ถอดบทเรียน‘จีน’ป่วย ทำเศรษฐกิจโลกติดไข้ตาม
เคยมีคำกล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อสหรัฐจาม ทั้งโลกก็ติดหวัดไปด้วย”แต่หาก “จีน” เกิดรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวจามขึ้นมาบ้าง ทั้งโลกจะติดหวัดไปด้วยหรือไม่ อย่างไร ติดตามได้จากรายงาน
ปัจจุบัน เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน กำลังเผชิญกับมรสุมใหญ่หลายลูกด้วยกัน ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อัตราการว่างงานที่พุ่งสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์
บรรดานักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่า ความกังวลว่าปัญหาเศรษฐกิจจีนจะฉุดเศรษฐกิจโลกถึงขึ้นเผชิญหายนะไปด้วยนั้น “เป็นเรื่องที่เกินจริง” แต่แน่นอนว่าแรงกระแทกบางอย่างย่อมเกิดขึ้น ตั้งแต่บริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจกับจีน แรงงาน และแม้แต่คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับจีนก็อาจรับรู้ผลกระทบบางอย่างด้วย ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใครเท่านั้น
“ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้”
“เดโบราห์ เอลม์ส” กรรมการผู้จัดการของศูนย์เอเชียน เทรด เซ็นเตอร์ ในสิงคโปร์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างง่ายว่า หากคนจีนกินอาหารกลางวันกันน้อยลง ก็จะส่งผลต่อบริษัทที่พึ่งพาการบริโภคของจีนไปด้วย แต่คงไม่ถึงขั้นกระทบกับเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้รายได้ของบริษัทระดับโลกหลายร้อยแห่ง เช่น แอปเปิ้ล โฟล์คสวาเกน และเบอร์เบอรี ต่างก็ต้องพึ่งพาการบริโภคของจีนเป็นหลัก และจะได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายของชาวจีนที่ซึมลงด้วย จากนั้นผลกระทบก็จะถูกส่งต่อไปอีกทอดถึงบริษัทซัพพลายเออร์หลายพันรายและแรงงานทั่วโลกที่อยู่ภายใต้ซัพพลายเชนเดียวกัน
ล่าสุด บริษัทจัดอันดับเครดิต ฟิทช์ เรตติ้งส์ ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เมื่อเดือนส.ค. ว่า การอ่อนแรงของเศรษฐกิจจีนกำลังบดบังการเติบโตของเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งประกาศลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ลง
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางรายกลับมองต่างออกไปว่า ความคิดที่ว่าเศรษฐกิจจีนเป็นเครื่องยนต์ที่หล่อเลี้ยงความมั่งคั่งของโลกนั้นเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริง
“ในเชิงตัวเลขอาจจะใช่ เพราะเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็น 40% ของจีดีพีโลก แต่คำถามก็คือ ใครได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้ ปัจจุบันจีนได้ดุลการค้าเกินดุลมหาศาล มีการส่งออกมากกว่าการนำเข้ามาก ดังนั้นจีนจะโตหรือไม่โตก็คือเรื่องของจีนเป็นหลัก ไม่ใช่ของโลก” จอร์จ แม็กนัส นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวกับบีบีซี
ทว่าในข่าวร้ายก็ยังพอมี “ข่าวดี” อยู่บ้าง เพราะปกติแล้วหากการบริโภคของรายใหญ่อย่างจีนอ่อนแรงลง ก็จะฉุดราคาสินค้าในภาพรวมให้ลดลงตามมาด้วย ซึ่งจากมุมมองของผู้บริโภคในตะวันตกอาจถือเป็นเรื่องดีที่สามารถดึงเงินเฟ้อลงมาได้โดยไม่ต้องใช้กลไกขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะประเทศที่ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อสูง
ในระยะยาวอาจเป็นสถานการณ์ที่ต่างออกไป โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน ตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการประมาณการว่าจีนได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการ “ความริเริ่มหนึ่งแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) เป็นเงินมหาศาลมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (กว่า 36 ล้านล้านบาท) ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลกโครงการเหล่านี้อาจต้องสะดุดลงหากจีนมีปัญหาเศรษฐกิจในบ้าน
จีนกับโลก
ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจภายในของจีนจะส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศกับโลกอย่างไร
บางฝ่ายอาจแย้งว่าจีนที่อ่อนแอกว่าอาจพยายามฟื้นความสัมพันธ์ที่เสียหายกับสหรัฐ แต่ก็ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าจีนจะอ่อนท่าทีลง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐและสหภาพยุโรปยังคงเดินทางไปจีนทุกเดือนเพื่อติดตามการเจรจการค้าทวิภาคี ซึ่งความจริงก็คือ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ระหว่างวาทกรรมกับนโยบายของจีน
ตัวอย่างหนึ่งของการตีความที่สุดโต่งมาจากสายเหยี่ยวในวอชิงตัน ซึ่งกล่าวว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลกระทบต่อวิธีจัดการกับไต้หวัน โดยเมื่อต้นเดือนนี้“ไมค์ กัลลาเกอร์”สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการคัดเลือกยุทธศาสตร์แข่งขันกับจีนในสภาล่าง กล่าวว่า ปัญหาภายในกำลังทำให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน “คาดเดาได้ยาก” และอาจทำให้เขา “ทำในสิ่งที่โง่เขลามาก” เกี่ยวกับไต้หวัน เพราะ “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของจีนจบลงแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อเช่นนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ มองว่าผู้นำจีนแค่กำลัง “เต็มมือไปหน่อย” ในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่คิดว่าจะทำให้จีนบุกไต้หวัน และอาจตรงกันข้าม จีนอาจจะไม่มีความสามารถเท่ากับเมื่อก่อน
คาดฝันถึงสิ่งที่ไม่คาดหวัง
เอลม์ส กล่าวว่า ก่อนวิกฤตซับไพรม์ปี 2551 และการล่มสลายของ “เลห์แมน บราเธอร์ส” ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนในวอลล์สตรีตแทบไม่มีใครคิดว่าสินเชื่อซับไพรม์ในลาสเวกัสจะส่งคลื่นกระแทกผ่านเศรษฐกิจโลกได้
บทเรียนนี้เองที่ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนกังวลถึง “การลุกลาม” โดยกลัวว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจจะนำไปสู่การล่มสลายครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจจีน และเกิดการล่มสลายทางการเงินทั่วโลกตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม็กนัส มองว่านี่ไม่ใช่วิกฤตแบบเดียวกับเลห์แมน เพราะจีนไม่น่าจะปล่อยให้ธนาคารขนาดใหญ่ของพวกเขาล่มสลาย และจีนก็มีงบดุลที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารระดับภูมิภาคและชุมชนหลายพันแห่งในสหรัฐ
เอลม์ส เห็นพ้องว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนไม่ได้เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแบบซับไพรม์สหรัฐ นอกจากนี้ ระบบการเงินของจีนยังไม่ครอบคลุมพอที่จะส่งผลกระทบระดับโลกโดยตรง
“เราเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก เมื่อคุณมีกลไกขนาดใหญ่ตัวใดตัวหนึ่งไม่ทำงาน มันจะส่งผลกระทบต่อพวกเราที่เหลือ และมักจะมาในลักษณะที่ไม่คาดฝัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังจะซ้ำรอยวิกฤตปี 2551 ประเด็นก็คือ สิ่งที่บางครั้งดูเหมือนเป็นแค่เรื่องในท้องถิ่นหรือความกังวลภายในประเทศ ก็อาจส่งผลกระทบต่อเราทุกคนได้ แม้แต่ในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึงก็ตาม ” เอล์มส กล่าว