วิกฤติอสังหาฯ จีนกระทบ 'ราคาบ้านใหม่' ร่วง สวนทาง GDP ของจีนที่แข็งแกร่ง
วิกฤติอสังหาฯ จีนกระทบ 'ราคาบ้านใหม่ร่วง' ในเดือนต.ค.ลดลง 0.29% หลังจากที่ลดลง 0.3% ในเดือนส.ค. ถือเป็นการร่วงลงแรงที่สุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ในขณะที่ GDP ของจีนขยายตัว 4.9% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงาน GDP ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 4.9% (เทียบรายปี) แข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.6% ซึ่งทำให้ตลาดคาดหวังว่า จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ได้ หากดูรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของจีนขยายตัว 1.3% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.9% เป็นผลจากการที่รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจจีนเริ่มมีเสถียรภาพ
ในขณะเดียวกันวิกฤติที่อยู่อาศัยที่ดำเนินอยู่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ท่ามกลางตัวเลข GDP เกินความคาดหมาย ทั้งยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 5.5% และอัตราว่างงานลดลงสู่ระดับ 5%อัตราว่างงานลดลง
จาก "ราคาที่อยู่อาศัยในจีน" ยังคง "ตกต่ำ" อย่างรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบหนึ่งปีในเดือนกันยายน แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดแล้วก็ตาม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามาตรการดังกล่าวนั้นเพียงพอต่อการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ขณะที่ Country Garden ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ส่งสัญญาณถึงการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีราคาบ้านใหม่ใน 70 เมืองของเดือนก.ย.ของจีนลดลง 0.29% หลังจากที่ลดลง 0.3% ในเดือนส.ค. ถือเป็นการร่วงลงแรงที่สุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน แม้มีการออกมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนก็ตาม
และราคาบ้านในตลาดรองร่วงลง 0.48% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งราคาลดลงในขณะที่เมืองใหญ่ๆ ออกมาตรการกระตุ้นตลาด เช่น การลดอัตราการจำนอง และข้อกำหนดการชำระเงินดาวน์
วิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งในสัปดาห์นี้ เมื่อ Country Garden Holdings Co. ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรดอลลาร์เป็นครั้งแรก
ราคาที่ลดลงเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งสำหรับผู้ซื้อบ้านในประเทศที่อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งความมั่งคั่ง ทำให้ความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนลดลง จากดัชนี Bloomberg Intelligence ของหุ้นนักพัฒนาชาวจีนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี
โดยมูลค่าตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนหดตัว 2.7% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติของจีน ส่งผลให้ผลผลิตในภาคอสังหาฯ จีนหดตัว 8 ไตรมาสจาก 9 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการตกต่ำที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่จีนก่อตั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์เอกชนในช่วงปลายทศวรรษ 1990
ผลผลิตภาคการผลิตโตแกร่งชดเชยวิกฤติอสังหาฯ
เจ้าหน้าที่จีนกล่าวว่า การเติบโตที่แข็งแกร่งในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง และผู้บริโภคสามารถช่วยชดเชยความอ่อนแอได้ สะท้อนภาคบริการและการบริโภคมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3 โดยภาคโรงแรมและการจัดเลี้ยงเพิ่มขึ้น 12.7% และไอที และซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตรงกับช่วงล็อกดาวน์ในปี 2565 ทำให้ผลผลิตภาคการผลิตขยายตัว 4.5%
อย่างไรก็ตาม แม็กกี้ เว่ย (Maggie Wei) นักเศรษฐศาสตร์ ของ Goldman Sachs Group Inc. กลับมองว่า การเติบโตของภาคแบตเตอรี่ไฟฟ้า ยานพาหนะพลังงานใหม่ และพลังงานหมุนเวียนสามารถชดเชยการกระทบต่อ GDP และการจ้างงานจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
อ้างอิง bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์