‘อิสราเอล - ปาเลสไตน์’ ย้อนรอยปัญหาแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์

‘อิสราเอล - ปาเลสไตน์’ ย้อนรอยปัญหาแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ย้อนรอยปมขัดแย้งระหว่าง “อิสราเอล - ปาเลสไตน์” การแย่งชิง “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” โดยใช้ประวัติศาสตร์และศาสนาเป็น “สิทธิอันชอบธรรม” ในการครอบครองดินแดง

กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังจับตาในขณะนี้ เมื่อกลุ่มติดอาวุธ “ฮามาส” ใน “ปาเลสไตน์” เปิดปฏิบัติการอัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) ยิงจรวดจำนวนมากข้ามชายแดนไปตกในพื้นที่ทางตอนใต้ของ “อิสราเอล” เพื่อให้กลุ่มนักรบติดอาวุธแทรกซึมเข้าไปในอิสราเอลจนสามารถยึดชุมชนชาวยิวได้หลายแห่ง พร้อมสังหารและจับชาวบ้าน ซึ่งมี “คนไทยในอิสราเอล” เป็นตัวประกันด้วย

เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น “กรุงเทพธุรกิจ” พาย้อนเหตุการณ์ต้นตอปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “อิสราเอล - ปาเลสไตน์” ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

  • ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ของชาวยิว ชาวคริสต์ และ ชาวอิสลาม

ในอดีตตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา ดินแดนของประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน เป็นถิ่นที่อยู่ของหลายชนชาติ ทั้ง “ชาวยิว” อาหรับ ตลอดจน โรมัน กรีก และเปอร์เซีย เนื่องจากดินแดนแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับทั้ง 3 ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ทำให้พื้นที่แห่งนี้ผ่านการแย่งชิง ทำลาย โจมตี ยึดครองและยึดคืนมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะ “เยรูซาเลม” เมืองที่ถูกขนานนามว่าเป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนาทั้งสามในกลุ่มศาสนาอับราฮัม ได้แก่ ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม 

ช่วงที่ดินแดนนี้ถูกรุกราน ชาวยิว หนึ่งในชนชาติที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานาน ต้องอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วทุกมุมโลก และมีความหวังว่าวันหนึ่งจะกลับมาตั้งรกรากบนแผ่นดินเยรูซาเลม เมืองศักดิ์สิทธิ์เดิมของตัวเองอีกครั้ง 

ต้นศตวรรษที่ 16 เยรูซาเลมและดินแดนโดยรอบตกเป็นเมืองขึ้นของมหาจักรวรรดิออตโตมัน หรือ ตุรกีในปัจจุบัน และถูกตั้งชื่อใหม่ว่า “ปาเลสไตน์” พร้อมเรียกชาวอาหรับที่อยู่ในดินแดนนี้ว่าเป็นชาวปาเลสไตน์ (Palestinians) จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษต้องการให้ชาวยิวเข้าร่วมรบ โดยสัญญาว่าหากรบชนะจะประกาศรับรองการก่อตั้งรัฐสำหรับชาวยิวในปาเลสไตน์ ด้วย “คำประกาศบัลโฟร์” (Balfour Declaration)

ในจุดนี้ชาวยิวที่ตั้งใจจะสร้างประเทศในดินแดนที่บรรพบุรุษอยู่อาศัยมานับพันปี ก็ตกปากรับคำอังกฤษช่วยรบทันที สุดท้ายแล้วอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวยิวกลับเข้าสู่ปาเลสไตน์ ในฐานะผู้อยู่ในพื้นที่นี้มานับพันปี

แน่นอนว่าชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจ เพราะพวกเขาอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานเช่นกัน อีกทั้งชาวยิวเป็น “คนต่างศาสนา” แถมเข้ามาเป็นจำนวนมาก อาจจะครอบงำและกลืนกินวัฒนธรรมของพวกเขาจนหมดสิ้น จึงใช้ความรุนแรงเพื่อขับไล่ชาวยิว ขณะที่ชาวยิวก็ตอบโต้กลับแม้จะมีกำลังคนน้อยกว่าชาวปาเลสไตน์ก็ตาม 

“คำประกาศบัลโฟร์” จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระหว่าง 2 ชนชาติที่ยืดเยื้อยาวนานมานับจนถึงปัจจุบัน

  • ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีเยอรมันภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหลายล้านคนทั่วยุโรป ชาวยิวจำนวนมากจึงหนีตาย อพยพกลับมาอยู่ที่ปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น การต่อสู้กันระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น ต่างฝ่ายต่างพยายามอ้าง “สิทธิอันชอบธรรม” ในพื้นที่ของตนเอง

เมื่อสงครามครั้งที่ 2 จบลง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ และก่อตั้งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ขึ้น เพื่อระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ระหว่างประเทศด้วยวิธีสันติ ซึ่งงานแรก ๆ ที่ยูเอ็นเข้ามามีบทบาท คือ กรณีแย่งชิงพื้นที่ปาเลสไตน์ระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์

ในปี 1947 ยูเอ็นมีมติให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันและมีพื้นที่ติดทะเล ส่วนหนึ่งเป็นรัฐของชาวยิว อีกส่วนเป็นรัฐของชาวอาหรับ และตั้งให้เยรูซาเลม ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของทั้ง 2 ชนชาติ เป็นเมืองเป็นกลาง ไม่อยู่ภายใต้ความครอบครองของใคร

ชาวยิวยอมรับมติของยูเอ็น และประกาศเอกราชของรัฐตัวเองขึ้น โดยตั้งชื่อประเทศว่าอิสราเอล ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 แต่ฝั่งปาเลสไตน์ไม่พอใจในมตินี้ เพราะพวกเขาอยู่ในแผ่นดินนี้มายาวนานนับร้อยปี จู่ ๆ มาแบ่งประเทศให้กับชาวยิวที่มาทีหลังก็ไม่ยุติธรรมนัก แถมอิสราเอลยังตั้งอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลางที่เป็นรัฐอิสลามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ เลบานอน จอร์แดน ซีเรีย และ ซาอุดีอาระเบีย 

ด้วยเหตุนี้ ชาวปาเลสไตน์จึงร่วมมือกับชาติอาหรับ ได้แก่ อียิปต์ เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน และอิรัก ก่อสงครามต่อต้านอิสราเอลทันที แต่กลับกลายเป็นฝ่ายอิสราเอลได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด สามารถป้องกันการโจมตีจากกองทัพชาติอาหรับ โดยใช้ในระยะเวลาเพียง 6 วัน จนที่มาเป็นชื่อ “สงคราม 6 วัน” ทำให้แต่ละประเทศต้องยอมทยอยเซ็นสัญญาสงบศึกกับอิสราเอล และยังยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์บางส่วน ทั้งเยรูซาเลมตะวันออก เขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันของซีเรีย และแหลมไซนายไว้ได้ 

พร้อมกำหนดพื้นที่บางส่วนให้เป็น “ดินแดนกันชน” ไม่มีใครเป็นเจ้าของ โดยให้ ฉนวนกาซา ทางทิศตะวันตกของประเทศ เป็นพื้นที่ลดการกระทบกระทั่งของอียิปต์กับอิสราเอล ขณะที่เขตเวสต์แบงก์ เป็นเหมือนเขตกันชนระหว่างจอร์แดนกับอิสราเอล ทำให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเขตกันชน รวมถึงประชาชนในซีเรียและเลบานอนที่ถูกอิสราเอลยึดดินแดนไป ไม่สามารถเข้าบ้านของพวกเขาได้ เนื่องจากอิสราเอลอ้างว่าจะทำให้คนล้นประเทศและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐยิว 

ชัยชนะของอิสราเอล ทำชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจอย่างมาก เพราะดินแดนของพวกเขาค่อย ๆ ถูกยึดไป จึงได้ก่อตั้ง "องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์” หรือ PLO (Palestine Liberation Organization) มียัสเซอร์ อาราฟัต เป็นผู้นำ โดยเน้นการสู้รบแบบกองโจร สร้างความวุ่นวายในอิสราเอล ซึ่งยุทธการนี้ดำเนินมานานหลายปี แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรอิสราเอลได้ 

PLO จึงยอมลดท่าทีลง ไม่ใช้ความรุนแรงที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ สร้างแต่ความสูญเสีย เพื่อให้ชาวปาเลสไตน์มีพื้นที่อาศัยอยู่ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ชาวอิสราเอลกลับรุกรานพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มกระจายตัวไปอยู่ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ที่เดิมทีเป็นพื้นที่กันชน ทำให้เกิดการประท้วงยืดเยื้อถึง 6 ปี มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน ร้อนถึงนานาชาติต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้ง จนมาสู่การทำ “ข้อตกลงออสโล” โดยตกลงว่า จะแบ่งเขตเวสต์แบงก์ออกเป็น 3 เขต พร้อมให้ชาวปาเลสไตน์ได้ปกครองตนเองในบางส่วน

 

  • กลุ่มฮามาส กองกำลังติดอาวุธ

ขณะที่หลายฝ่ายพยายามเจรจาอย่างสันติ ชาวปาเลสไตน์หัวรุนแรงสร้างกลุ่มกองกำลังติดอาวุธใหม่ที่เรียกว่า “กลุ่มฮามาส” (Hamas) และปฏิเสธการเจรจาอย่างสันติทุกรูปแบบ พร้อมส่งมือระเบิดพลีชีพลงมือในอิสราเอล ยุติการพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์โดยปริยาย

ถัดมาปี 2000 ผู้นำฝ่ายค้านของอิสราเอล พร้อมด้วยกำลังทหารและตำรวจ เดินเข้าไปเยี่ยมชมภายในมัสยิดอัลอักซอในนครเยรูซาเลม สร้างความไม่พอใจให้ชาวปาเลสไตน์อย่างมาก เพราะมองว่าเป็นการจงใจยั่วยุและดูหมิ่นทางศาสนา มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอิสลาม ทำให้เกิดการต่อสู้กันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี

ในปี 2006 เกิดการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ โดยกลุ่มฮามาสเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าชาวปาเลสไตน์เลือกใช้ความรุนแรงมากกว่าจะใช้สันติภาพ หลังจากนั้นกลุ่มฮามาสก็ใช้ความรุนแรงมาตลอด ชาวอิสราเอลที่อยู่ในฉนวนกาซาต้องย้ายออกจากพื้นที่

ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลได้สร้างกำแพงกั้นบริเวณชายแดนฉนวนกาซา แปลว่า คนที่อยู่หลังกำแพงจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ อิสราเอลยังสร้าง “Iron Dome” ระบบป้องกันภัยทางอากาศสำหรับป้องกันการยิงขีปนาวุธจากนอกประเทศด้วย 

การปะทะกันของทั้งสองฝ่ายยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รุนแรงจนถึงขนาดเป็นการประกาศสงคราม กระทั่งเช้าวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัน “ซิมหัต โทราห์” (Simchat Torah) วันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว กลุ่มฮามาสปล่อยจรวดนับพันลูกเข้าสู่อิสราเอล จนทำให้เสียงแจ้งเตือนดังทั้งประเทศ เป็นการเปิดทางให้สมาชิกติดอาวุธแทรกซึมเข้าไปในอิสราเอลจากหลายทิศทาง เพื่อสังหารประชาชนและจับเป็นตัวประกัน 

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ประกาศว่า ประเทศ “เข้าสู่สงครามแล้ว” และเตือนให้ประชาชนเร่งอพยพออกจากฉนวนกาซา และอิสราเอลพร้อมโต้กลับ 

กว่า 70 ปีแล้วที่ชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงดินแดนที่ทั้งคู่อ้างว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของตนเอง และนับจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป มีเพียงแต่จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น


ที่มา: AljazeeraBBCFinancial TimesReutersThai PBSWorkpoint Today