สมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ โจทย์ท้าทาย ‘นายกฯเศรษฐา’
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นสิ่งยืนยันประชาธิปไตยไทยมีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง ดึงดูดมหาอำนาจและประเทศต่างๆ เข้ามาสร้างสัมพันธ์ ท่ามกลางสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์ โจทย์ใหญ่ไม่อาจเลี่ยงได้
ประชาธิปไตยไทย มีพัฒนาการก้าวหน้าและเข้มแข็ง เป็นจุดดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ ทั้งมิติความสัมพันธ์ การเมือง เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้น
ก่อนหน้านี้ “สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของสำนักกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่า กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า “บทบาทนำของไทย เฉพาะที่มีต่อภูมิภาคอาเซียนได้หายไปเกือบสิบปี
แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศยังคงดำเนินงานด้านต่างๆ เชื่อมโยงความร่วมมือกับต่างชาติอย่างแข็งขัน ชนิดกำลังไม่มีตก แต่ถ้าเรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะทำให้สปอร์ตไลต์กลับมาส่องอีกครั้ง
“กวี จงกิจถาวร” ผู้เชี่ยวชาญอาเซียน และนักวิเคราะห์จากสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระยะหลังอาเซียนต้องเผชิญคำถามถึงความเป็นเอกภาพ หลังมีความเห็นที่แตกต่างต่อสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงการให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีน้อยลงหรือไม่ เมื่อสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเทน้ำหนักไปให้กับความร่วมมือทวิภาคีอย่างชัดเจน เพราะโอกาสได้ใกล้ชิดและร่วมมือกับมหาอำนาจ
บรรยากาศความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย อย่างสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่มีความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกได้มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภูมิภาคและประเทศมหาอำนาจ ซึ่งก็ไม่ผิดแปลกเพราะสิงคโปร์มีโอกาสและศักยภาพ
ขณะที่อินโดนีเซียปักธงนโยบายการจะก้าวไปเป็นประเทศศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยไม่หวาดหวั่นในจุดยืนสร้างสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ
แล้วประเทศไทยมองโอกาสและความท้าทายในสถานการณ์แข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างไร
นายกฯเศรษฐาจะนำคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 78 ในระหว่างวันที่ 19 - 24 ก.ย.2566 ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งแน่นอนจะได้พบปะและจับมือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนระหว่างร่วมงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำ ซึ่งเป็นตามธรรมเนียมปฏิบัติ
โอกาสที่นายกฯเศรษฐาไปร่วมประชุมยูเอ็นจีเอจะขึ้นโชว์วิสัยทัศน์ ภายใต้หัวข้อ ภายใต้หัวข้อ “การสร้างความไว้วางใจและการจุดประกายความสามัคคีระดับโลกอีกครั้ง เพื่อเร่งดำเนินการวาระปี 2573 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และความยั่งยืนสำหรับทุกคน” ในวันที่ 22 ก.ย.2566 ตามเวลาสหรัฐ โดยเวทีนี้จะเป็นโอกาสให้นายกฯเศรษฐา แสดงจุดยืนของไทยต่อความร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างแข็งขัน
หลังจากนั้น นายกฯเศรษฐาจะเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.นี้ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
หากดูจากไทม์ไลน์จะเห็นว่า เศรษฐาจะได้พบปะผู้นำสหรัฐต่อด้วยผู้นำจีน ถือเป็นความท้าทายที่ไทยจะยืดหยัดจุดยืนต่อการสร้างสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ
เรื่องนี้ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ มองว่า “ไทยมีความพยายามรักษาสมดุลและขยายความสัมพันธ์ไปสู่ทุกประเทศและภูมิภาค” เพราะสถานการณ์การแข่งขันระหว่างขั้วมหาอำนาจ ทำให้ต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆ เช่น ความเป็นเอกภาพของอาเซียน จะสามารถเข้ามาช่วย และมองแนวทางการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนร่วมกัน เรื่องเป็นความท้าทายกับทุกประเทศ เพราะในที่สุดแล้ว จุดร่วมที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายคือ “การพัฒนาเศรษฐกิจ การกินดีอยู่ดีร่วมกันของคนทั่วโลกอย่างยั่งยืน”