รู้จัก "Cell Broadcast" ระบบเตือนภัยผ่านมือถือที่ทั่วโลกใช้

รู้จัก "Cell Broadcast"  ระบบเตือนภัยผ่านมือถือที่ทั่วโลกใช้

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดในห้างสยามพารากอน เมื่อช่วงเย็นวันอังคารที่ 3 ต.ค. 2566 ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องมี "ระบบการแจ้งเตือนภัย" (Emergency Alert System)

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดภายในบริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อช่วงเย็นวันอังคารที่ 3 ต.ค. 2566 จนเกิดความตื่นตระหนกขึ้นเป็นวงกว้าง และทำให้บรรดาสื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางหลักของการรับรู้ข่าวสาร ได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียอีกครั้ง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องมี "ระบบการแจ้งเตือนภัย" (Emergency Alert System) เหมือนในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคใหม่ที่เป็นการเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ "Cell Broadcast"

Cell Broadcast คือวิธีการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายๆ เครื่อง ในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในคราวเดียว รองรับมาตรฐานตั้งแต่ 2G, 3G, 4G LTE ไปจนถึง 5G หน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงถึงประชาชนได้โดยไม่ต้องผ่านค่ายมือถือ ทำให้เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว เหมาะสมกับการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายได้ทันสถานการณ์

ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายสิบประเทศทั่วโลกมีการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินหรือสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินเป็นวงกว้าง อาทิ 

  • สหภาพยุโรป (อียู) 

อียูมีการวางมาตรฐานระบบเตือนภัยที่ชื่อว่า EU-Alert ผ่านเทคโนโลยี Cell Broadcast มาตั้งแต่ปี 2012 รองรับโทรศัพท์มือทุกระบบปฏิบัติการณ์ตั้งแต่ ไอโอเอส แอนดรอยด์ ไปจนถึงวินโดว์ส   

ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอียูที่ใช้งานระบบเตือนภัยนี้แล้วประมาณ 9 ราย อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน และเดนมาร์ก และมีอีกประมาณ 7 ประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการเริ่มทดลองใช้ระบบนี้ อาทิ อิตาลี ออสเตรีย และไอร์แลนด์ 

รู้จัก \"Cell Broadcast\"  ระบบเตือนภัยผ่านมือถือที่ทั่วโลกใช้

ขณะที่บางประเทศยังใช้ระบบเตือนภัยเฉพาะของประเทศตนเอง เช่น สวีเดน ที่มีระบบการแจ้งเตือนภัย (VMA) ผ่านหลายวิธีผสมผสานกันไป ตั้งแต่แจ้งผ่านโทรศัพท์มือถือ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์บ้าน สื่อโซเชียลมีเดียทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ไปจนถึงไซเรนกระจายเสียงในชุมชน

  • สหรัฐ

สหรัฐใช้ชื่อว่า Wireless Emergency Alerts (WEA) ที่แจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่ปี 2008 หลังจากมีการออกฎหมายเตือนภัยพิบัติเมื่อปี 2006 โดยมีการใช้ระบบเตือนภัยผ่านมือถือควบคู่ไปกับการเตือนภัยฉุกเฉินทั่วไป (Emergency Alert Systems) ที่ปกติแล้วจะเป็นการเตือนผ่านโทรทัศน์ วิทยุ เคเบิล วิทยุดาวเทียม  

ลักษณะการเตือนจะเป็นข้อความ SMS ความยาวประมาณไม่เกิน 360 ตัวอักษร มีการแจ้งเตือน รายละเอียด คำแนะนำ และหน่วยงานที่ส่งมา โดยอาจมาพร้อมเสียงหรือการสั่นแล้วแต่การตั้งค่าของเครื่อง

รู้จัก \"Cell Broadcast\"  ระบบเตือนภัยผ่านมือถือที่ทั่วโลกใช้

สำหรับรูปแบบการเตือนของสหรัฐจะมี 3 ประเภทหลักๆ คือ
1. การเตือนโดยประธานาธิบดีสหรัฐ หรือสำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA)
2. การเตือนที่เกี่ยวกับภัยคุกคามต่อชีวิต โดยแบ่งเป็นภัยร้ายแรง และภัยร้ายแรงสุดขีด
3. การเตือนเรื่องการลักพาตัวเด็ก (AMBER Alert)

 

  • เอเชีย

ปัจจุบันมีรัฐบาลหลายประเทศในเอเชียที่ใช้ระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือ อาทิ
- "เกาหลีใต้" ใช้ชื่อว่า KPAS ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2005 ใช้เตือนภัยหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ภัยความมั่นคงระดับประเทศ ไปจนถึงแจ้งเตือนช่วงสถานการณ์โควิด-19 และแจ้งเตือนภัยคุกคามเช่น การขู่วางระเบิด 

รู้จัก \"Cell Broadcast\"  ระบบเตือนภัยผ่านมือถือที่ทั่วโลกใช้
- "ญี่ปุ่น" มีชื่อเรียกรวมว่า J-Alert เป็นระบบผ่านดาวเทียมที่ออกคำเตือนผ่านหลายช่องทาง ตั้งแต่ โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ อีเมล และกระจายเสียงผ่านลำโพงในพื้นที่ชุมชน โดยมีการเตือนภัยใน 5 ประเภทหลักๆ ได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด ภัยธรรมชาติรุนแรง และภัยฉุกเฉินพิเศษ เช่น การโจมตีทางอากาศ และการก่อการร้ายขนาดใหญ่ 

 

  • ประเทศไทยดูเรื่อง Cell Broadcast ไปถึงไหน

แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการแจ้งเตือนภัยเช่นนี้ในระดับชาติ แต่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในไทย หลายแห่งก็มีการพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเองขึ้นมาเพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

เมื่อเดือน ส.ค. 2565 มีรายงานข่าวว่า ปภ. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิ ไปเป็นแนวทางในการจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายข้อความและแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น