั้นก็เป็นกิ่งไม้ที่เล็กพอที่เด็กจะสามารถหยิบยกออกไปจากการกีดขวางถนนได้

ดร.กัวเห็นว่าการรวมศูนย์อำนาจเป็นการผูกขาดความสามารถมากเกินไป และการกระจายความสามารถและเครือข่ายจะเป็นระบบที่รองรับความเสี่ยงได้ดีกว่า

คนไทยที่ไปเห็นสิงคโปร์ อยากให้รัฐบาลไทยเก่งและไม่โกงเหมือนรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ขอฝากความหวังไว้ที่ท่านนายกฯ คนใหม่ค่ะ