ถามหาจุดยืน ‘จีน’ กับเบื้องหลังความสัมพันธ์ที่มีต่ออิสราเอล
ท่าทีจีน ต่อสงครามอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ขัดต่อภาพความร่วมมือ เคยมีกับรัฐบาลเทลอาวีฟ รวมถึงการค้าข้อตกลงอาวุธระหว่างกัน แล้วสถานการณ์ปัจจุบัน มีผลต่อเบื้องหลังสัมพันธ์ 2 ประเทศอย่างไร
Key of Points
- การแข่งขันทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐกับจีน ได้พลิกพันความสัมพันธ์ปักกิ่งกับเทลอาวีฟไปอย่างไม่กลับมาเหมือนเก่าได้
- จีนและอิสราเอลมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิดทางการทหาร จนรัฐบาลวอชิงตันเห็นว่า ถึงเวลาต้องเข้าไปแทรกแซง
- จีน ไม่เพียงแต่ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญๆ แต่ยังได้รับอนุญาตจากอิสราเอลให้นำเทคโนโลยี Python ไปพัฒนาในประเทศตนเอง
- รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีแนวโน้มจะใช้สงครามอิสราเอล-ฮามาสเพื่อเพิ่มอิทธิพลของตนเองในระดับโลก ลดทอนอิทธิพลของสหรัฐ
ท่าทีจีนต่อสงครามการสู้รบในฉนวนกาซาทำให้อิสราเอลผิดหวังอย่างมาก ทั้งที่ผลลัพธ์จากการที่กองกำลังอิสราเอลทำการโจมตีทางอากาศ และปฏิบัติการภาคพื้นดินตอบโต้กลุ่มฮามาสเมื่อต้นเดือน ต.ค. ได้สร้างความเสียหายหลายพันเท่า
รัฐบาลปักกิ่งกล่าวหาอิสราเอลซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ปฏิบัติการตอบโต้ดังกล่าว “เป็นการกระทำ นอกเหนือเพื่อการปกป้องประเทศตนเอง”
หากแต่เบื้องลึกเบื้องหลัง ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า การแข่งขันทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐกับจีน ได้พลิกพันความสัมพันธ์ปักกิ่งกับเทลอาวีฟไปอย่างไม่กลับมาเหมือนเก่า
สัมพันธ์แน่นแฟ้น จนสหรัฐต้องแทรกแซง
ก่อนหน้านี้ จีนและอิสราเอล มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมีความใกล้ชิดทางการทหาร จนรัฐบาลวอชิงตันเห็นว่า ถึงเวลาต้องเข้าไปแทรกแซง และแล้วความสัมพันธ์จีนและอิสราเอลก็ค่อยๆจางหายในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
เมื่ออิสราเอลพึ่งพาสหรัฐมากขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์จีน-สหรัฐได้ค่อยๆบั่นทอนความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์จีน-อิสราเอล
สัมพันธ์เกื้อกูล - ต่างตอบแทน
หากแต่สงครามอิสราเอล-กาซาที่ดำเนินอยู่ ได้นำความซับซ้อนมาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเทลอาวีฟและปักกิ่ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลได้แสดง “ความผิดหวังอย่างที่สุด” ต่อจีนที่ไม่ประณามกลุ่มฮามาส ขณะเดียวกัน ยังวิจารณ์จีนและรัสเซียที่พยายามยับยั้งข้อเสนอสหรัฐ ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ย้อนไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2493 อิสราเอลเป็นประเทศแรกๆในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ให้การรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ หลังก่อตั้งขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้า สิ่งนี้ดูเป็นการต่างตอบแทนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ยินดีที่มีการก่อตั้งประเทศอิสราเอล ในปี 2491
ตัดภาพมาในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจีนมีนโยบายเข้าหาชาติอาหรับ ขณะที่อิสราเอลยืนเคียงข้างสหรัฐ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ นับตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมา
ถึงอย่างไร จีนกับอิสราเอลพยายามรักษาการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการในบางด้าน ซึ่งเป็นคำตอบให้เข้าใจว่า “ทำไมอิสราเอลถึงรู้สึกผิดหวังกับจีนมากขนาดนี้”
สัมพันธ์กองทัพ - กลาโหมอยู่เบื้องหลัง
เมื่อครั้งที่ประตูความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอิสราเอลเริ่มเปิดเข้าหากัน จะเห็นว่าข้อตกลงการค้าและอาวุธได้เพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 ขณะนั้นปักกิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับวอชิงตัน ซึ่งอิสราเอลได้ร่วมกับพันธมิตรอื่นๆของสหรัฐ ขายอาวุธขั้นสูงให้กับจีน ก่อนที่จะมีการสถาปนาทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 2535
หนึ่งในนั้นรู้จักดีคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีขีปนาวุธทางอากาศ Python-3 ของอิสราเอล
กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ของจีน ไม่เพียงแต่ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญๆ ที่ใช้สำหรับเครื่องบินจีนเท่านั้น แต่ยังได้รับอนุญาตจากอิสราเอลให้นำเทคโนโลยี Python ไปพัฒนาในประเทศจีนด้วย นั่นทำให้ปักกิ่งสามารถพัฒนาขีปนาวุธ PL-8 รวมถึงขีปนาวุธภาคพื้นดินยิงขึ้นสู่อากาศและเรือยิงขึ้นสู่อากาศได้
ขณะเดียวกัน กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้นำเข้าเครื่องเรดาร์อิสราเอลขั้นสูงหลายชนิด เช่น ระบบเรดาร์แบบระนาบ EL/j-7M-2032 ที่ทำงานร่วมกับเครื่องบินรบ J-7 ซึ่งเป็นรุ่น MiG-21 ในเวอร์ชันจีนผลิต ซึ่งสามารถควบคุมการยิงแบบมัลติโหมด และปรับตามาสภาพการบิน และยังมีความสามารถโจมตีเป้าหมายทางอากาศด้วยขีปนาวุธ
สัมพันธ์งอกงาม สู่แบ่งปันเทคโนฯ
แม้อิสราเอลถูกกล่าวหาว่าได้แบ่งบันเทคโนโลยีและแนวคิดออกแบบอาวุธบางประเภทให้กับจีน อย่างเครื่องบินขับไล่ที่มี Lavi เป็นต้นแบบ สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา Chengdu J-10 เครื่องบินขับไล่ เป็น รุ่นที่ 4 ของจีน
ทั้งจีนและอิสราเอลปฏิเสธความร่วมมือใดๆ แต่ J-10 ก็มีความโดดเด่นที่คล้ายคลึงกับ Lavi เช่น ปีกเดลต้า โครงสร้างคานาร์ดคู่ และช่องอากาศของเครื่องบิน
ภายใต้ระเบียบของอิสราเอล ซึ่งเหมือนกับจีนในตอนนี้ เพราะมีข้อตกลงวาสเซนนาร์ ว่าด้วยการควบคุมการส่งออกอาวุธ ทำให้อิสราเอลมีความร่วมมือด้านกลาโหมค่อนข้างน้อย และบางครั้งความร่วมมือก็เป็นความลับ ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตแกโฮล์ม (SIPRI) ได้พบว่า อิสราเอลส่งออกอาวุธไปยังจีน อยู่ระหว่าง 28 - 38 ล้านดอลลาร์ต่อปี เกิดขึ้นตลอดทศวรรษ 1990
สัมพันธ์บั่นทอน รับแรงกดดันการค้าสหรัฐ-จีน
ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ในที่สุดความสัมพันธ์อิสราเอลกับจีนก็มีความตึงเครียด ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์อิสราเอลกับสหรัฐก็มีความซับซ้อนขึ้นด้วย
ตราบใดที่สหรัฐ-จีนยังแข่งขันกันต่อไป และสถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศหลายคนมองว่า “เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่ความขัดแย้งระหว่างจีนและอิสราเอลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
รายงานสำรวจของรัฐสภาสหรัฐเผยว่า ปัจจุบัน ความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดของสหรัฐต่ออิสราเอล เป็นในรูปแบบของความช่วยเหลือทางการทหาร ซึ่งในปี 2565 ความช่วยเหลือของสหรัฐต่ออิสราเอล พบว่า 99.7% ตกเป็นของกองทัพ และเงินช่วยเหลือประจำปีของสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 16.5% ของงบประมาณการป้องกันประเทศโดยรวมของอิสราเอล
จุดยืนอิสราเอลต่อปาเลสไตน์ปรับระดับสู่ความแข็งกร้าวขึ้น ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ตรงกันข้ามปักกิ่งสนับสนุนเอกราชชาวปาเลสไตน์ นอกจากนี้ ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของจีนกับอิหร่าน ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอลด้วย
ซ่ง จงผิง นักวิจารณ์ด้านการทหารของจีน กล่าวว่า ใน สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ได้พบว่า วอชิงตันเพิ่มแรงกดดันต่ออิสราเอลให้จำกัดหรือห้ามมีความร่วมมือกับจีน ในด้านวิจัยและเทคโนโลยี
“สหรัฐ ย้ำเสมอว่า เทคโนโลยีส่วนใหญ่ของอิสราเอล ไม่ว่าทางทหารหรือพลเรือน ก็มีเทคโนโลยีของสหรัฐอยู่ด้วย ดังนั้นการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งหมด จึงไม่ได้รับอนุญาตจากสหรัฐ
จีน เลี่ยงเสี่ยงความขัดแย้ง
ด้านสำนักข่าววีโอเอของสหรัฐรายงานอ้าง “ทูเวีย เกอริง” นักวิจัยจากศูนย์นโยบายอิสราเอล-จีน จากสถาบันความมั่นคงศึกษาแห่งชาติ เมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า
“จีนจะทำทุกอย่างเพื่อเลี่ยงที่จะถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งนี้ และรักษาสถานภาพความเป็นกลางที่หลอกลวงเอาไว้”
ขณะเดียวกัน มีนักวิเคราะห์บางกลุ่มชี้ รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีแนวโน้มจะใช้สงครามอิสราเอล-ฮามาสเพื่อเพิ่มอิทธิพลของตนเองในระดับโลก ในขณะที่ลดทอนอิทธิพลของสหรัฐ
จีน ใช้โอกาสวิกฤติกาซา ลดอำนาจสหรัฐ
เดวิด แซตเตอร์ฟิลด์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อนโยบายสาธารณะเบเคอร์ มหาวิทยาลัยไรซ์ กล่าวว่า จีนคอยแสวงหาโอกาสที่จะนำเสนอชุดความคิดด้านการต่างประเทศของตนต่อนานาชาติเสมอ และคอยแสวงหาหุ้นส่วนและพันธมิตรกับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือที่เรียกกันว่า “ประเทศโลกใต้ (Global South)” อยู่ตลอด
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายระบุว่าวิกฤติในกาซาอาจสร้างความได้เปรียบให้กับสหรัฐ ในการแข่งขันอิทธิพลกับจีนได้เช่นกัน
ที่มาก : South China Morning Post ,VOA