ความตกลง 'PCA ไทย-ยุโรป' หนุนการค้า ต่อยอดเจรจา 'เอฟทีเอ'
ความตกลง 'PCA ไทย-ยุโรป' หนุนการค้า ต่อยอดเจรจา 'เอฟทีเอ' โดยอียูเป็นตลาดคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 5 ของไทย ซึ่งไทยมีการค้าเกินดุลกับอียู และมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อียู ในปี 2565 มากกว่า 41,000 ล้านบาท
เมื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต ประเทศไทยจึงจัดทำกรอบความตกลงด้านเศรษฐกิจและการค้ากับหลายภูมิภาค และหนึ่งในภูมิภาคสำคัญที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย จนเกิดการค้าเกินดุลคือภูมิภาคยุโรป
ปัจจุบัน ไทยกำลังจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (พีซีเอ ไทย-อียู) กระทรวงการต่างประเทศจึงจัดสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับความตกลงดังกล่าว ในหัวข้อ “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า” เมื่อวันพุธที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา
“บุษฎี สันติพิทักษ์” รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในพิธีเปิดสัมมนาว่า ความตกลงดังกล่าวมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการค้าของไทย และควรส่งเสริมรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยให้เหตุผลสำคัญ 3 ประการ อาทิ
1. พีซีเอมีประโยชน์ต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับอียู เนื่องจากอียูเป็นตลาดคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 5 ของไทย ซึ่งไทยมีการค้าเกินดุลกับอียู และมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อียู ในปี 2565 มากกว่า 41,000 ล้านบาท
2.อียูเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (ซีแบม) ทำให้สินค้าการเกษตรบางชนิดต้องปรับตัวให้ธุรกิจและสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3.อียูสนใจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมองว่าอาเซียนเป็นพันธมิตรท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ และอาเซียนเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เห็นได้จากธุรกิจในอียูเริ่มย้ายฐานผลิตจากจีนมาภูมิภาคนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ ความตกลงดังกล่าว ยังช่วยสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการส่งเสริมการเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจใหม่ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
“อสิ ม้ามณี” อธิบดีกรมยุโรป ผู้ร่วมบรรยายสัมมนา เผยว่า พีซีเอ คือ แผนงานความร่วมมือระหว่างไทย-อียู แบบกว้าง ที่ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสถานะประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่มีมาตรฐานต่าง ๆ เท่าเทียมกับสหภาพยุโรป ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่ต้องดำเนินร่วมกัน
ในด้านเศรษฐกิจ พีซีเอก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีแนวปฏิบัติของยุโรปที่ดีต่อไทย เช่น นโยบานด้านการเกษตร ความปลอดภัยอาหาร และสิ่งแวดล้อม ช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ อาทิ สุขอนามัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการเข้าถึงตลาด และเสริมสร้างการเข้าถึงแหล่งทุน
กรมยุโรป ประเมินว่า หากมีการบังคับใช้พีซีเอ ทำให้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของอียู ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย 1.7 ล้านครัวเรือน ในสินค้าเกษตร 7 ประเภท เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อให้พัฒนาสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ พีซีเอยังช่วยบรรเทาวิกฤติต่าง ๆ ในไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่น ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งนี้ ไทยและอียูบรรลุความตกลงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และลงนามความตกลง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมเมื่อเดือน ธ.ค.ปีก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ
ด้าน “จิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การค้าระหว่างไทยและอียู มีความท้าทาย เนื่องจากนโยบายอียูกรีนดีล มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้อียูต้องปรับนโยบายต่าง ๆ จนส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า การทำพีซีเออาจช่วยบรรเทาความท้าทายและยกระดับความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น
เมื่อพิจารณาข้อบทในพีซีเอและเอฟทีเอ จิรัตถ์พบว่า ความตกลงทั้งสองมีความคล้ายกัน นอกจากพีซีเอช่วยแลกเปลี่ยนข้อมูลและหนุนสร้างความร่วมมือระหว่างไทย-อียู ยังสนับสนุนการจัดเวทีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และข้อตกลงยังสอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ จิรัตถ์เชื่อว่า การทำพีซีเอจะช่วยสนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอต่อไป
“ดร.ภก. นิลสุวรรณ ลีลารัศมี” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า พีซีเอช่วยรักษาผลประโยชน์การค้าในสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปยังยุโรป
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลบางส่วนจากอุตสาหกรรมที่รัฐบาลควรพิจารณา เช่น คำนิยามสินค้ารีแมนูแฟคเจอริง (การชุบชีวิตสินค้าเก่าให้กลับมาใช้งานได้ใหม่) จึงขอให้มีการตรวจสอบนำเข้าสินค้าประเภทนี้อย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้นำไปใช้ต่อ, ความชัดเจนของมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไทยผลิตสินค้าตรงตามมาตรฐานอียู, ไม่ควรขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา เพราะอาจกระทบบริษัทที่จะนำยาต้นแบบไปใช้ ตลอดจนนโยบายแข่งขันทางการค้าและการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เนื่องจากการเปิดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทำให้ต่างประเทศเข้ามาจัดซื้อจัดจ้างในไทยมากขึ้น อาจกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย
อย่างไรก็ดี นิลสุวรรณ ยืนยันว่า ภาคอุตสาหกรรมยังคงได้ประโยชน์จากพีซีเอ ในด้านแบ่งปันความรู้ทางเทคโนโลยี และแนะนำให้ภาคเอกชนและประชาชน ช่วยตรวจสอบและเสนอความเห็น เพื่อระดมความคิดว่า ประเทศไทยต้องทำอย่างไร ให้ได้ประโยชน์จากพีซีเอมากที่สุด