ประชากรอินเดียแซงหน้าจีน แต่ยังตามหลังเรื่อง“แรงงาน”
ประชากรอินเดียแซงหน้าจีน แต่ยังตามหลังเรื่อง“แรงงาน”ถึงแม้แม้อินเดียจะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวได้ทันเวลา แต่จากการประมาณการของเราเชื่อว่า จำนวนแรงงานทั้งหมดในอินเดียจะยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่าจีน ไปจนถึงปลายทศวรรษ 2040
จำนวนประชากรของ “อินเดีย” ในปัจจุบันอาจจะได้ชื่อว่าแซงหน้า “จีน” ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว แต่หากมองในแง่ของ “แรงงาน” อินเดียอาจจะยังไม่สามารถแซงหน้าจีนได้ในเร็วๆ นี้
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี ระบุว่า สาเหตุสำคัญเป็นเพราะอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor force participation rate) ของอินเดียยังตามหลังจีนอยู่มาก โดยอัตราดังกล่าวนี้ เป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนแรงงานที่แท้จริงในประเทศ คือผู้มีงานทำ ผู้ว่างงาน และผู้รอฤดูกาล เมื่อเทียบกับประชากรวัยแรงงานทั้งหมด
บริษัทวิจัยเศรษฐกิจ ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ปัจจุบัน อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของอินเดียมีสัดส่วนเพียง 51% เท่านั้น หรือตามหลังจีนอยู่ถึง 25% หรือกล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ อินเดียมีประชากรในวัยทำงานอายุระหว่าง 16 - 64 ปี ทั้งหมดในสัดส่วน 51% เมื่อเทียบกับจีนที่ 76%
หากจะไล่ตามจีนให้ทันภายในปี 2030 อินเดียจะต้องเร่งอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานให้ได้มากกว่า 70%
“ถึงแม้ว่าอินเดียจะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวได้ทันเวลา แต่จากการประมาณการของเราเชื่อว่า จำนวนแรงงานทั้งหมดในอินเดียจะยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่าจีน ไปจนถึงปลายทศวรรษ 2040” รายงานดังกล่าวระบุ
ปัจจุบัน อินเดียมีจำนวนประชากรทั้งสิ้นกว่า 1,400 ล้านคน และคาดว่าจะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่เกือบ 1,700 ภายในช่วงกลางทศวรรษที่ 2060 ส่วนทางฝั่งของจีนนั้นคาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 1,100 ล้านคน ภายในช่วงเดียวกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่บริษัทวิจัยมีการระบุถึงด้วยก็คือ “แรงงานผู้หญิง” ซึ่งพบว่าอินเดียยังตามหลังจีนอยู่เช่นกัน
ปัจจุบัน จีนมีการจ้างงานแรงงานผู้หญิงในสัดส่วนถึง 71% ในขณะที่อินเดียมีเพียง 25% เท่านั้น ซึ่งน้อยยิ่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าอย่าง ปากีสถาน ซึ่งอยู่ที่ 26% และบังกลาเทศ 40%
เป็นที่น่าสนใจด้วยว่า แม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าอินเดีย ต่างก็มีอัตราส่วนการจ้างแรงงานผู้หญิงมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลพบว่าประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว ไทย และเวียดนาม ต่างก็มีการจ้างงานผู้หญิงมากกว่า 50% ในประเทศ
ยูเอ็นเผยประชากรอินเดียแซงหน้าจีน
รายงานของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ล่าสุด ระบุว่า อินเดียเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีนในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจำนวนประชากรอินเดียจะอยู่ที่ 1,425,775,850 คนแซงหน้าจีนประมาณกว่า 2.9 ล้านคน
“จีนกำลังจะลงจากตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเร็ว ๆ นี้” สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ระบุและว่า ด้วยความไม่แน่นอนของการประมาณการณ์จำนวนประชากร ทำให้ต้องมีการทบทวนการระบุวันที่เฉพาะเจาะจงว่า ประชากรอินเดียจะแซงหน้าจีนในวันใด
ปัจจัยที่ทำให้อินเดียแซงหน้าจีน มาจากอัตราการการเกิดของประชากรจีนที่ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อไม่นานมานี้ ในปีที่ผ่านมา ตัวเลขประชากรของจีนลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา ซึ่งกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ประชากรจีนอาจลดลงต่ำกว่า 1,000 ล้านคน ก่อนสิ้นศตวรรษนี้
“ในขณะเดียวกัน คาดว่าประชากรอินเดียจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ” กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุ
แนะเร่งพัฒนาการศึกษา-สาธารณสุข
ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์มองว่า ประเด็นหนึ่งที่อินเดียต้องรีบจัดการด้วยหากจะเร่งเครื่องตลาดแรงงานในประเทศให้ทันจีนก็คือ การพัฒนามาตรฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุขซึ่งยังตามหลังอยู่
รายงานระบุว่า ระดับของทุนมนุษย์ (Human capital) โดยเฉลี่ยของอินเดียยังตามหลังจีนและประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยระดับของทุนมนุษย์ซึ่งวัดจากผลลัพธ์ด้านการศึกษาและสาธารณสุขหลายด้านนั้น จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงผลิตภาพที่ได้จากแรงงาน
จากข้อูลของเวิลด์ อีโอโนมิก ฟอรั่ม พบว่า อัตราการอ่านออกเขียนได้ของอินเดียในปี 2018 อยู่ที่สัดส่วน 74% ในขณะที่จีนอยู่สูงถึง 97% แม้ว่าตัวเลขของอินเดียจะไม่ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำจนเป็นสัญญาณเตือน แต่ก็ถือว่าสะท้อนถึงคุณภาพด้านการศึกษาที่ยังอ่อนแออยู่สอดคล้องกับข้อมูลจาก “ประถม” ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการศึกษาในอินเดีย ที่เปิดเผยว่า การเรียนการสอนที่ถูกกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลอย่างยิ่งต่อระดับการอ่านและการคำนวณของนักเรียนจำนวนมากในพื้นที่ชนบท
สำหรับมาตรฐานด้านสาธารณสุขนั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านมาทาง “อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด” (Life expectancy at birth) ซึ่งอยู่ที่ 70.9 ปี เมื่อเทียบกับของจีนซึ่งอยู่ที่ 77.7 ปี ขณะที่อัตราส่วนของแพทย์ต่อประชากร 1 หมื่นคนนั้น ของอินเดียมีแพทย์อยู่ที่เพียง 7.3 คน เมื่อเทียบกับจีนซึ่งอยู่ที่ 23.9 คน
การเพิ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนา 2 เรื่องสำคัญนี้คือหัวใจหลักที่จำเป็นอย่างยิ่งหากอินเดียต้องการเร่งพัฒนาปริมาณและคุณภาพของประชากรวัยแรงงานให้ทันการณ์
ปัจจุบัน การใช้จ่ายด้านงบประมาณเพื่อการศึกษาในแดนภารตะมีสัดส่วนเพียง 2.9% ของจีดีพีประเทศ หรือน้อยกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับเป้าหมาย 6% ที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าเอาไว้ในปี 2020 และแม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณทางด้านสาธารณสุขให้มากขึ้นแล้วเป็นสัดส่วน 2.1% ในปีนี้ แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในวันนี้