จัดระเบียบโลกใหม่! ‘Global South’ มาแรง จ่อครองโลกแทนสหรัฐ
จัดระเบียบโลกใหม่ไม่ง้อมหาอำนาจ! กลุ่มประเทศ “Global South” จ่อขึ้นแท่น “เจ้าโลก” รายต่อไป สร้างอำนาจต่อรอง - กำหนดอนาคตใหม่ เปิดทาง “จีน” เหนือ “สหรัฐ” มองมหาอำนาจทำ “โลกใต้” เน่าเสีย - บ่อนทำลายคนจำนวนมาก
Key Points :
- “Global South” หรือ “โลกใต้” คือ กลุ่มประเทศที่เคยถูกตีตราว่าล้าหลัง ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว “Global South” เริ่มมีบทบาทบนเวทีโลก สร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจได้มากขึ้น
- ก่อนจะมีคำว่า “Global South” ประเทศเหล่านี้ถูกเรียกว่า “ประเทศโลกที่สาม” กระทั่งในภายหลังมีการใช้คำว่า “โลกใต้” โดยมีนัยด้านภูมิศาสตร์การเมืองมากกว่าการระบุถึงตำแหน่งที่ตั้ง
- หลายประเทศใน “โลกใต้” เริ่มมีท่าทีในการลดบทบาทชาติมหาอำนาจลง อาทิ ลดการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการค้าขาย-ชำระหนี้ ผลักดันสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น
หลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 มหาอำนาจใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น “สหรัฐ” ขึ้นแท่นประเทศยักษ์ใหญ่ที่หลายฝ่ายเกรงกลัว จากการทหารที่เข้มแข็งรวมถึงการถือครองยุทโธปกรณ์อย่าง “ระเบิดปรมาณู” ที่เคยสร้างโศกนาฏกรรมสะเทือนโลกมาแล้ว และเมื่อผลัดใบเข้าสู่ “สงครามเย็น” ก็ถือเป็นการตัดเชือกคู่ชิง “เจ้าโลก” ครั้งใหม่ระหว่าง “สหรัฐ” และ “สหภาพโซเวียต”
เวลาล่วงเลยจน “สหรัฐ” ช่วงชิงสิทธิในการจัดระเบียบโลกครั้งใหม่ไปได้ หลายประเทศทั่วโลกผูกโยงเศรษฐกิจไว้กับสกุลเงินดอลลาร์จากการวางรากฐานระบบการเงินโลกครั้งใหม่ด้วยระบบ “เบรตตัน วูดส์” (Bretton Woods System) แม้ปัจจุบันจะยกเลิกการอ้างอิงดังกล่าวไปแล้ว แต่การวางกลไกในครั้งนั้นก็มีส่วนทำให้สกุลเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกจนถึงปัจจุบัน เพิ่มอำนาจต่อรองของสหรัฐต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนับตั้งแต่นั้นมา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอำนาจที่ “สหรัฐ” เคยถือครองไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว นอกจากการไล่บี้ของ “จีน” ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ประเทศที่ถูกนิยามว่า “โลกใต้” หรือ “Global South” ก็คงจะไม่ยอมอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของสหรัฐต่อไปเช่นกัน ที่ผ่านมา “Global South” ส่งสัญญาณดังขึ้นเรื่อยๆ จากการมองเห็นโอกาสในการกำหนดอนาคตตนเอง หลายประเทศสร้างอำนาจต่อรองจากทรัพยากรที่มีอยู่ บางประเทศลดการเชื่อมโยงกับสกุลเงินดอลลาร์ และส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น บ้างก็เริ่มตระหนักได้ว่า การเข้ามาของประเทศมหาอำนาจที่ผ่านมามีส่วนในการบ่อนทำลายผู้คนมากเพียงใด บทบาทของประเทศ “Global South” ค่อยๆ เสียงดังมากขึ้นจนนำไปสู่คำถามที่ว่า หลังจากนี้บทบาทของ “Global South” จะเป็นอย่างไร ประเทศ “โลกใต้” จะขับเคลื่อนโลกไปในทิศทางไหนบ้าง
- จาก “ประเทศโลกที่สาม” สู่ “โลกใต้”
นัยของคำว่า ประเทศ “โลกใต้” หรือ “Global South” มักใช้กล่าวถึงประเทศกำลังพัฒนามาโดยตลอด แม้จะเรียกว่า “โลกใต้” แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศในกลุ่มนี้ต้องมีที่ตั้งทางซีกโลกใต้เท่านั้น หากแต่เป็นคำเรียกที่ซ่อนความหมายของ “ภูมิศาสตร์การเมือง” เอาไว้ เห็นได้ชัดจาก “จีน” และ “อินเดีย” ที่เป็น “พี่ใหญ่” ของกลุ่มประเทศดังกล่าวแต่กลับมีที่ตั้งอยู่โลกเหนือทั้งหมด ฉะนั้น “Global South” จึงเป็นการผสมผสานระหว่างความคล้ายคลึงกันทางการเมือง ภูมิศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง
ประเทศในกลุ่ม “Global South” หรือ “โลกใต้” โดยส่วนใหญ่มักเป็นประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบลัทธิจักรวรรดินิยมมาก่อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “แอฟริกา” มุมมองของคนนอกโดยเฉพาะประเทศแถบโลกเหนือมีความสัมพันธ์กับ “แอฟริกา” อย่างไม่สมดุลนัก ทำให้ปัจจุบัน “แอฟริกา” เลือกวางเฉย และไม่สอดรับทางอำนาจกับประเทศมหาอำนาจใดเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์นิตยสาร Fortune ระบุว่า “Global South” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1969 โดย “คาร์ล โอเกิลสบี” (Carl Oglesby) นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาได้ระบุถึงคำว่า “Global South” ใน “Commonweal” นิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มเสรีนิยมคาทอลิกไว้โดยเป็นการแสดงความคิดเห็น ว่า “สงครามเวียดนาม” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดถึง “การครอบงำโลกใต้” โดยประเทศทางตอนเหนือ
นอกจาก “โลกใต้” คำที่มีนัยสื่อถึงประเทศกำลังพัฒนาคือ คำว่า “ประเทศโลกที่สาม” หรือ “Third World” ในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม “โลกที่หนึ่ง” กลายเป็นคำนิยามของกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยมก้าวหน้าผ่านการผลิตแบบ “Mass production” ส่วน “โลกที่สอง” คือ ประเทศแนวสังคมนิยมที่ถูกปกครอง - แผ่ขยายอำนาจโดยสหภาพโซเวียต และ “โลกที่สาม” คือประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ยังไม่มีอำนาจในการปกครองตัวเอง อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม
คำว่า “โลกที่สาม” ถูกเรียก และให้ความหมายไปในทางลบ หมายถึงประเทศที่ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากความยากจน สกปรก ไม่มั่นคง ประเทศมหาอำนาจวาดวงกลมให้กับตนเอง และเครือข่าย สร้างนิยามความมั่งคั่ง - เจริญก้าวหน้าไว้แบบหนึ่ง ทำให้ประเทศที่อยู่นอกคำนิยามเหล่านี้ดูล้าหลัง กระทั่งเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า คำเรียกดังกล่าวมีลักษณะเชิงดูแคลน “Global South” ที่มีความเป็นกลางมากกว่าจึงได้รับความนิยม และถูกนำมาใช้แทนที่
- ซุ่มเงียบสร้างอำนาจต่อรอง หมดยุคมหาอำนาจแล้ว?
ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ “จีน” และ “สหรัฐ” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศ “Global South” ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น “อินเดีย” ประเทศที่เคยถูกนิยามว่า มีคนยากจนมากที่สุดกลับได้รับการคาดการณ์จาก “Goldman Sachs” หนึ่งในสถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่า จะผงาดขึ้นสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศที่มีเซกเมนต์ท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเลือกตั้งเป้าดึง “นักท่องเที่ยวอินเดีย” เข้าประเทศมากกว่าการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนไปแล้ว
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานความเห็นของ “นิรุพามา ราว” (Nirupama Rao) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ถึงสัญญาณการแยกตัวออกจาก “ระเบียบโลก” ที่สหรัฐเป็นผู้เขียนไว้ในอดีตว่า ปัจจุบัน “อินเดีย” เริ่มนำร่องการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลแล้ว เธอมองว่า ท่าทีของอินเดียมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ “Global South” ยืนกรานถึงสิทธิในการควบคุม และดำเนินการจัดการทรัพยากรในประเทศของตนเรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น “กานา” ออกนโยบายห้ามส่งออกลิเธียม “อินโดนีเซีย” ห้ามส่งออกแร่นิกเกิล นัยของนโยบายดังกล่าวก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ใน “Global South” อย่างอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และอินโดนีเซีย มีความยินดีที่จะลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของ “จีน” มากกว่า “สหรัฐ” ด้วย “ลูฮุต ปันด์ไจตัน” (Luhut Panjaitan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเล และการลงทุนอินโดนีเซีย กล่าวถึงการตัดสินใจดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างถึงพริกถึงขิงว่า “อินโดนีเซีย” ไม่สามารถอ้อนวอนร้องขอให้ “สหรัฐ” มาโปรดได้อีกแล้ว “สหรัฐ” อาจไม่พอใจที่ “อินโดนีเซีย” ทำการค้ากับประเทศอื่น แต่เพื่อความอยู่รอดจึงมีความจำเป็นต้องตัดสินใจในลักษณะนี้
ด้าน “ลูอิซ อีนาซีโอ ลูลา ดา ซิลวา” (Luiz Inácio Lula da Silva) ประธานาธิบดีบราซิล เคยกล่าวขณะเยือน “จีน” เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมาว่า “Who decided that the dollar?” แปลเป็นไทยว่า “ใครเป็นผู้ตัดสินว่าต้องเป็นสกุลเงินดอลลาร์?” เขามองว่า แต่ละประเทศควรมีอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม “Global South” ก็มีความพยายามวางโรดแมปทางการเงินเพื่อลดความเชื่อมโยงกับสกุลเงินดอลลาร์เช่นกัน “อินโดนีเซีย” เริ่มส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่น ลดความจำเป็นการใช้จ่ายเงินดอลลาร์ในแต่ละวัน “แอฟริกา” เร่งหารือเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินกลาง โดยในช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมีกระแสข่าวออกมามากมายถึงมาตรการ “ลดพึ่งพาดอลลาร์”
จากท่าทีทางการทูตรวมถึงความสนิทชิดเชื้อในรอบปีที่ผ่านมา อาจทำให้เข้าใจไปว่า ประเทศ “โลกใต้” ให้น้ำหนักไปทาง “จีน” หรือ “รัสเซีย” มากกว่า อย่างเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา “บราซิล” ก็เริ่มเก็บ “เงินหยวน” เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศรองจาก “ดอลลาร์” นอกจากนี้ “อาเซียน” ยังมีการหารือร่วมกันของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ถึงการลดใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการค้าขาย-ชำระหนี้ ซึ่ง “บลูมเบิร์ก” ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า ประเทศต่างๆ ใน “โลกใต้” จะไม่เข้าข้างฝักใฝ่ฝ่ายใด จะไม่เลือกข้างในการต่อสู้ระหว่างชาติพญาอินทรี กับจีน หรือรัสเซียอีกต่อไปแล้ว เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาของมหาอำนาจล้วนมีส่วนทำให้โลกใต้ “เน่าเสีย”
- “Global South” จะไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป
นิยามของ “โลกใต้” เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การเปลี่ยนแปลงด้านความมั่งคั่ง” ความร่ำรวยของโลกที่เคยกระจุกกองที่ “ซีกโลกเหนือ” จะไม่เป็นอย่างเดิมอีกต่อไป มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 3 ใน 4 จะมาจาก “โลกใต้” ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยเฉพาะกำลังซื้อของกลุ่ม “บริกส์” (BRICS) ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
-นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย-
ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมี “แต้มต่อ” จากเศรษฐกิจจีนที่ทรุดตัวลงทุกด้าน แต่ “สหรัฐ” กลับล้มเหลวในการใช้ประโยชน์จากความนิยมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของ “สี จิ้นผิง” (Xi Jinping) โดย “แอชลีย์ เทลลิส” (Ashley Tellis) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า “สี จิ้นผิง” เป็นของขวัญจากพระเจ้าสำหรับการสร้างพันธมิตรของสหรัฐในเอเชีย แต่ถึงกระนั้นก็พบว่า “สหรัฐ” แทบจะไม่ได้เก็บสอยประโยชน์เพื่อเสนอทางเลือกที่น่าสนใจให้กับประเทศ “โลกใต้” เลย
เป็นไปได้ว่า สหรัฐยังไม่มีวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตในประเด็นดังกล่าว หรืออาจกำลังชุลมุนกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่จนถึงปัจจุบันทั้งสหรัฐ จีน รวมถึงอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่เคยรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดมาแล้วกำลังเผชิญกับความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
“Asian Century” และ “Post-western World” เริ่มเป็นที่พูดถึงในแวดวงผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง และนักรัฐศาสตร์ พวกเขาเชื่อว่า หลังจากนี้ “Global South” อาจสร้างการเมือง และเศรษฐกิจแบบที่ประเทศกำลังพัฒนา และโลกที่สามไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้
อ้างอิง: Bloomberg, Fortune, TIME, Washington Post
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์