สัมพันธ์‘แคนาดา-อินเดีย’ร้าว กระทบแผนคานอิทธิพลจีนในภูมิภาค

สัมพันธ์‘แคนาดา-อินเดีย’ร้าว กระทบแผนคานอิทธิพลจีนในภูมิภาค

อินเดียเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 10 ของแคนาดาในปี 2565 และมีมูลค่าการค้าทวิภาคีที่ 11,900 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน เพิ่มขึ้น 56% จากปีก่อนหน้า จึงมีเดิมพันที่สูงมาก หากไม่เร่งคลี่คลายปมขัดแย้งครั้งนี้

การฆาตกรรมผู้นำชาวซิกข์ที่เกิดขึ้นในแคนาดาเมื่อเดือนมิ.ย.กำลังจุดชนวนขัดแย้งทางการทูตครั้งใหญ่ ที่อาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและอินเดีย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนยุทศาสตร์ทั้งด้านความมั่นคงและการค้า และเป็นสิ่งที่ทั้งสหรัฐและชาติตะวันตกไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและแคนาดาถึงจุดแตกหักเมื่อวันจันทร์ (18 ก.ย.) หลังจากนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า แคนาดากำลังสอบสวนข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือว่า รัฐบาลอินเดียอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงสังหาร ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ บริเวณด้านนอกวัดซิกข์ ในรัฐบริทิชโคลัมเบีย ของแคนาดาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. และบอกด้วยว่า ความเกี่ยวข้องใด ๆ ของรัฐบาลต่างชาติกับการสังหารพลเมืองแคนาดาเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศที่ไม่อาจยอมรับได้

‘ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์’เป็นใคร

 ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ เกิดในอินเดียแต่ต่อมาได้เป็นพลเมืองของแคนาดา เป็นหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ในรัฐปัญจาบ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาซิกข์ และมีพรมแดนติดกับปากีสถาน ทางการอินเดียประกาศขึ้นบัญชีดำว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้ายเมื่อ 3 ปีก่อน และตั้งเงินรางวัลในปีที่แล้ว เพื่อหวังได้เบาะแสที่จะนำไปสู่การจับกุม โดยกล่าวหาว่า เขาเกี่ยวข้องกับการทำร้ายนักบวชฮินดูในอินเดีย 

การเสียชีวิตของนิจจาร์ เกิดขึ้นในขณะที่เขาพยายามจัดการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการในอินเดียเรื่องการก่อตั้งดินแดน “คาลิสถาน” ที่เป็นรัฐอิสระของชาวซิกข์
 

ผลกระทบต่อความสัมพันธ์อินเดีย-แคนาดา

อินเดียปฏิเสธข้อกล่าวหาในประเด็นที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมนิจจาร์ โดยบอกว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ ทั้งยังสวนกลับให้แคนาดาหันไปปราบปรามกลุ่มต่อต้านอินเดีย ที่ปฏิบัติการอยู่ในแคนาดาจะดีกว่า

ความขัดแย้งในเรื่องนี้ ทำให้แคนาดาและอินเดียต่างสั่งขับนักการทูตของอีกฝ่ายออกนอกประเทศ และล่าสุด อินเดียระงับบริการด้านวีซ่าแก่พลเมืองในแคนาดา และแคนาดาเองก็ปรับลดนักการทูตที่ประจำในอินเดียชั่วคราว โดยทั้งสองฝ่ายให้เหตุผลว่า นักการทูตได้รับคำขู่คุกคามความปลอดภัย

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ทั้งสองประเทศเพิ่งมีความคืบหน้าที่จะนำไปสู่การลงนามข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ร่วมกันภายในปีนี้ หลังเจรจากันมาอย่างยาวนาน แต่ตอนนี้การเจรจาต้องถูกระงับไปก่อน

อินเดียเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 10 ของแคนาดาในปี 2565 และมีมูลค่าการค้าทวิภาคีที่ 11,900 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน เพิ่มขึ้น 56% จากปีก่อนหน้า ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงมีเดิมพันที่สูงมาก หากไม่เร่งคลี่คลายปมขัดแย้งครั้งนี้
สัมพันธ์‘แคนาดา-อินเดีย’ร้าว กระทบแผนคานอิทธิพลจีนในภูมิภาค

ปัญหาแบ่งแยกดินแดนของชาวซิกข์

ศูนย์กลางความขัดแย้งในเรื่องนี้คือ ขบวนการคาลิสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่ต้องการจัดตั้งรัฐอธิปไตย ที่มีชื่อว่า คาลิสถานในรัฐปัญจาบของอินเดีย และที่ผ่านมาอินเดียกล่าวหาว่า แคนาดาให้ที่พักพิงแก่นักเคลื่อนไหวคาลิสถานและกลุ่มสุดโต่งที่ต่อต้านอินเดีย

การเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งคาลิสถานพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980 แต่ต่อมากองกำลังติดอาวุธถูกกวาดล้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และปัจจุบันกระแสแบ่งแยกดินแดนไม่ได้รับความสนใจอีกแล้วในปัญจาบ

แต่การขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้รับการผลักดันในหมู่ชาวซิกข์พลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และอังกฤษ และรัฐบาลอินเดียแสดงจุดยืนต่อต้านการประท้วงและการจัดประชามติเรื่องการก่อตั้งรัฐคาลิสถานของนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ ที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น

ทำไมชาติตะวันตกกังวล หากอินเดีย-แคนาดาแตกคอ

ขณะนี้ชาติตะวันตกบางชาติ บอกเพียงว่า กังวลต่อข้อกล่าวหาที่ว่าอินเดียอาจเกี่ยวข้องกับการสังหารนิจจาร์ และกำลังรอดูผลการสอบสวนของแคนาดา โดยเฉพาะในอังกฤษและออสเตรเลีย ที่มีชุมชนชาวซิกข์ขนาดใหญ่ แสดงจุดยืนอย่างระมัดระวัง เพราะมีความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งระหว่างแคนาดาและอินเดียอาจกระทบต่อการเมืองภายในประเทศ

ขณะที่ชาติพันธมิตรสำคัญของแคนาดา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่อยู่ในกลุ่ม Five Eyes พันธมิตรแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองร่วมกัน ก็ยังไม่ออกมาสนับสนุนข้อกล่าวหาของแคนาดาว่า อินเดียอยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมนายนิจจาร์

นักวิเคราะห์มองว่า เหตุผลหลักที่ชาติเหล่านี้ยังคงนิ่งเงียบเป็นเพราะให้ความสำคัญกับอินเดียเพื่อคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาค บวกกับอินเดียกำลังจะก้าวสู่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกในปี 2573 จะเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในกิจการของโลก และยังมีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แต่สหรัฐ และพันธมิตร ก็กังวลกับทิศทางการเมืองของอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี หลังจากเหตุรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มสูงขึ้นนับจากรัฐบาลของเขาเข้าบริหารประเทศ และยังมีข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน พัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและชาติตะวันตกถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากจีนและรัสเซีย โดยจีนไม่อยากเห็นอินเดียกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับประเทศ ที่มีแนวคิดเหมือนกันในการต้านทานจีน และรัสเซียย่อมอยากเห็นแคนาติดหล่มในวิกฤตครั้งนี้

ดังนั้นการเผชิญหน้าระหว่างอินเดียและแคนาดาจะส่งผลลัพธ์ต่อภูมิรัฐศาสตร์ และหากถึงจุดที่ต้องเลือกข้าง ชาติตะวันตกคงต้องขบคิดอย่างหนักว่าจะเลือกอินเดียหรือแคนาดา เลือกระหว่างการสนับสนุนหลักนิติธรรม หรือ ความจำเป็นทางการเมือง