ติวสู้ชีวิต! นร.เกาหลีใต้ ติดดื่มกาแฟหนัก ป.6 ก็เริ่มดื่มแล้ว
ชีวิตต้องสู้! เด็กนักเรียนเกาหลีใต้ติดดื่มกาแฟหนัก หวังให้ตื่นตัว อ่านหนังสือได้นานๆ แม้รัฐจะออกกฎห้ามขายกาแฟในโรงเรียน ก็หาซื้อข้างนอกได้อยู่ดี
Key points :
- การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติเด็กๆ ส่วนใหญ่เจอความเครียดรุมเร้า จากความเชื่อที่ว่า มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่านั้นที่จะเป็นใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดี
- ชีวิตวัยเรียนของเด็กๆ ชาวเกาหลีใต้จึงไม่จบแค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น เพราะยังต้องไปติวเพิ่มเติมที่ "สถาบันกวดวิชา" และเมื่อกลับบ้านก็ยังต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติมด้วยตัวเองอีกด้วย
- กาแฟ และ เครื่องดื่มชูกำลังจึงเป็นทางเลือกของเด็กๆ เพื่อหวังจะให้ร่างกายตื่นตัว อ่านหนังสือได้นาน ไม่ง่วงนอนไปเสียก่อน
เมื่อ “การศึกษา” เป็น “สนามชีวิต” ที่สุดจะตึงเครียดสำหรับเด็กนักเรียนชาวเกาหลีใต้ที่ฝันอยากจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงให้ได้เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่อนาคตอันสดใส
นอกจากธุรกิจติวเตอร์จะมีค่าดั่งทองแล้ว "กาแฟ" ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เด็กๆ เกาหลีใต้คุ้นชินกับมันเป็นอย่างดี ด้วยภาระอันหนักหนา จน 24 ชั่วโมงที่มี ถ้าไม่ต้องนอนได้ เด็กๆ บางคนก็คงทำไปแล้ว
"กาแฟ" และ "เครื่องดื่มชูกำลัง" จึงเป็นทางออกของเด็กๆ จำนวนมากที่นิยมซื้อมาดื่มในทุกๆ วัน เพื่อหวังจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วงนอน มีแรงตะลุยอ่านหนังสือต่อไปได้
ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่า ปริมาณ "คาเฟอีน" ที่สูงเกินขนาด จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่ภาพเด็กๆ ถือแก้วกาแฟใบใหญ่ในมือก็เลยกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในวันนี้
แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสินค้าที่มีคาเฟอีนในสถานศึกษา แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เนื่องจากจำนวนร้านกาแฟในเกาหลีมีอยู่เยอะมาก ถึงขนาดที่มีมากกว่าร้านสะดวกซื้อด้วยซ้ำไป
ดังนั้นถึงเด็กๆ จะหาซื้อกาแฟในโรงเรียนไม่ได้ แต่แค่ก้าวเท้าออกนอกรั้วโรงเรียน ก็จะสามารถเข้าร้านกาแฟราคาถูกใกล้ๆ โรงเรียน หรือ สถาบันกวดวิชาได้อย่างง่ายดาย
เด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 คนหนึ่งตอบคำถามผู้สื่อข่าวจากชเวยุนซอ จาก สำนักข่าวยอนฮับ (Yonhap) เกี่ยวกับการดื่มกาแฟ โดยระบุว่า “มีคาเฟ่ที่ขายกาแฟอยู่ละแวกสถาบันกวดวิชาประมาณ 4 แห่ง ถ้าดื่มแล้วจะลดอาการง่วงนอนขณะเรียน จึงทำให้มีเด็กๆ มาซื้อกาแฟดื่มบ่อยๆ”
- นอนแค่ 4 ชั่วโมง เริ่มดื่มกาแฟตั้งแต่ ป.6
ฮวังโม (นามสมมติ) อายุ 15 ปี ที่ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นม.3 และมาติวเพิ่มเติมที่โรงเรียนกวดวิชามกดง เขตยังชอน กรุงโซล เธอเล่าว่า ตัวเองลดเวลานอนเหลือ 4 ชั่วโมงเมื่อเข้าสู่เทอม2 เนื่องจากการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายเอกชนใกล้เข้ามาถึงแล้ว
เธอเล่าถึงกิจวัตรว่า หลังเลิกเรียน เมื่อทานอาหารเย็นเรียบร้อยแล้ว ก็จะมาที่สถาบันกวดวิชาต่อ แต่ปัญหาก็คือ อาหารเย็นทำให้เปลือกตาหนัก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะซื้ออเมริกาโนแก้วใหญ่ที่คาเฟ่หน้าสถาบันกวดวิชาในช่วงก่อนเรียนหรือระหว่างพัก
เด็กหญิงฮวังกล่าวว่า เธอเริ่มซื้อกาแฟดื่มตั้งแต่สมัยอยู่ชั้น ป.6 จนถึงปัจจุบัน กาแฟก็กลายเป็นสิ่งที่เธอขาดไม่ได้เสียแล้ว
“มีร้านกาแฟจำนวนมากที่เปิดขายอยู่หน้าสถาบันกวดวิชา ตอนแรกซื้อกาแฟดื่มด้วยความอยากรู้อยากลอง แต่ตอนนี้ดื่มราวๆ วันละสองแก้ว จนอาจเป็นการเสพติดไปแล้ว”
ด้าน ยุนโม (นามสมมติ) วัย 13 ปี นักเรียนชายชั้นม.1 ที่เรียนกวดวิชาจนถึง 4 ทุ่ม บอกว่า ช่วงนี้เขาดื่มกาแฟแก้วใหญ่วันละ 1 แก้วทุกวัน เขากล่าวว่า “กว่าจะเลิกเรียนพิเศษก็ดึกแล้ว ผมเริ่มดื่มกาแฟเพราะผมรู้สึกเหนื่อยที่จะอดทนถ้าง่วงนอน” กล่าวต่อ “วันนี้รู้สึกอยากดื่มอะไรหวานๆ วันนี้เลยซื้อมอคค่ามา" เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม
เด็กชายยุนบอกว่า “ถึงแม้จะไม่เคยกลับบ้านแล้วนอนไม่หลับหรือว่ามีอาการแบบนั้น แต่ก็มีช่วงที่หัวใจเต้นเร็วด้วย” ในขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า “ถึงอย่างนั้นในช่วงพักเรียนพิเศษจึงรีบลงมาซื้อกาแฟ เพราะเหมือนว่ามันจะมีประโยชน์เลยดื่มบ่อยๆ”
เด็กหญิงอีโม (นามสมมติ) วัย13 นักเรียนชั้นม.1 ที่ถือไอซ์ลาเต้ไว้ในมือ กล่าวว่า
"ทุกวันนี้มีคาเฟ่อย่าง 'XX Coffee' มากกว่าร้านต๊อกบกกี" และ "การที่ไม่ขายกาแฟในในโรงเรียนไม่ได้หมายความว่านักเรียนจะไม่ดื่มกาแฟ"
- กฎหมายก็ห้ามเด็กๆ ที่อยากตาสว่างไม่ได้
ความกังวลเกี่ยวกับการบริโภคกาแฟของเยาวชนกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาเฟ่แฟรนไชส์เริ่มเข้ามาสร้างใกล้กับโรงเรียนและสถาบันกวดวิชา รวมทั้งย่านใจกลางเมืองที่มีประชากรอยู่จำนวนมาก วัยรุ่นบอกว่า สามารถหาซื้อกาแฟได้ทุกที่และในราคาถูก
วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับปัจจุบันในการปกป้องเยาวชนจากอาหารที่เป็นคาเฟอีน เช่น กาแฟและเครื่องดื่มชูกำลัง ดูเหมือนจะไม่มีความหมาย
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง หมายถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากกว่า 15 มิลลิกรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จากข้อมูลของกระทรวงความมั่นคงของอาหารและยา แนะนำให้วัยรุ่นและเด็กบริโภคคาเฟอีน 2.5 มิลลิกรัมหรือน้อยกว่า ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม โดยปริมาณคาเฟอีนสูงสุดที่แนะนำ คือ 125 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับวัยรุ่นที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของเหล่าแบรนด์กาแฟราคาย่อมเยา พบว่า มีปริมาณคาเฟอีนในอเมริกาโนเย็น ขนาด 20 ออนซ์ (ประมาณ 600 มล.) อยู่ที่ 204.2 มิลลิกรัม เมื่อเทียบกับนักเรียนชั้นประถม ม.ต้น และ ม.ปลายแล้ว ดื่มแค่แก้วเดียวก็เกินปริมาณการรับประทานสูงสุดอย่างง่ายดาย
ชีวิตการเรียนการสอบที่ตึงเครียดของเด็กๆ ชาวเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม การบริโภคเครื่องคาเฟอีนของวัยรุ่นอยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดา ในการสำรวจสุขภาพของเยาวชน 60,000 คนในโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย 800 แห่งทั่วประเทศ เมื่อปีที่แล้วโดยสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลีประมาณ พบว่า 22.3% ของวัยรุ่นตอบว่าพวกเขาบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 26.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาดื่มสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
ตามพระราชบัญญัติพิเศษว่าด้วยการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับเด็ก ระบุให้ อาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเป็นอาหารที่ "ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ" จากอาหารที่ถูกต้องสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา ได้ออกคำสั่งห้ามขายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ในโรงเรียน
นอกจากนี้ กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา ยังให้แสดงข้อความเตือนเกี่ยวกับผลข้างเคียงของเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนบนชั้นวางของในร้านสะดวกซื้อประมาณ 700 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนทั่วประเทศ เพราะแม้แต่ในร้านสะดวกซื้อนักเรียนก็สามารถซื้อกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังได้อย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎระเบียบหรือมาตรการที่แยกต่างหากสำหรับการบริหารจัดการและกำกับดูแลคาเฟ่ราคาถูกละแวกสถาบันกวดวิชาที่นักเรียนมักจะซื้อกาแฟ
เจ้าหน้าที่กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาคนหนึ่งกล่าวว่า "ไม่มีกฎหมายในการควบคุมการขายกาแฟให้กับวัยรุ่นในคาเฟ่รอบๆ โรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชา" และ "เราไม่สามารถติดสติกเกอร์เพื่อแจ้งผลข้างเคียงของเครื่องดื่มโกคาเฟอีนภายในคาเฟ่ได้"
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การบริโภคคาเฟอีนในวัยรุ่นมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ
คังแจฮอน ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวที่โรงพยาบาลคังบุกซัมซอง กล่าวว่า "วัยรุ่นมักจะเสพติดกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมุ่งเป้าไปที่ผลของการตื่นตัวเพื่อให้สามารถอ่านหนังสือได้เป็นเวลานาน" และ "การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปไม่เพียงแต่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโต ทั้งยังส่งเสริมการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารได้"
นอกจากนี้เขายังเสริมว่า "แม้หลังจากดื่มกาแฟแล้วสมาธิอาจเพิ่มขึ้นทันที แต่เมื่อประสิทธิภาพของคาเฟอีนลดลง สมาธิก็อาจจะลดลงตามมา และยังส่งผลต่อระบบประสาทอาจอ่อนไหว"
"กาแฟที่ขายในคาเฟ่ราคาถูกซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในระยะหลัง ถึงแม้จะดื่มเพียงแก้วเดียวก็เกินคำแนะนำในการบริโภคคาเฟอีนสำหรับเยาวชนในแต่ละวันแล้ว ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะให้คำแนะนำพิเศษผ่านการศึกษาสุขภาพในโรงเรียน" เขากล่าวเสริม
อ้างอิง : สำนักข่าวยอนฮับ