เปิดหลักฐานฮามาสใช้อาวุธเกาหลีเหนือโจมตีอิสราเอล ไทยเคยสกัดได้ในอดีต
คลิปวิดีโอ และอาวุธที่อิสราเอลยึดได้ชี้ว่า เป็นไปได้ที่กองกำลังฮามาสใช้อาวุธเกาหลีเหนือโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.66
Key Points:
- อาวุธที่อิสราเอลยึดได้จากสนามรบชี้ว่า ฮามาสใช้จรวดอาร์พีจี F-7 ของเปียงยาง
- ฮามาสเผยภาพนักรบของตนกับเครื่องยิงอาร์พีจี มีแถบสีแดงโดดเด่นพาดหัวรบ เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็น F-7
- เดือนธ.ค.2552 ทางการไทยสั่งจอดเครื่องบินขนส่งสินค้าเกาหลีเหนือบรรทุกอาวุธ 35 ตัน ส่งไปให้ฮามาส
สำนักข่าวเอพีวิเคราะห์ร่วมกับทางการเกาหลีใต้ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเกาหลีเหนืออีกสองคน พบว่า อาวุธที่อิสราเอลยึดได้จากสนามรบชี้ว่า ฮามาสใช้จรวดอาร์พีจี F-7 ของเปียงยาง ซึ่งเป็นอาวุธที่กองกำลังฮามาสมักใช้สู้กับรถหุ้มเกราะ
หลักฐานดังกล่าวเผยให้เห็นว่าเกาหลีเหนือที่ถูกคว่ำบาตร ใช้การลักลอบขายอาวุธหาเงินมาทำโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และอาวุธตามรูปแบบ
เอ็น อาร์ เจนเซน โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา Armament Research Services เผยกับเอพีว่า เครื่องยิงจรวดอาร์พีจียิงได้ทีละลูก และสามารถบรรจุหัวรบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นอาวุธทรงคุณค่าสำหรับกองกำลังติดอาวุธในการต่อสู้กับรถถัง
“เกาหลีเหนือสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์มานานแล้ว และก่อนหน้านี้อาวุธเกาหลีเหนือเคยถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในยุทธภัณฑ์ต้องห้าม” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
แมตต์ ชโรเดอร์ นักวิจัยอาวุโสจากSmall Arms Survey ผู้เขียนเกี่ยวกับอาวุธเบาของเปียงยาง กล่าวว่า ฮามาสเผยภาพนักรบของตนกับเครื่องยิงอาร์พีจี มีแถบสีแดงโดดเด่นพาดหัวรบ เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็น F-7
“ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่เห็นฮามาสใช้อาวุธเกาหลีเหนือ” ชโรเดอร์กล่าวและว่า F-7 ของเกาหลีเหนือคล้ายกับ RPG-7 ยุคโซเวียตที่ใช้กันแพร่หลายมากกว่า ความแตกต่างมีเพียงเล็กน้อย
เจนเซน โจนส์ อธิบายเสริมว่า ด้วยรูปร่าง และน้ำหนักบรรจุ อาร์พีจี F-7
“มีจุดมุ่งหมายสร้างความเสียหายถึงแก่ชีวิตเมื่อใช้กับคนมากกว่ากับรถหุ้มเกราะ”
นอกจากนี้อาวุธที่กองทัพอิสราเอลยึดได้แล้วนำมาโชว์นักข่าวยังรวมถึงแถบแดง และการออกแบบอื่นๆ ที่ตรงกับ F-7
ในการบรรยายสรุปกับนักข่าวเมื่อวันอังคาร (17 ต.ค.66) คณะเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ระบุว่า F-7 เป็นอาวุธเกาหลีเหนือชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่าฮามาสใช้ ขณะที่กองทัพอิสราเอลไม่ตอบคำถามจากเอพีเรื่องต้นกำเนิดและผู้ผลิตอาร์พีจีเหล่านั้น กล่าวเพียงว่าสงครามยังต่อเนื่องไม่สามารถให้คำตอบได้
คณะทูตเกาหลีเหนือประจำสหประชาชาติไม่ให้ความเห็นต่อเอพีเช่นกัน อย่างไรก็ตามสัปดาห์ก่อนสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า รัฐบาลเปียงยางปฏิเสธข้ออ้างที่ว่า ฮามาสใช้อาวุธของตนระบุ “เป็นข่าวลือผิดพลาดไม่มีมูลความจริง” โหมประโคมโดยสหรัฐ
คลิปวิดีโอ และภาพโฆษณาชวนเชื่อจากฮามาสก่อนหน้านี้เผยให้เห็นนักรบฮามาสกับขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านรถถังบุลแซของเกาหลีเหนือ เจนเซน โจนส์เชื่อว่า ดูจากภาพคือ อาวุธที่ฮามาสใช้โจมตีในวันที่ 7 ต.ค.66
ทั้งยังใช้ไรเฟิลอัตโนมัติType 58 ของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นรุ่นหนึ่งของไรเฟิลจู่โจม คาลาชนิคอฟ
“อาวุธเกาหลีเหนือหลายชนิด อิหร่านเป็นคนจัดหาให้กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม เชื่อกันว่านี่คือ วิธีการหลักที่กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ได้ครอบครองอาวุธเกาหลีเหนือ” เจนเซน-โจนส์ กล่าว
อิหร่านเองก็จำลองขีปนาวุธเกาหลีเหนือบางชนิดด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่ทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติไม่แสดงความเห็นในประเด็นนี้กับเอพีที่ผ่านมา ทางการอิหร่านสนับสนุนฮามาสมานานแล้ว และชื่นชมการโจมตีอิสราเอล
ในเดือนธ.ค.2552 ทางการไทยสั่งจอดเครื่องบินขนส่งสินค้าเกาหลีเหนือลำหนึ่งขณะมาแวะเติมน้ำมัน ณ สนามบินกรุงเทพฯ เนื่องจากมีรายงานว่า เครื่องบินลำดังกล่าวบรรทุกอาวุธ 35 ตัน เช่น จรวด อาร์พีจี
ทางการไทยในขณะนั้นกล่าวว่า อาวุธดังกล่าวมุ่งหน้าอิหร่าน ต่อมาในปี 2555 สหรัฐกล่าวว่า การขนอาวุธที่ถูกไทยขวางไว้ได้เป็นการส่งไปให้ฮามาส
ไม่เพียงเท่านั้น เกาหลีเหนือยังถูกชาติตะวันตกสงสัยว่าจัดหากระสุน กระสุนปืนใหญ่ และจรวดไปให้รัสเซียทำสงครามยูเครน สัปดาห์ก่อนทำเนียบขาวแถลงว่า เกาหลีเหนือเพิ่งส่งอุปกรณ์ทางทหาร และกระสุนกว่า 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ไปให้รัสเซีย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์