เรามองความสำเร็จล่าสุดของรัฐบาลอย่างไร?
นายกรัฐมนตรี รายงานผลการไปปฏิบัติภารกิจในมหานครนิวยอร์กเมื่อต้นสัปดาห์ ว่าประสบความสำเร็จสูงหลายด้าน หนึ่งในนั้นได้แก่ บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐรับปากว่าจะนำเงินทุนใกล้ 2 แสนล้านบาทมาลงในเมืองไทย
การเชิญชวนนายทุนต่างชาติด้วยการให้แรงจูงใจมีมานาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน ทุนที่จะมานั้นมีรายงานว่าจะไปลงในเวียดนาม แต่เปลี่ยนใจเพราะแรงจูงใจของไทยเหนือกว่า กระนั้นก็ตาม เรามองได้ไหมว่าปรากฏการณ์นี้บ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการพัฒนามากกว่าความสำเร็จ?
ย้อนไปในสมัยเกิดเทคโนโลยีเครื่องจักรกล ส่งผลให้เกิดโรงงานและการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ฝรั่งนำหน้าและออกแสวงหาทรัพยากรไปป้อนโรงงานผ่านการล่าอาณานิคม ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก
ไทยกับญี่ปุ่นไม่เสียเอกราช และเริ่มพยายามหาทางพัฒนาให้ก้าวหน้าตามฝรั่ง ในยุคนั้นมีการเปิดรับทุนต่างชาติ โดยเฉพาะให้ฝรั่งนำเงินทุนพร้อมเทคโนโลยีใหม่เข้ามาพร้อมๆ กับการส่งคนหนุ่มไปเรียนกับฝรั่ง
ผลออกมาต่างกันเป็นที่ประจักษ์ จากปัจจัยอะไรบ้างอาจถกกันไม่รู้จบ แต่ใคร่ให้พิจารณาเรื่องนี้ กล่าวคือ หนุ่มญี่ปุ่นกลับจากยุโรปมาช่วยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ในบ้านเกิดของตน ส่วนหนุ่มไทยกลับมาใช้อาวุธยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนระบบการปกครอง
ความสำเร็จของญี่ปุ่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมนำไปสู่การล่าอาณานิคม และแย่งชิงทรัพยากรกับฝรั่งอย่างเข้มข้น จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้น แนวคิดด้านการพัฒนาเปลี่ยนมาเน้นการจูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงมากขึ้น ส่วนการส่งคนไปเรียนในประเทศก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังมีอยู่เช่นเดิม
ไทยกับเกาหลีใต้ใช้แนวคิดเดียวกันเพื่อเร่งรัดพัฒนา หลังเวลาผ่านไปไม่ถึง 40 ปี เกาหลีใต้บรรลุเป้าหมายกลายเป็นผู้ส่งเงินทุนไปลงในต่างประเทศรวมทั้งในเมืองไทย ซึ่งยังดำเนินมาตรการจูงใจให้ทุนต่างชาติเข้ามาเช่นเดิม
ในช่วงเวลาที่เกาหลีใต้และไทยอยู่ในกระบวนการเร่งรัดพัฒนานั้น เกิดเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง จีนเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบคอมมิวนิสต์เป็นระบบกึ่งตลาดเสรี พร้อมกับเปิดรับทุนจากต่างชาติและส่งคนไปเรียนเทคโนโลยีใหม่ในต่างประเทศ
จีนใช้เวลาน้อยกว่าเกาหลีใต้ในการพัฒนาจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกทุนไปลงยังต่างประเทศ ทั้งนี้คงเพราะจีนเคยก้าวหน้ากว่าฝรั่งมานานก่อน การแตกแยกภายในจะทำให้การพัฒนาชะงักไปหลายร้อยปี
การมีวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งพร้อมความคิดชนิดก้าวหน้ามาตั้งแต่ดั้งเดิมนั้น มองได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
ความสำเร็จของญี่ปุ่นในยุคเทคโนโลยีเครื่องจักรกลส่งผลให้เกิดโลกครั้ง 2 ความสำเร็จของจีนในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรอย่างเข้มข้นระหว่างจีนกับฝรั่ง แต่ทั้งสองฝ่ายคงไม่ต้องการทำสงครามโลกครั้งที่ 3
เพราะตระหนักดีถึงความหายนะจากอาวุธมหาประลัยในครอบครองของตน ไทยมีทรัพยากรที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ หากมีทางยึดไทยไว้เป็นอาณานิคมของตนได้ ทั้งสองฝ่ายคงไม่ลังเล
ในภาวะที่จีนและฝรั่งแข่งขันกันนี้ ไทยมีโอกาสหลีกเลี่ยงการเป็นอาณานิคมได้ในแนวเดียวกับเมื่อครั้งฝรั่งเศสและอังกฤษแข่งขันกันล่าอาณานิคมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการจูงใจให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาลงทุน
แต่การทำเช่นนั้นได้อาจมิใช่ความสำเร็จ หากมองว่าไทยพยายามทำมากว่าร้อยปี และประเทศในเอเชียตะวันออกที่พยายามพัฒนาตามฝรั่งให้ทันสำเร็จกันไป 3 รุ่นแล้ว
ณ วันนี้ไทยมีเวียดนามเป็นคู่แข่งในด้านการแสวงผู้มาลงทุน ไทยอาจชนะเวียดนามตามที่อ้างถึงข้างต้น แต่เป็นไปได้สูงว่าอีกไม่นานเวียดนามจะพัฒนาออกหน้าไทยไปเป็นรุ่นที่ 4
ทั้งนี้เพราะชนชั้นผู้นำในรัฐบาลของเวียดนามมีความมุ่งมั่นสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านการแสวงหาปัญญามาเสริม หรือความจริงใจในเจตนาพัฒนาประเทศของตน ในขณะที่ชนชั้นผู้นำในรัฐบาลไทยไร้ความจริงใจมานาน
ซ้ำร้ายในช่วง 20 ปีมานี้ยังมีการมอมเมาชาวไทยให้เสพติดนโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย ซึ่งรังแต่จะใช้เงินทุนที่มีจำกัดให้หมดไปแบบแทบไม่มีผลดีต่อการพัฒนาอีกด้วย