อียิปต์พร้อมช่วยเหลือทางมนุษยชนในฉนวนกาซา แม้ชี้ชัดไม่พร้อมรับคลื่นผู้อพยพ
"รัฐบาลอียิปต์" ประกาศพร้อมช่วยเหลือทางมนุษยชนในฉนวนกาซา อย่างไรก็ตามชี้ชัดไม่พร้อมรับคลื่นผู้อพยพหลายล้านคนเข้าไปในคาบสมุทรไซนาย ผ่านจุดผ่านทางราฟาห์ (Rafah Crossing)
สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส (Financial Times) รายงานบทวิเคราะห์ “Fear of Gaza exodus looms over Egypt” ฉบับวันที่ 17 ต.ค. ว่า
ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนตัดสินใจทิ้งบ้านตัวเองทางตอนเหนือของฉนวนกาซาและอพยพไปทางตอนใต้ของแถบชายฝั่งทะเล ทว่านักวิชาการบางส่วนส่งสัญญาณเตือนว่าวิกฤติด้านมนุษยธรรมในอียิปต์อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะเป็นประเทศที่อยู่ในพรมแดนระหว่างประเทศ
โดยนอกจากอิสราเอลแล้ว อียิปต์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีพรมแดนร่วมกับฉนวนกาซา และปัจจุบันสหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตกพยายามกระตุ้นให้ชาวปาเลสไตน์ในบริเวณดังกล่าวถือหนังสือเดินทางต่างประเทศเพื่อออกจากพื้นที่ผ่านจุดผ่านทางราฟาห์ (Rafah Crossing) บริเวณพรมแดนอียิปต์-ฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส ประเมินว่า ความกลัวหลักของรัฐบาลอียิปต์คือยิ่งการโจมตีในฉนวนกาซายืดเยื้อต่อไปทั้งหมดจะส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ต้องทนทุกข์ทรมานมากขึ้น
ดังนั้นรัฐบาลอียิปต์จะยิ่งเผชิญกับแรงกดดันให้รับผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้ามายังบริเวณคาบสมุทรไซนาย (Sainai) ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งและมีประชากรเบาบางรวมทั้งยังมีประวัติความไม่มั่นคงเฉพาะตัวด้วย
จากสถานการณ์ดังกล่าว บทวิเคระห์ของสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุว่า ข้อความจากรัฐบาลอียิปต์ถึงสถานทูตทางฝั่งตะวันตกค่อนข้างชัดเจนคือ
อียิปต์พร้อมส่งความช่วยเหลือไปยังฉนวนกาซา แต่ต่อต้านการกดดันใดๆ ก็ตามที่ต้องการให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากเข้าไปในประเทศ
จนกระทั่ง ซาเมห์ ชูครี (Sameh Shoukry) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ ออกมาเตือนเมื่อวานนี้ว่า “การบังคับให้พลัดถิ่น” หรือ Forced Displacement ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาวิกฤติในปาเลสไตน์
นอกจากนี้เจ้าหน้าระดับสูงของอียิปต์กล่าวกับพันธมิตรฝั่งยุโรปด้วยวาจาที่ตรงไปตรงมาว่า
“คุณต้องการให้เรารับคน 1 ล้านคนเหรอ? ก็ได้ ถ้างั้นผมจะส่งพวกเขาไปยุโรป ถ้าคุณสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนัก คุณก็รับพวกเขาไปเองเถอะ”
“ตอนนี้ชาวอียิปต์โกรธมาก โกรธมากจริงๆ พวกเราโกรธที่ทุกคนกดดันให้พวกเขาต้องรับผู้ลี้ภัย” เจ้าหน้าที่ฝั่งยุโรปกล่าว
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันข้างต้นกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อการโจมตีของอิสราเอลลากยาวขึ้น โดยรัฐบาลอิสราเอลคาดว่าจะเริ่มการโจมตีภาคพื้นทวีปในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นดินแดนที่ยากจนและหนาแน่นซึ่งมีประชากร 2.3 ล้านคน หรือเกือบสี่เท่าของประชากรในคาบสมุทรไซนาย
ปัจจุบันกองกำลังอิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซาหลังการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย ตามการระบุของเจ้าหน้าที่อิสราเอล
โดยเหตุโจมตีดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนในฉนวนกาซาไปแล้วกว่า 2,750 ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่บันทึกไว้ระหว่างสงครามอิสราเอล-กาซา ที่ลากยาวกว่า 50 วันในปี 2557 ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์
อ้างอิง