‘อินเดีย’ ขึ้นแท่น ‘ฮับลักซ์ชัวรี’ แห่งเอเชีย รับเศรษฐี 100 ล้านขยายตัวแรง
อินเดีย จ่อขึ้นแท่น ‘ฮับลักซ์ชัวรี’ แห่งเอเชีย หลังมหาเศรษฐี 100 ล้านดอลลาร์หน้าใหม่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บรรดาธุรกิจธนาคารต่างออกโปรดักซ์ดึงดูดกลุ่มคนรวยในอินเดีย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยว่า การบริโภคของผู้มีฐานะมั่งคั่งในประเทศอินเดียกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากอินเดียขึ้นแท่นมีจำนวนมหาเศรษฐี 100 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก
ในขณะที่จำนวนมหาเศรษฐีใน “จีน” เติบโตคงที่ เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งพยายามควบคุมชนชั้นมหาเศรษฐี อินเดียก็ได้เวลาผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการใช้จ่ายแบบลักซ์ชัวรีของเอเชียประเทศต่อไป ซึ่งได้แรงขับเคลื่อนมาจากตลาดหุ้นและการลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมืองคาร์จัตในรัฐมหาราษฏระ ที่ห่างจากนครมุมไบ ศูนย์กลางทางการเงิน 2 ชั่วโมง เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความมั่งคั่งของเหล่าเศรษฐีใหม่ เมื่อเมืองนี้กำลังเต็มไปด้วยเงิน
“มิฮีร์ ทาเกอร์”สถาปนิกที่ออกแบบบ้านพักตากอากาศ ในเมืองตากอากาศวันหยุดสุดสัปดาห์ของมหาเศรษฐีหน้าใหม่จากมุมไบ เผยว่าราคาที่ดิน 1 เอเคอร์ (ประมาณ 2.5 ไร่) พุ่งสูงเป็นสองเท่าในรอบ 4 ปี สู่ระดับ 120,000 ดอลลาร์ (4.35 ล้านบาท) ต่อเอเคอร์
ราคาดังกล่าวแพงยิ่งกว่าที่ดินในเมืองอาลีบาก เมืองรีสอร์ทชายฝั่ง หรือที่เรียกว่าแฮมป์สตันของเศรษฐีมุมไบ ซึ่งเป็นเมืองที่เศรษฐีหลายคนยินดีจ่ายเงินซิื้อบ้านในวันหยุด ที่มีสระว่ายน้ำสไตล์อควาเรียม และโต๊ะขนาดใหญ่สำหรับปาร์ตี้ รวมราคาเกือบ 5 ล้านดอลลาร์ (18.1 ล้านบาท)
“วิชัย เคจี” ผู้ก่อตั้ง “Luxepolis“ ร้านค้าออนไลน์จำหน่ายสินค้าลักซ์ชัวรีอินเดียเมื่อปี 2557 บอกว่า
”ความลักซ์ชัวรีไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนรวยระดับอภิมหาเศรษฐีอีกต่อไป ใครๆ ก็อยากสัมผัสความลักซ์ชัวรี”
อินเดียก็เหมือนเพื่อนบ้านรอบประเทศที่จำกัดการเอาเงินออกไปใช้นอกประเทศของคนรวย โดยมหาเศรษฐีสามารถใช้เงินนอกประเทศได้เพียง 250,000 ดอลลาร์ (9.07 ล้านบาท) ในแต่ละปี และหากโอนย้ายเงินออกนอกประเทศตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป จะต้องเสียภาษี 20% แต่หากใช้จ่ายด้านการศึกษาและการแพทย์จะได้รับการยกเว้นภาษี
มาตรการนี้เองที่ทำให้การจับจ่ายสินค้าหรูในประเทศเติบโตอย่างคึกคัก ข้อมูลจากจาโต ไดนามิกส์ บริษัทวิจัยการตลาดยานยนต์ระดับโลกของอินเดีย บอกว่า มาตรการดังกล่าวช่วยให้ยอดจำหน่ายรถยนต์หรูในอินเดียในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 32% จากปีก่อน นำโดยเมอร์เซเดส เบนซ์ รุ่น E-Class ที่มียอดจำหน่ายนำโด่งในกลุ่มรถหรูช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้
มหาเศรษฐีหน้าใหม่เป็นกลุ่มลูกค้าที่น่าดึงดูดสำหรับบรรดาธนาคารพาณิชย์ที่มีบริการไพรเวท แบงกิ้งสำหรับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง รวมถึงบริษัทด้านการเงินชั้นนำจากวอลล์สตรีทอย่าง อะพอลโล โกลบอล เมนเจเมนต์ อิงก์ และคาร์ไลล์ กรุ๊ป อิงก์ โดยธุรกิจเหล่านี้ เริ่มขยายการดำเนินงานในอินเดีย ในฐานะประเทศเอเชียใต้ที่มีความได้เปรียบจากความน่าสนใจด้านภูมิรัฐศาสตร์
สหรัฐและประเทศพันธมิตร ก็ยกย่องให้อินเดียเป็นประเทศถ่วงดุลอำนาจจีนที่สำคัญ และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อดึงดูดธุรกิจต่างชาติเพิ่มขึ้น
ขณะที่ธนาคารเอชเอสบีซี เคยออกจากอินเดียเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน แต่ตอนนี้กลับมาให้บริการในอินเดียอีกครั้งแล้ว โดยมีเป้าหมายดึงดูดกลุ่มเศรษฐีที่มีความมั่งคั่ง 2 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป และเสนอบริการบัตรเครดิตพรีเมียมสีดำให้ลูกค้าไพรเวท แบงกิ้งของธนาคาร
นอกจากนี้ เอชเอสบีซี ได้จ้าง “วิรัต โคห์ลี” นักคริกเก็ตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของอินเดียให้เป็นแบรนด์อินฟลูเอ็นเซอร์ของบริษัทด้วย
การกลับมาเปิดกิจการครั้งใหม่ครั้งนี้ เอชเอสบีซียังพาลูกค้ามหาเศรษฐีจากฮ่องกงและมุมไบมารับประทานอาหารเย็นฝีมือเชฟจาก “โอเด็ตต์” ภัตตาคารระดับมิชลิน 3 ดาว ในสิงคโปร์ด้วย
ธนาคารและบริษัทจัดการความมั่งคั่งรายอื่นๆ ยังได้ขยายการดำเนินงานออกไปนอกเมืองใหญ่ๆ เช่น มุมไบและนิวเดลีด้วย
แอลจีที เวลธ์ อินเดีย ของราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์และไพรเวทแบงกิ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสำนักงาน 14 แห่งทั่วอินเดีย วางแผนสร้างทีมดำเนินงานในลักนาว เมืองเอกของรัฐอุตตรประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย
ขณะที่ จูเลียส แบร์ ธนาคารสัญชาติสวิสก็เตรียมขยายสำนักงานในอินเดียจากปัจจุบันที่มีอยู่ใน 7 เมือง เพิ่มเป็น 10 เมือง
อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งมหาศาลของกลุ่มชนชั้นสูงเพียงไม่กี่คน ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียม ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลของโมดีต้องรับผิดชอบในการเลือกตั้งปีหน้าและการแจกเมล็ดพืช ให้จักรยานฟรี หรือให้เงินอุดหนุนแก๊สหุงต้ม สามารถบรรเทาความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมได้บางส่วน
ขณะที่อ็อกซ์แฟม เผยว่า ประชากร 1% แรกในอินเดียมีความมั่งคั่งมากกว่า 40% ของความมั่งคั่งทั้งหมดในปี 2564
“คุนัล คุนดู” นักเศรษฐศาสตร์อินเดียจากโซซิเอต เจนเนเรล กล่าวว่า “ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นในอินเดียไม่จำเป็นต้องนำมาถกเถียงกันอีกต่อไปเพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารูปแบบความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่ของกลุ่มอภิมหาเศรษฐี ก่อให้เกิดประเด็นมากมาย”
“กัวเตมี กาวานเกอร์” กรรมการบริหารธนคารโกตักมหินทรา หนึ่งในไพรเวทแบงกิ้งที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย บอกว่า จำนวนอภิมหาเศรษฐีเลือกย้ายออกจากอินเดียมากขึ้น สอดคล้องกับลูกค้ากลุ่มร่ำรวยที่พยายามขอใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ในดูไบและโปรตุเกส
“มาตรฐานที่อยู่อาศัยที่ดีกว่า โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการก่อตั้งธุรกิจ เป็นเหตุผลที่คนอินเดียอยากย้ายถิ่นที่อยู่เพิ่มมากขึ้น”
กาวานเกอร์ กล่าว