5 สุดยอดเทคโนโลยีด้านเกษตร ‘อิสราเอล’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
สถานการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซายังไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน ขณะที่แรงงานไทยจำนวนมากก็ยังคงเลือกที่จะอยู่ทำงานต่อท่ามกลางความเสี่ยงในภาวะสงคราม
แต่คำถามหลักที่คนไทยหลายคนน่าจะสงสัยคือ แล้วแรงงานไทยจำนวนหลายหมื่นคนนั้น ไปทำงานอะไรที่นั่น?
หากตอบโดยกว้าง ต้องตอบว่า เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติทั่วไป ก็คือแรงงานไทยเข้าไปทำงานในภาคส่วนที่คนท้องถิ่นเลือกที่จะไม่ทำ เช่นเดียวกับแรงงานเมียนมา ลาว กัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทยที่คนไทยไม่นิยมทำ อาทิ ก่อสร้าง ประมง เป็นต้น ดังนั้นถ้าตอบให้แคบลงตรงประเด็น ก็คือ แรงงานไทยไปทำงานในภาคการก่อสร้างและเกษตรกรรมของอิสราเอล
คำถามต่อมาคือ แล้วอิสราเอลมีการทำเกษตรกรรมด้วยหรือ ในเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในเขตที่มีสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง เมื่อน้ำน้อย แล้วจะมีดินที่ดีเพื่อการเพาะปลูกได้อย่างไร? ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้เองที่ทำให้อิสราเอลจำต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารอย่างมาก ซึ่งข้อมูลของทางการสหรัฐระบุว่า อิสราเอลนั้นนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรมูลค่าสูงถึง 7,100 ล้านดอลลาร์
การนำเข้าอาหารที่มากมายนั้น จึงกลายมาเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และประเด็นนี้ก็ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นาน แต่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การตั้งรัฐชาติใหม่ๆ เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ดังนั้น อิสราเอลจึงมีนโยบายการสนับสนุนการทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเอาชนะข้อจำกัดของภูมิอากาศและสภาพพื้นดิน จนทำให้ปัจจุบันอิสราเอลพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเกษตรน้อยลง
นี่ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้ประกอบการในอิสราเอลถึงจ้างแรงงานไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในภาคเกษตรกรรม เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ
แล้วอิสราเอลเอาชนะความแห้งแล้งและข้อจำกัดต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
1. ระบบการชลประทานแบบน้ำหยด โดยเน้นการให้น้ำตรงลำต้นสู่รากโดยตรง ไม่ใช่รดน้ำแบบที่คนไทยเราทำกัน ดังนั้นจึงประหยัดน้ำได้มาก
2. เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียที่ล้ำสมัย สามารถบำบัดน้ำเสียได้มากกว่า 86% ซึ่งถือว่าเป็นระบบการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก ดังนั้นจึงแทบจะเรียกได้ว่า น้ำทุกหยดที่ใช้ไปนั้น สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่
3. การจัดการศัตรูพืช ทั้งวิธีทางชีวภาพหรือด้วยยาฆ่าแมลงในพื้นที่จำกัด ด้วยเพราะมีเทคโนโลยีที่มีความละเอียดในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเมื่อมีศัตรูพืชเกิดขึ้น
4. การพัฒนาปุ๋ยชีวภาพเพื่อการเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีขึ้น
5. การใช้ระบบหุ่นยนต์และเซ็นเซอร์ตรวจจับเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการใช้สารอาหารที่จำเป็นเมื่อพืชต้องการ
แน่นอนว่า เทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นการจ้างแรงงานที่มีทักษะด้านการเกษตรอย่างแรงงานไทยจึงได้รับความนิยมมากกว่า เช่นเดียวกับการนำเข้าอาหารและวัตถุดิบทางการเกษตร ที่รัฐบาลอิลราเอลได้ทำสัญญาทางการค้าเพื่อลดภาษีการนำเข้ากับคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาด แต่อิสราเอลก็ไม่ได้หยุดที่จะพัฒนาพื้นที่ดินที่แห้งแล้งเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร
ดังนั้น เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ล้ำหน้าของอิสราเอล จึงน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีได้สำหรับประเทศไทย