เศรษฐกิจโลกรับมือสองสงครามพร้อมกันไหวหรือไม่

เศรษฐกิจโลกรับมือสองสงครามพร้อมกันไหวหรือไม่

การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่รุนแรงมากขึ้นอาทิตย์ที่แล้ว มีความเสี่ยงที่จะขยายวงเป็นสงครามระดับภูมิภาค

ถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ที่การฟื้นตัวยังเพิ่งเริ่ม และจะซํ้าเติมผลกระทบทางลบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่สูง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้

คําถามคือ เศรษฐกิจโลกเข้มแข็งพอหรือไม่ที่จะรับมือถ้าสองสงครามเกิดขึ้นพร้อมกัน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ความขัดแย้งภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) นับวันจะเข้มข้นและเด่นชัดมากขึ้น เป็นความคุกรุ่นที่สะสมและรอการระเบิดหรือปรากฏออกมาให้เห็น

ล่าสุดการเข้าโจมตีพื้นที่ในอิสราเอลโดยกองกําลังฮามาสที่มีฐานที่มั่นอยู่ที่ฉนวนกาซ่า ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ ก็สะท้อนจุดอ่อนไหวสำคัญในภูมิศาสตร์การเมืองตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นประเด็นความขัดแย้งที่สะสมมานานและรอวันปะทุ

การเข้าโจมตีพื้นที่ในอิสราเอลโดยกองกำลังติดอาวุธจากพื้นที่ในฉนวนกาซ่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นและมักจบในลักษณะคล้ายๆ กัน คือ มีต้นเหตุกระทุ้งให้เกิดเรื่อง ตามโดยการยิงจรวดของกลุ่มฮามาสโจมตีพื้นที่ในอิสราเอล อิสราเอลตอบโต้โดยทิ้งระเบิดทําลายพื้นที่ในฉนวนกาซ่า

และจบด้วยการมีคนกลางหรือประเทศที่สามเข้ามาไกล่เกลี่ย การสู้รบจึงอยู่ในวงจำกัด ไม่ยืดเยื้อและไม่ส่งผลมากต่อเศรษฐกิจโลก ยกเว้นราคาน้ำมันที่จะปรับขึ้นเป็นการชั่วคราว

แต่คราวนี้สถานการณ์อาจแตกต่างเพราะ

หนึ่ง การโจมตีของกลุ่มฮามาสคราวนี้รุนแรงและไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แสดงถึงการวางแผนและการเตรียมการเป็นอย่างดี

เศรษฐกิจโลกรับมือสองสงครามพร้อมกันไหวหรือไม่

สอง การสื่อสารหลังการโจมตีคราวนี้ไปไกลกว่าเดิมคือไม่ได้พูดถึงเฉพาะความจําเป็นที่ต้องปกป้องสิทธิ มนุษยธรรม ความปลอดภัยและสันติสุขของคนปาเลสไตน์ในพื้นที่กาซ่าหรือเวสต์แบงก์ (West Bank) แต่สื่อถึงความชอบธรรมที่จะปลดปล่อยพื้นที่ในการครอบครองของอิสราเอลที่ชาวปาเลสไตน์ควรมีในแง่ความเป็นประเทศ

สาม มีประเด็นดุลยภาพอำนาจในตะวันออกกลาง ที่มีประเทศใหญ่ทั้งในและนอกตะวันออกกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา

ทําให้มีความเป็นได้ที่สถานการณ์สู้รบคราวนี้ อาจถูกยกระดับให้รุนแรงและลากยาวมากกว่าครั้งก่อนๆ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์จากนี้ไปคงรุนแรง หลังอิสราเอลเข้าทิ้งระเบิดพื้นที่ในกาซ่าและประกาศให้อพยพผู้คน เพราะชัดเจนว่ากองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลคงเข้าเคลียร์พื้นที่เพื่อช่วยชีวิตตัวประกัน กําจัดบุคคลระดับนําของกลุ่มฮามาส และทําลายความสามารถทางทหารของกลุ่มฮามาสไม่ให้สามารถทําปฏิบัติการอย่างที่เกิดขึ้นได้อีก

ทําให้ความรุนแรงความเสียหายและความสูญเสียในชีวิตผู้คนจะยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นความสูญเสียและโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาคนทั่วโลก

เศรษฐกิจโลกรับมือสองสงครามพร้อมกันไหวหรือไม่

สํานักข่าวบลูมเบิร์กได้วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบจากนี้ไปเป็นสามฉากทัศน์

ฉากทัศน์แรก คือ การสู้รบจํากัดวงไว้เฉพาะระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ไม่ลากยาว กรณีนี้แม้ความรุนแรงความเสียหายและความสูญเสียอาจมีมากกว่าครั้งก่อนๆ แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะจำกัดอยู่ที่ ราคานํ้ามัน เงินเฟ้อ เศรษฐกิจอิสราเอล และพื้นที่กาซ่า

ฉากทัศน์สองคือ การสู้รบขยายวง มีกองกำลังติดอาวุธในประเทศรอบข้างอิสราเอลที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลเข้าร่วม เช่น กลุ่ม Hezbollahในเลบานอน และกลุ่มอื่นๆในซีเรียและตูนิเซีย

กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน การสู้รบจึงเป็นเหมือนสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ทําให้การสู้รบจะไม่จบเร็ว และผลต่อเศรษฐกิจจะขยายวงกระทบประเทศเกี่ยวข้องกับการสู้รบ ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลกระทบจะมากกว่ากรณีแรก

รุนแรงสุดคือฉากทัศน์สาม เป็นกรณีของการเกิดสงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน มีสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรสนับสนุนอิสราเอล ขณะที่อิหร่านมีประเทศที่สนับสนุนปาเลสไตน์และกลุ่มกําลังติดอาวุธที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลเป็นเครือข่ายสนับสนุน กรณีนี้สงครามจะขยายวงและลากยาวส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก

บลูมเบิร์กประเมินว่าราคาน้ำมันอาจสูงถึง 150 เหรียญต่อบาเรล อัตราเงินเฟ้อโลกกลับไปสูงกว่าร้อยละ 6 ปีหน้า เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ปีหน้าและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

เศรษฐกิจโลกรับมือสองสงครามพร้อมกันไหวหรือไม่

เหล่านี้คือประมาณการผลกระทบภายใต้ความเป็นไปได้ต่างๆ ที่ต้องตระหนักคือผลกระทบเหล่านี้จะเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเพิ่งเริ่มฟื้นตัวและยังอ่อนแออยู่จากปัจจัยลบเดิมที่มีอยู่เช่น สงครามยูเครน การซํ้าเติมเศรษฐกิจโลกด้วยปัจจัยใหม่คือสงครามในตะวันออกกลางอาจสร้างพลวัตให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเร่งตัวขึ้นแบบทวีคูณ สร้างความเสียหายที่เกินคาดหมาย ซึ่งที่ต้องจับตาคือ

หนึ่ง ราคานํ้ามันและราคาพลังงาน ถ้าการสู้รบถูกยกระดับและขยายวงทําให้การผลิตนํ้ามันในตะวันออกกลางถูกกระทบ ไม่ว่าประเทศผู้ผลิตนํ้ามันรายใหญ่เข้าร่วมสงคราม หรือมีมาตรการลงโทษการผลิตหรือส่งออกนํ้ามัน หรือเส้นทางขนถ่ายน้ำมันถูกปิด

สิ่งเหล่านี้จะกระทบอุปทานนํ้ามัน กดดันให้ราคานํ้ามันสูงขึ้นและเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกกลับมาสูงขึ้นอีก ซึ่งถ้ายืดเยื้อก็จะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยต้องปรับขึ้น นี่คือพลวัตที่เป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สอง ดิสรัปชั่นต่อการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ที่สงครามจะทำลายฐานการผลิต เช่นอุตสาหกรรมไฮเทคในอิสราเอล สร้างข้อจำกัดต่อการกระจายสินค้า การขนส่งสินค้า การเดินทางระหว่างประเทศ ความปลอดภัย นำไปสู่ความขาดแคลนที่จะกระทบความเป็นอยู่คนทั่วโลก ซึ่งสำคัญสุดคืออาหาร และพลวัตที่ต้องระวังคือสงครามในยูเครนและตะวันออกกลางรุนแรงมากขึ้นพร้อมกัน

สาม พลวัตความเชื่อมั่น คือตลาดการเงินสูญเสียความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเมืองโลก เกิดภาวะ Risk off คือไม่ถือความเสี่ยง ทําให้ราคาสินทรัพย์ปรับลงและตลาดผันผวนมาก สร้างข้อจํากัดต่อการระดมทุน การปล่อยกู้ของธนาคาร ทําให้การชำระหนี้มีปัญหา

นี่คือความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า ชี้ชัดว่าภูมิศาสตร์การเมืองเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สามารถดิสรัปเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก เป็นความเสี่ยงที่จะสามารถลดหรือหลีกเลี่ยงได้โดยวิธีเดียว นั้นคือการตัดสินใจของนักการเมืองที่จะหยุดสงครามและหาทางออกอย่างสันติวิธี ไม่มีทางอื่น

เศรษฐกิจโลกรับมือสองสงครามพร้อมกันไหวหรือไม่

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]