สแกน ‘กัมพูชา’ โอกาสการลงทุนใกล้บ้าน 'ความงาม-เฮลธ์แคร์' มาแรง
ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในกัมพูชา เชิญชวนนักลงทุนไทยศึกษาลู่ทางลงทุนในกัมพูชา เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่น่าลงทุนมาก โดยเฉพาะธุรกิจความงาม และธุรกิจเฮลธ์แคร์
กัมพูชา เป็นประเทศที่มีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยผ่านความเจ็บปวดชนิดที่ต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์โลก แต่ถึงวันนี้พูดได้เต็มปากเต็มคำว่ากัมพูชากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่นักลงทุนไทยควรรีบคว้าไว้ด้วย
ปัจจุบันบริษัทไทยรวมทั้งเอสเอ็มอีที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชามีประมาณ 700 บริษัท ถ้านับเฉพาะบริษัทใหญ่ประมาณ 200-300 บริษัท
จีรนันท์ วงษ์มงคล
จีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา อดีตทูตพาณิชย์ ผู้คร่ำหวอดในกัมพูชามานานกว่า 30 ปีเล่าว่าบรรยากาศการลงทุนที่กัมพูชาตอนนี้รุ่งเรืองสุดๆ
“การลงทุนของนักธุรกิจไทยเติบโตมาตลอด รายใหญ่ที่ยืนหนึ่งมาตั้งแต่ต้นคือซีพีและเบทาโกร นักธุรกิจกัมพูชาตื่นตัวอยากเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและร้านกาแฟอเมซอนมาก”
ซึ่งถ้าให้แยกเป็นรายภาค การลงทุนภาครีเทลตอนนี้จริงจังมากไม่ว่าจะเป็นเซเว่น บิ๊กซีทั้งร้านใหญ่ มินิบิ๊กซี พรีเมียมบิ๊กซีราว 20-30 สาขา ซึ่งทั้งเซเว่นและบิ๊กซีถือเป็นโอกาสของนักธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่จะนำสินค้าเข้าไปขาย
ร้านซีพีช้อปและเบทาโกรช้อปก็เข้ากันได้ดีกับรสนิยมกัมพูชาที่ต้องการรับประทานเนื้อหมู เนื้อไก่คุณภาพดี
นอกจากนั้นเป็นธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว เช่น โรงแรม โรงแรมไทยในเสียมเรียบไปได้ดีมาก เบียร์ช้างก็กำลังจะมาเปิดโรงงานที่กัมพูชาซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และช่วยสร้างงาน
“ภาพที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่จริงจังของนักธุรกิจไทย ประกอบกับความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดใหม่ว่าอะไรๆ น่าจะดีขึ้น เมื่อนักธุรกิจรายใหญ่ขยับรายอื่นๆ ก็จะตามมา” จีรนันท์ย้ำ ส่วนคนที่เข้ามาใหม่ธุรกิจไทยที่น่าจะสดใสในประเทศนี้เป็นเรื่องของสุขภาพความงาม โรงพยาบาลไทยเข้ามาเปิดสำนักงานตัวแทนแทบทุกแห่ง คอยให้คำปรึกษาเบื้องต้นแนะนำด้านค่าใช้จ่ายแต่ยังไม่ถึงกับมาตั้งโรงพยาบาลนอกจากโรงพยาบาลกรุงเทพฯ
“เรื่องความงามคนกัมพูชายังมองดาราไทยเป็นไอดอล ซีรีส์ไทยเป็นที่นิยมอันดับหนึ่งในกัมพูชา ดาราไทยมีคนติดตามมากและมาโชว์ตัวที่กัมพูชาบ่อยมาก งานอีเวนท์ลูกค้าจะเรียกร้องดาราไทย แม้แต่ผับเล็กๆ ก็นำดาราไทยมาโชว์ตัว ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องดี”
ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชาเผยถึงเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจความงามเป็นธุรกิจดาวรุ่งในกัมพูชาหากใครสนใจอยากลงทุน
ดร.ศิริมา อริยะชัยพาณิชย์ เป็นนักธุรกิจอีกรายที่ประสบความสำเร็จในกัมพูชา เริ่มต้นจากธุรกิจบันเทิงเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันทำธุรกิจเฮลธ์แคร์ คัดกรองผู้ป่วยก่อนส่งไปเมืองไทย
ดร.ศิริมา อริยะชัยพาณิชย์
“ตอนนี้ที่เด่นมากคือสุขภาพ เฮลธ์แคร์ เนื่องจากในไทยมีแพทย์และโรงพยาบาลจำนวนมากกว่า คนกัมพูชาจะบินไปรักษาที่เมืองไทย แต่มีอุปสรรคด้านภาษา พี่ก็เลยทำธุรกิจเฮลธ์แคร์ เรามีพาร์ทเนอร์เป็นแล็บที่มีหมอ มีคลินิก ก็เช็กก่อนว่าผลแล็บเป็นอย่างไร ควรไปพบหมอคนใดในประเทศไทย เราก็จะส่งข้อมูลให้เขาศึกษาก่อนตัดสินใจ เหมือนเป็นคนประสานงานให้ กลายเป็นธุรกิจเฮลธ์แคร์ จัดอยู่ในหมวด health tourism”
ดร.ศิริมากล่าวพร้อมอธิบายเสริมว่า health tourism แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ medicine หาหมอเพื่อการดูแลรักษา และ wellness เช่น สปา เม็ดเงินสองส่วนนี้สูงมากแต่ wellness ทำเงินได้สูงกว่า medicine และโอกาสยังมีอีกมากไม่ใช่แค่กัมพูชาแต่เป็นทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลไทยวางเป้าหมายไว้แล้วให้เราเป็น medical hub เพื่อให้คนทั่วโลกบินเข้ามา แต่จริงๆ แล้วควรพุ่งเป้าอาเซียนเป็นหลักเพราะใกล้กันมาก
“นอกจากธุรกิจนี้แล้วยังมีอีกหลายธุรกิจที่เป็นโอกาส เขาเองก็อยากให้คนมาลงทุน พี่ก็เลยมองว่าเราช่วยเขาได้ด้าน health tourism เพราะอยู่ใกล้กัน แต่มีช่องว่างด้านสาธารณสุขและอุปสรรคด้านภาษา คนกัมพูชาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษได้ทุกคน จำต้องมีใครสักคนที่มาคอยซัพพอร์ตให้เขาเดินทางไปสะดวก บางกรณีอาจไม่ต้องเดินทางไปเมืองไทยก็ได้ถ้ามี telemedicine มาช่วย เป็นการรักษาทางไกลก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย”
- โอกาสในกัมพูชายังมีอีกมาก
นักธุรกิจหญิงรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า กัมพูชามีสินค้านำเข้าจำนวนมาก รวมถึงนำเข้าจากไทย ความต้องการมีมากเหมือนกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสุขภาพ แฟชั่น อาหาร หรือด้านธุรกิจบันเทิงที่บุคลากรจากไทยเข้ามาช่วยซัพพอร์ตทีมกัมพูชาได้ เท่าที่ ดร.ศิริมาได้คุยกับค่ายเอนเตอร์เทนเมนท์ใหญ่สุดของกัมพูชา สิ่งที่ต้องการจากไทยคือความรู้เพราะประสบการณ์ของกัมพูชาชะงักไปช่วงสงคราม กัมพูชามีคน มีเครื่องมือ แต่ที่ขาดอยู่คือประสบการณ์ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกัน
“จริงๆ เราสามารถเข้ามาในฟิลด์ต่างๆ ได้อีกเยอะ อยากเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยเข้ามาดูก่อน ยิ่งคนที่เคยมาเมื่อหลายปีก่อนคิดว่ากัมพูชาไม่มีอะไร ต้องมาดู” ผู้สันทัดกรณีเชิญชวนโดยยกตัวอย่างตอนนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กัมพูชาโตเร็วมาก ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนอยากได้คือสินค้าจำพวกของแต่งบ้าน หรือล่าสุดเธอพานักธุรกิจที่ทำงานด้านแล็บมาดูบรรยากาศในกัมพูชา พบว่ามีโอกาสร่วมงานกันได้ด้านอุปกรณ์แล็บ ระบบไอที เป็นต้น
เรื่องของความยากง่ายในการทำธุรกิจที่กัมพูชา ศิริมามองว่า เหมือนกับการทำธุรกิจทั่วไป ไปที่ไหนก็ต้องรู้เขารู้เรา ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ระหว่างกัน ทำความรู้จักให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันก่อน เหมือนการหาเพื่อนหาคู่ต้องมาทำความรู้จักกัน ศึกษาข้อมูลกฎหมายต่างๆ ให้ดี “ต้องเข้าใจว่าเขาอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน เราก็ต้องรู้ข้อมูลให้มาก”
สไตล์ของคนกัมพูชาจะว่าไปแล้วก็เหมือนกับคนไทย ไลฟ์สไตล์แบบเดียวกัน แต่ที่น่าสังเกตคือ “ความผูกพันในครอบครัวเหนียวแน่นกว่า ถ้าเรารู้จักใครสักคนจะรู้จักทั้งกลุ่มเพราะเขาผูกพันกัน”
ยิ่งตอนนี้กัมพูชาได้ผู้นำใหม่ ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นได้มาก สำหรับ ดร.ศิริมาเธอมองว่าเป็นยุคใหม่ของกัมพูชา ผู้บริหารเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ มีแนวทางเปิดกว้างกับโลกมากขึ้น
“แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบแต่ก็ต้องให้เวลา อันนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่โครงสร้างจริงๆ ของกัมพูชามีโอกาสให้เราอยู่แล้วขึ้นอยู่กับเราจะมอง เราไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ที่ไกลจากบ้านเราได้ ที่นี่แค่หนึ่งชั่วโมง เหมือนการบินไปภูเก็ต เราจึงควรให้ความสำคัญกับภูมิภาค CLMV การทำให้ภูมิภาคเราแข็งแรงมากขึ้นย่อมเป็นผลดีกับพวกเราเอง” ดร.ศิริมากล่าวถึงเพื่อนนักธุรกิจคนอื่นๆ
จากสองมุมมองของสองนักธุรกิจหญิงชาวไทย เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า การที่เพื่อนบ้านพัฒนาย่อมเป็นโอกาสของคนบ้านใกล้เรือนเคียงจะได้ทำมาค้าขายกัน และแน่นอนว่าก่อนตัดสินใจลงทุนการได้เข้าไปสัมผัสกัมพูชาด้วยตนเองย่อมเป็นข้อมูลการตัดสินใจที่ดีที่สุด