เดิมพันครั้งใหญ่ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ลงทุนญี่ปุ่น ช่วงเงินเยน ต่ำสุดรอบ 33 ปี
“วอร์เรน บัฟเฟตต์” ตัดสินใจลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในญี่ปุ่น ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แทบจะไม่ต้องคิดอะไรเลย ภายใต้เงินเยนอ่อนค่า เขาคิดอะไรอยู่
Key Points
- เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 33 ปี หรือ 0.33% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 151.18 เยนต่อดอลลาร์
- เบิร์กเชียร์เริ่มซื้อหุ้นบริษัทเทรดดิ้งใหญ่สุด 5 อันดับแรกของญี่ปุ่น ประมาณ 5% เมื่อปี 2563 หรือประมาณ 6.7 พันล้านดอลลาร์ ก่อนจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนเป็นอย่างน้อย 8.5% ในปีนี้
- "ถ้าคุณฉลาดพอๆ กับวอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเห็นว่า โอกาสนี้จะเข้ามาแค่ 2-3 ครั้งในรอบศตวรรษ จึงต้องฉวยโอกาสไว้" รองประธานเบิร์กเชียร์กล่าว
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน “ชาร์ลี มังเกอร์” มหาเศรษฐีชาวสหรัฐ และรองประธานบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (BRKA) ให้สัมภาษณ์รายการพอดแคสต์ของ Acquired ว่า “เหมือนพระเจ้าพระทานพรหีบสมบัติ เปิดแล้วเทเงินมหาศาลใส่ลงไป”
เมื่อฤดูร้อนปี 2563 เบิร์กเชียร์ได้ซื้อหุ้นบริษัทเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ 5 อันดับแรกของญี่ปุ่น ประมาณ 5% โดยขณะนั้นเบิร์กเชียร์มีการลงทุนอยู่ประมาณ 6.7 พันล้านดอลลาร์
มาถึงปีนี้ ค่าเงินญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 33 ปี หรือดิ่งลง 0.33% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ อยู่ที่ 151.18 หน่วยต่อดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายขั้นสุด
เบิร์กเชียร์ มองบวกด้านการลงทุน
ในขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดรอบ 33 ปีในปีนี้ เบิร์กเชียร์ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็นสองเท่า ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในแต่ละบริษัทโดยเฉลี่ยมีมากกว่า 8.5% และยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากเบิร์กเชียร์เคยระบุเอาไว้ว่า อาจจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแต่ละบริษัทเป็น 9.9%
ปีนี้ ดัชนีนิคเคอิ และโทปิกซ์ของญี่ปุ่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 20%
สำหรับ 5 บริษัทเทรดดิ้งญี่ปุ่นที่เบิร์กเชียร์เข้าไปลงทุน ได้แก่ อิโตชู (Itochu) มารูเบนิ (Marubeni) มิตซูบิชิ (Mitsubishi) มิตซุยแอนด์คัมปะนี (Mitsui & Co) และซูมิโตโม (Sumitomo) หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มบริษัทเทรดดิ้ง “Sogo Shosha” ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกิจในญี่ปุ่น เพราะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศมากมาย รวมถึงพลังงาน เทคโนโลยี และการผลิต
บัฟเฟตต์ มองโอกาสเงินเยนอ่อนค่า
มังเกอร์มองบวกและบอกว่า นี่เป็นโอกาสการลงทุนที่หาได้ยาก เพื่อให้ได้สินทรัพย์ที่มั่นคง และกระแสเงินสดมหาศาล แถมความเสี่ยงน้อย
“ถ้าคุณฉลาดพอๆกับวอร์เรน บัฟเฟต์ จะเห็นว่า โอกาสนี้จะเข้ามาแค่ 2-3 ครั้งในรอบศตวรรษ จึงต้องฉวยโอกาสไว้” มังเกอร์ วัย 99 ปีกล่าว
เดิมพันครั้งใหญ่ ลงทุนในเอเชีย
นับเป็นเดิมพันครั้งใหญ่สุดของเบิร์กเชียร์ ในการลงทุนธุรกิจนอกสหรัฐ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติการณ์ นั่นหมายความว่า กลุ่มบริษัทสามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก เพื่อซื้อหุ้นที่มีเงินปันผล 5%
“บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้มีการดำเนินธุรกิจมายาวนานและมั่นคง รวมถึงเข้าถึงแหล่งทรัพยากรการผลิต ช่างวิเศษแค่ไหน” มังเกอร์กล่าวและชี้ว่า ตอนนี้ได้ลงทุนไปกับกลุ่มบริษัทนี้แล้วอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์
การที่บัฟเฟตต์ตัดสินใจลงทุนในญี่ปุ่นยังช่วยกระตุ้นให้โลกมองการลงทุนในญี่ปุ่นมีแง่ดีขึ้น ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยก่อนหน้านักลงทุนระดับตำนานรายนี้เคยเชียร์ให้เห็นถึงโอกาสเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ปาฏิหาริย์ การลงทุนในอนาคต
ในการให้สัมภาษณ์ของมังเกอร์ครั้งนี้ เขายังได้ประเมินการลงทุนอื่นๆ ในเอเชีย อย่าง บีวายดี (BYD) บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่บริษัทได้ลงทุนมานาน และก้าวสู่แบรนด์ชั้นนำที่แข่งขันดุเดือดกับเทสลา นี่แหละคือปาฏิหาริย์
มังเกอร์พูดถึง “หวัง ชวนฟู” มหาเศรษฐีชาวจีนและผู้ก่อตั้งบีวายดีว่า ผู้ชายคนนี้ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และมีไอคิวสูงมาก ซึ่งเขาสามารถทำในสิ่งที่คุณทำไม่ได้
แต่นอกเหนือจากการพูดถึงผู้นำในตลาดรถอีวีหนึ่งหรือสองรายแล้ว มังเกอร์ออกตัวว่าเขาจะไม่พยายามหาผู้ชนะในตลาดนี้ เพราะเคยพลาดขาดทุนกับฮุนได มอเตอร์ ในเกาหลีใต้มาแล้ว
มังเกอร์ยอมรับว่า เบิร์กเชียร์ติดกับดักอยู่กับ TSMC บริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวัน ในฐานะผู้ผลิตชิปส่งให้กับแอปเปิ้ล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเบิร์กเชียร์มายาวนาน ซึ่งในไตรมาสสองปีนี้ มีมูลค่า 1.776 แสนล้านดอลลาร์
สงครามการค้า ปัจจัยพิจารณาลงทุน
เมื่อต้นปีนี้ เบิร์กเชียร์ได้ขายหุ้น TSMC ทั้งหมด หลังบัฟเฟตต์ เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา แสดงความไม่สบายใจเรื่องฐานที่ตั้งของบริษัทที่อยู่ในไต้หวัน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจาก TSMC ถือเป็นสมบัติแห่งชาติของไต้หวัน และอาจเป็นเหตุผลจูงใจให้ชาติตะวันตกเข้าปกป้องไต้หวัน ในกรณีหากจีนใช้กำลังเข้ายึดครองเกาะแห่งนี้
ถึงแม้สงครามการค้าและปัจจัยภายนอกใดๆ จะสร้างความเสียหายให้กับจีน ในฐานะเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แต่มังเกอร์ยังยกนิ้วให้และชี้ว่า "ในอีก 20 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนก็ยังมีแนวโน้มดีกว่าเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ เกือบทั้งหมดอยู่ดี"
"บริษัทชั้นนำของจีนแข็งแกร่งและดีมากกว่าบริษัทชั้นนำแทบทุกที่ และยังขายในราคาที่ถูกกว่ามากอีกด้วย จึงเป็นธรรมดาที่ผมยินดีจะเสี่ยงกับจีน"
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมการลงทุนขณะนี้ มังเกอร์ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า วันแห่งการหาโอกาสที่มาอย่างง่ายๆ ไม่ได้มีเข้ามามากนักเหมือนในช่วงแรกๆ ที่เบิร์กเชียร์ทำธุรกิจ และปัจจุบันแทบไม่มีโอกาสเช่นนั้นเหลืออีกแล้ว
ที่มา : CNN