รู้จัก 'คุณนายวาตานาเบะ' รายย่อยแห่งวงการ 'เทรดค่าเงิน' ญี่ปุ่น
ในยุคกลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อของ “คุณนายวาตานาเบะ” (Mrs Watanabe) ตามข่าวเศรษฐกิจกันมาบ้างว่า ตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือตลาดฟอเร็กซ์ (Forex) สำหรับรายย่อยในประเทศญี่ปุ่นนั้น ถูกขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังโดยคุณนายวาตานาเบะ
คุณนายวาตานาเบะที่ว่านี้ไม่ใช่จอร์จ โซรอส เวอร์ชั่นญี่ปุ่น แต่เป็นการสื่อถึง “แม่บ้านญี่ปุ่น” ทั่วๆ ไป ที่ใช้เวลาว่างช่วงกลางวันหลังจากส่งสามีไปทำงานและลูกไปโรงเรียนแล้ว “เทรดค่าเงิน” บนหลักการง่ายๆ ไม่ซับซ้อนว่า ซื้อถูกขายแพง ส่วนที่ชื่อวาตานาเบะนั้น เพราะเป็นชื่อสามัญที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น เหมือนกับคุณสมิธกับคณนายโจนส์ในตะวันตก หรือคุณคิมในเกาหลี
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป คุณนายวาตานาเบะก็ไม่ได้เป็นคำนิยามที่ถูกจำกัดความแค่แม่บ้านญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่หมายถึงนักเทรดฟอเร็กซ์รายย่อยที่ไม่จำกัดเพศและอายุ และปัจจุบันคุณนายวาตานาเบะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนวงการเทรดฟอเร็กซ์รายย่อยของญี่ปุ่นโดยเฉพาะการเทรดแบบรายวันก็คือ เหล่า “มนุษย์เงินเดือนชายวัยกลางคน” (middle-aged salaryman) นั่นเอง
ภาพของมนุษย์เงินเดือนใส่สูทผูกเทคไทที่ยืนไถสมาร์ตโฟนตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโตเกียวนั้น ไม่ได้มีแต่คนที่เล่นเกมโปเกมอนโก แต่ยังเป็นคนที่เทรดฟอเร็กซ์รายย่อยซึ่งเทรดได้ทุกที่ตลอด 24 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์โดยธุรกิจการให้บริการเทรดฟอเร็กซ์สำหรับรายย่อยนั้นเป็นที่นิยมอย่างมากในญี่ปุ่น โดยมีโฆษณาอยู่ตามเว็บไซต์ สถานีรถไฟใต้ดิน ย่านการค้า และสถานที่คนพลุกพล่านตามเมืองต่างๆ
ทาคุยะ คันดะ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทโบรกเกอร์ค่าเงิน ไกทาเมะดอตคอม เปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า ปัจจุบันนักเทรดรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เล่นสั้นรายวัน หรือเดย์เทรดนั้น เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนชายวัยกลางคนเป็นหลัก ซึ่งมีสไตล์การเทรดแตกต่างจากช่วงวัยอื่นๆ คือ เน้นเชิงรุก ลงทุนเยอะ และเข้า-ออกเร็ว โดยใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนเป็นหลักทำให้เทรดได้บ่อยครั้ง ซึ่งแตกต่างจากคนวัย 60 ปีขึ้นไปที่เทรดผ่านเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ ในขณะที่กลุ่มคนหนุ่มสาวกลับเป็นกลุ่มที่ระวังเรื่องการเล่นสั้น และหันไปเน้นการลงทุนแบบสม่ำเสมอระยะยาวมากกว่า
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้การเทรดของรายย่อยเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่นก็คือ "ต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกมากจากนโยบายดอกเบี้ยติดลบ" ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นในปัจจุบันอยู่ที่ -0.01% และเหลือแค่ประเทศเดียวในโลกแล้วที่ใช้ดอกเบี้ยติดลบ จุดนี้เองทำให้เป็นแรงขับให้คนญี่ปุ่นต้องพยายามหันไปหาแหล่งรายได้การลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินฝากหรือพันธบัตรในประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องง่ายแม้แต่นักลงทุนมือใหม่ที่จะใช้เงินเยนดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนกินส่วนต่างดอกเบี้ยในต่างประเทศที่สูงกว่า หรือแค่เก็งกำไรรายวันจากค่าเงินเยนอ่อนค่า/ดอลลาร์แข็งค่า ก็ทำเงินได้มากพอในแต่ละวันแล้ว
การลงทุนปี 2565 ทะลุ ‘1 หมื่นล้านล้านเยน’ ครั้งแรก
สิ่งที่เปลี่ยนไปจากการเทรดเมื่อหลายปีก่อนก็คือ การลงทุนของรายย่อยกำลังเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างน่าจับตาตั้งแต่ในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้เปิดเผยผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า การเทรดของรายย่อยพุ่งทะลุหลัก "1 หมื่นล้านล้านเยน" (10 Quadrillion) ไปแล้วในปี 2565 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเทรดของญี่ปุ่นที่วอลุ่มพุ่งไปแตะหลักนี้
การแห่ลงทุนของรายย่อยยังมีขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะเพียงแค่ 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 66) ปริมาณการลงทุนได้พุ่งขึ้นแตะ 9 พันล้านล้านเยน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากข้อมูลของสมาคมตราสารฟิวเจอร์สการเงินแห่งญี่ปุ่น และคาดว่าอาจจะทุบสถิติของปีที่แล้วได้
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้รายย่อยเข้ามาเทรดฟอเร็กซ์มากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นเพราะค่าเงินเยนที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่าลงหนักเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนยิ่งห่างและนักลงทุนพากันทิ้งค่าเงินเยน จนกระทั่งเงินเยนอ่อนค่าจนหลุดระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อเดือน ต.ค. 2565 หรือ่อนค่าสุดในรอบ 32 ปี และภาวะเงินเยนอ่อนค่าหนักก็กำลังกลับมาอีกครั้งในเดือน ต.ค. ปีนี้
ยิ่งเงินเยนอ่อนค่าหนักจนสุ่มเสี่ยงว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจต้องเข้ามาแทรกแซงหรือปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยติดลบเร็วกว่าที่คาดเอาไว้ ยิ่งเป็นปัจจัยให้รายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มเดย์เทรดที่เล่นสั้นเข้ามาเก็งกำไรกันมากขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินเยนยิ่งผันผวนหนักตามไปด้วย
ฮิเดมิ เบชโช รองหัวหน้าฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ แผนกตลาดการเงินของบีโอเจ กล่าวว่า บีโอเจให้ความสำคัญและจับตามองเทรนด์การเทรดฟอเร็กซ์ของนักลงทุนรายย่อยมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นช่วงนี้ยิ่งกำลังเป็นที่น่าจับตา เพราะปริมาณธุรกรรมพุ่งสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากตัวเลขดังกล่าว บีโอเจยังได้อ้างอิงธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ที่ออกรายงานล่าสุดเมื่อปี 2565 ระบุว่า ธุรกรรมของนักลงทุนรายย่อยในตลาดฟอเร็กซ์ญี่ปุ่นนั้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 28% จากสัดส่วนการลงทุนฟอเร็กซ์ของรายย่อยทั่วโลกแล้ว
คนญี่ปุ่นยุคใหม่กล้าได้กล้าเสียในวงการ ‘เดย์เทรด’
ในสมัยก่อน นักลงทุนรายย่อยของญี่ปุ่นอาจทำเงินได้ง่ายๆ จากการทำแครีเทรด (Carry Trade) แต่ปัจจุบันที่ค่าเงินเยนผันผวนมากขึ้นและผันผวนหนักแม้กระทั่งระหว่างวัน ทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนแผนหันมาเทรดระยะสั้นกันมากขึ้น และบางรายก็เข้า-ออกสั้นในระดับนาทีและวินาที ราวกับเป็นห้องค้าเลยทีเดียว
คาซึยะ อินุอิ นักเทรดรายย่อยวัย 47 ปีจากจ.ชิโกกุ กล่าวว่า เริ่มเข้ามาเทรดฟอเร็กซ์ได้ประมาณ 1-2 ปี ในช่วงที่เงินเยนกำลังอ่อนค่าลง และมองว่าโอกาสในการทำกำไรนั้นอาจสั้นแค่เพียง 1 วินาที หรืออาจนานถึง 1 วัน ดังนั้น นักเทรดรายย่อยจึงต้องพร้อมเทรดได้ตลอดเวลาที่เห็นโอกาสในการทำเงิน
แนวคิดนี้สอดคล้องกับ ซาโตชิ ฮิราอิ เจ้าของสตูดิโอเพลงวัย 43 ปี จากจ.กิฟุ เขาเป็นนักเทรดคนหนึ่งที่ลงทุนในสไตล์เข้าออกเร็ว โดยมีคำสั่งซื้อขายมากถึงราว “100 ครั้งต่อวัน” และใช้เงินที่ทำกำไรได้ในแต่ละวันไปซื้อกล้องไลก้าและกีตาร์สำหรับวงดนตรีพังก์ร็อกที่เป็นอาชีพหลัก เขาเคยขาดทุนหนักวันเดียวถึง 1.3 ล้านเยน แต่ก็อ้างว่าสามารถทำกำไรได้สูงสุดถึง 9 ล้านเยนภายใน 24 ชั่วโมงเช่นกัน
“ผมเชื่อว่าในภาวะตลาดแบบนี้ การเทรดระยะสั้นจะเป็นวิธีทำกำไรได้มากที่สุด” ฮิราอิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนที่จะกล้าได้กล้าเสียขนาดนี้ บลูมเบิร์กระบุว่า ครัวเรือนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับ “การออม” เมื่อเทียบกับการลงทุน โดยมีสัดส่วนการออมเงินฝากและเงินสกุลต่างประเทศอื่นๆ ณ สิ้นเดือน มี.ค. ปีนี้ มากถึง 54% เมื่อเทียบกับครัวเรือนในกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ 36% และในสหรัฐที่ 13%
คัตสึโยชิ ซูซูกิ ซีอีโอหนุ่มวัย 36 ปี จากบริษัทการตลาดและการจัดการโซเชียลมีเดีย ไซเบอร์ อิมแพ็ก เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่พยายามหาเงินนอกเหนืองานประจำเมื่อมีโอกาส แต่ไม่สุดโต่งเกินไป เขามีแอปพลิเคชันเทรดค่าเงินถึง 4 แอป ภายในสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว และหาจังหวะเทรดทุกครั้งที่มีเวลาว่าง โดยมีการเทรดสูงสุด 10 ครั้งต่อวัน
“ผมเทรดเวลาเดินทางไปทำงาน เวลากลับบ้าน และเวลาออกไปสังสรรค์กับเพื่อน”
“แต่เวลาเทรดก็ยังมีความกังวลอยู่ เช่น ถ้าจะซื้อดอลลาร์-เยน ผมก็จะตามดูข้อมูลข่าวสารและทิศทางในโซเชียลด้วยว่าคนอื่นๆ มองอย่างไร ผมคิดถูกหรือเปล่า ซึ่งก็พอช่วยคลายความกังวลลงได้บ้าง” ซูซูกิ กล่าว