อินโดนีเซียเซอร์ไพรส์ตลาดเงิน ตอกย้ำ'ดอกเบี้ย'ขาขึ้นเอเชียยังไม่จบ
แบงก์ชาติอินโดนีเซียจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย “เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์” ท่ามกลางความผันผวนที่สูงขึ้นในตลาดโลก และยังถือเป็นมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับ “ผลกระทบจากเงินเฟ้อ"
การขึ้นดอกเบี้ยแบบเหนือความคาดหมายในอินโดนีเซีย สะท้อนถึงปัญหาค่าเงินที่ตึงมืออย่างหนักสำหรับประเทศในเอเชีย และอาจเป็นสัญญาณว่า ‘การขึ้นดอกเบี้ย’ ยังไม่จบลงง่ายๆ โดย ‘ฟิลิปปินส์’ อาจเป็นรายต่อไป
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก่อนที่บอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปีจะพุ่งทะลุ 5% ได้เกิดความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในฝั่งตลาดเงิน-ตลาดทุนเอเชียคือ “ค่าเงินริงกิต” ของมาเลเซีย อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี จนไปเทียบเท่ากับช่วงวิกฤตการณ์ค่าเงินเอเชียในปี 2541 และ “ธนาคารกลางอินโดนีเซีย” ทำเซอร์ไพรส์ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% อย่างเหนือความคาดหมาย
โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์กำลังให้ความสนใจว่า จะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการกลับมาของ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ในเอเชียอีกครั้ง หรือไม่
เพราะนอกจากประเทศไทยที่ขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดไปเมื่อเดือน ก.ย.แล้ว หากนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ก็แทบไม่มีแบงก์ชาติรายใดอีกเลยในเอเชียที่ขึ้นดอกเบี้ย จนกระทั่งธนาคารกลางอินโดนีเซียหักปากกาเซียนทุกสำนักในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า อินโดนีเซียจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม 5.75% เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่ได้สูงนัก โดยอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. อยู่ที่ 2.28% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2-4% ที่แบงก์ชาติอินโดนีเซียตั้งเป้าเอาไว้ในปีนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนถึงกับเชื่อว่าอาจจะมีการลดดอกเบี้ยได้ในช่วงต้นปีหน้าด้วย
ทว่าธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศขึ้นดอกเบี้ยแบบเหนือความคาดหมาย โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน อีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 6% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 และยังเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีนี้
"เพอร์รี วาจิโย" ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินทั่วโลกทำให้จำเป็นต้องออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นมารับมือกับผลกระทบ โดยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและนานขึ้นในสหรัฐ (Higher-for-longer) อาจทำให้ภาวะเงินทุนไหลออกยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4
ดังนั้น แบงก์ชาติอินโดนีเซียจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย “เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์” ท่ามกลางความผันผวนที่สูงขึ้นในตลาดโลก และยังถือเป็นมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับ “ผลกระทบเงินเฟ้อ” จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
สัญญาณกระตุ้นเอเชียขึ้นดอกเบี้ย?
นิกเกอิเอเชีย ระบุว่า ในขณะที่แบงก์ชาติและตลาดการเงินในเอเชียเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่หยุดใช้นโยบายการเงินตึงตัวในเร็วๆ นี้ การขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดของแบงก์ชาติอินโดนีเซีย อาจจะกลายเป็นสัญญาณที่กระตุ้นให้แบงก์ชาติรายอื่นๆ ในเอเชีย ต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อลดแรงกดดันจากความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ไปจนถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น
รายงานระบุว่า “ฟิลิปปินส์” อาจกลายเป็นประเทศต่อไปที่ต้องใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ยตามมา โดยแรงกดดันหลักไม่ใช่เรื่องค่าเงินเหมือนอินโดนีเซีย แต่เป็นเงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นแตะ 6.1% ในเดือน ก.ย. ซึ่งนับว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าที่ 5.3% และยังเป็นการขยายตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและค่าเดินทาง และเป็นที่คาดว่าสถานการณ์เงินเฟ้อจะรุนแรงต่อในเดือนนี้ หลังจากที่สงครามในอิสราเอลทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
แม้กระทั่ง "เอลี เรโมโลวา" ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ยังส่งสัญญาณเมื่อต้นเดือน ต.ค. นี้ว่า ฟิลิปปินส์อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่อีก 0.25% เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ทว่าการขึ้นดอกเบี้ยในฟิลิปปินส์ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อฝ่ายการเมืองที่นำโดยรัฐมนตรีคลังฟิลิปปินส์พยายามส่งสัญญาณเบรกการขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน เพราะกลัวผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
ขณะที่ธนาคารกลาง “เกาหลีใต้” นั้นแม้ว่าจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.5% ในการประชุมรอบล่าสุดเดือนต.ค. นี้ แต่ก็ส่งสัญญาณพร้อมกลับมาใช้มาตรการตึงตัวได้อีก โดยให้เหตุผลเรื่องทิศทางเงินเฟ้อที่คาดว่าจะต่อเนื่องไปอีกยาวจากผลกระทบเรื่องสงครามในอิสราเอล และอีกตัวแปรสำคัญของเกาหลีใต้ก็คือ “หนี้ครัวเรือน”
ล่าสุด ในสัปดาห์นี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ "รี ชางยอง" กล่าวว่า แบงก์ชาติเกาหลีใต้อาจกลับมาพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย หากตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในเกาหลีใต้ช่วงไตรมาส 1 อยู่ที่ 102.2% ต่อจีดีพี หรือสูงกว่าเป้าหมายที่แบงก์ชาติต้องการดึงลงมาให้ต่ำกว่า 100%
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ของวาณิชธนกิจเจพีมอร์แกน มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของอินโดนีเซียเป็นเพียง “ส่วนขยาย” เพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ก่อนหน้านี้ที่ใช้เพื่อชะลอทุนไหลออกและพยุงค่าเงินรูเปียห์เท่านั้น ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นอีกครั้งในเอเชีย
เช่นเดียวกับฝ่ายวิเคราะห์จากบริษัทแคปิทัล อีโคโนมิกส์ ที่ระบุว่า แบงก์ชาติอินโดนีเซียเองก็ต้องระวังเรื่องการใช้มาตรการทางการเงินที่ตึงตัวมากเกินไป เพราะอาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะที่เงินเฟ้ออินโดนีเซียเองก็ยังถือว่าต่ำอยู่
แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยในเอเชียอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย และยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในเอเชียจะกลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฎให้เห็นชัดเจนแล้วก็คือ เส้นทาง “ดอกเบี้ยขาลง” จะยังไม่เกิดขึ้นในเอเชียไปอีกพักใหญ่หลังจากนี้